Google

Wednesday, October 21, 2009

United Nations : Unanimity

สหประชาชาติ : ความเป็นเอกฉันท์

วิธีดำเนินการลงคะแนนเสียงในองค์กรระหว่างประเทศ ที่มีการกำหนดไว้ว่า รัฐจะผูกพันต่อการตัดสินใจใด ๆ ก็ต่อเมื่อรัฐได้ให้ความเห็นชอบแล้วเท่านั้น กฎของความเป็นเอกฉันท์นี้โดยทั่วไปแล้วจะเป็นไปตามหลักในภาษาละตินที่ว่า “ลิเบอร์รัม เวโต” (มีความว่า แม้จะมีสมาชิกแค่คนเดียวออกเสียงคัดค้าน ก็ให้ข้อเสนอนั้นตกไป) แต่ก็มีธรรมนูญของบางองค์กรกำหนดไว้ว่า รัฐที่มีความเห็นแย้งจะต้องเลือกกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ยอมรับการตัดสินใจของเสียงส่วนใหญ่ หรือไม่ก็ลาออกจากองค์การนั้นไป หลักการความเป็นเอกฉันท์นี้เป็นการปรับปรุงกฎเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประเทศตามแบบประเพณีนิยมเสียใหม่ให้เป็นว่า รัฐที่มีอธิปไตยจะผูกพันก็เฉพาะต่อการตัดสินใจที่ตนเห็นชอบแล้วเท่านั้น

ความสำคัญ หากไม่ใช้กฎเกณฑ์ความเป็นเอกฉันท์นี้ องค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ก็จะใช้วิธีการตกลงใจโดยคะแนนเสียงข้างมากธรรมดา หรือโดยคะแนนเสียงข้างมากพิเศษ ด้วยเหตุที่รัฐต่าง ๆ มีผลประโยชน์และมีการใช้วิจารณญาณที่แตกต่างกันมาก ก็จึงเกิดความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการตกลงใจใช้คะแนนเสียงข้างมากตามสถาบันต่าง ๆ ในปัจจุบัน แต่ถ้าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อนโยบายต่างประเทศของรัฐ องค์การระหว่างประเทศส่วนใหญ่ก็ยังคงใช้วิธีการความเป็นเอกฉันท์นี้อยู่ต่อไป แต่ในสหประชาชาติ องค์กรหลัก 6 องค์กรไม่มีข้อกำหนดให้มีการตัดสินใจโดยวิธีการความเป็นเอกฉันท์ จะมีก็แต่ในคณะมนตรีความมั่นคงเท่านั้นที่กฎบัตรกำหนดไว้ว่า ในการตกลงใจใด ๆ ที่มีความสำคัญจะต้องได้รับเสียงเป็นเอกฉันท์จากสมาชิกถาวรทั้ง 5 ชาติ เพราะฉะนั้นหากจีน ฝรั่งเศส อังกฤษ สหภาพโซเวียต หรือสหรัฐอเมริกาออกเสียงคัดค้าน ก็จะไปยับยั้งไม่ให้คณะมนตรีปฏิบัติการใด ๆ ได้

No comments:

Post a Comment