Google

Wednesday, October 21, 2009

Regional Political Group : European Community (EC)

กลุ่มทางการเมืองในระดับภูมิภาค: ประชาคมยุโรป(อีซี)

โครงสร้างทางการเมืองร่วมกัน ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้ทำหน้าที่ตกลงใจทางเศรษฐกิจของประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรป(อีซีเอสซี) ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (อีอีซี) และประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรป (อียูอาร์เอทีโอเอ็ม) สถาบันต่างๆในประชาคมยุโรป ประกอบด้วย คณะมนตรีรัฐมนตรี คณะกรรมาธิการ รัฐสภายุโรป และศาลยุติธรรม คณะมนตรีรัฐมนตรี และคณะกรรมาธิกาทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารใน 2 ลักษณะ คือ คณะมนตรีรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นตัวแทนแสดงทัศนะของรัฐบาลจาก 12 รัฐ ส่วนคณะกรรมาธิการนั้นทำหน้าที่เป็นองค์กรเหนือชาติของประชาคม ในการตกลงใจต่างๆ บางอย่างกระทำโดยคณะมนตรีรัฐมนตรี บางอย่างกระทำโดยคณะกรรมาธิการ แต่บางอย่างก็กระทำโดยคณะมนตรีรัฐมนตรีภายหลังจากที่คณะกรรมาธิการได้เสนอแนะแล้ว หน้าที่หลักของคณะกรรมาธิการ คือ การริเริ่มนโยบายของประชาคมภายใต้แนวทางที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาขั้นพื้นฐาน 3 ฉบับ หรือตามแนวทางที่คณะมนตรีรัฐมนตรีกำหนดไว้แล้ว การตกลงใจที่สำคัญๆจะต้องให้คณะมนตรีให้ความเห็นชอบครั้งสุดท้ายเสียก่อน รัฐใหญ่ๆ(ฝรั่งเศส เยอรมนี บริเตนใหญ่ อิตาลี สเปน) มีสมาชิก 2 นายในคณะกรรมาธิการ ส่วนรัฐเล็กๆ(เบลเยียม เดนมาร์ก กรีซ ไอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ และโปรตุเกส) มีสมาชิกได้เพียงนายเดียวในคณะกรรมาธิการ คณะมนตรีรัฐมนตรีกระทำการตกลงใจในเรื่องสำคัญๆโดยเสียงที่เป็นเอกฉันท์ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญก็ให้กระทำโดยเสียงข้างมาก คือ โดยเสียงข้างมากเด็ดขาด และเสียงข้างมากปกติ รัฐสภายุโรปซึ่งครั้งแรกได้รับการจัดตั้งขึ้นมาให้เป็นสมัชชาร่วมของประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปเมื่อปี ค.ศ. 1952 ก็ได้ทำหน้าที่เป็นองค์กรให้คำปรึกษาแก่ประชาคมยุโรปนี้ และทำหน้าที่เป็นผู้คอยตรวจสอบการกระทำของประชาคมนี้ด้วย ถึงแม้รัฐสภายุโรปนี้จะไม่มีอำนาจออกกฎหมายหรือตกลงใจที่จะมีผลผูกพันต่อรัฐสมาชิก แต่รัฐสภายุโรปก็ได้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายริเริ่มนโยบายเสรีทางเศรษฐกิจและความมีเอกภาพทางการเมืองใหม่ๆ ผู้แทนที่มาประจำอยู่ในรัฐสภายุโรปซึ่งเดิมได้รับการแต่งตั้งจากรัฐสภาของชาติสมาชิกนั้น นับแต่ปี ค.ศ. 1979 เป็นต้นมาก็ได้ใช้วิธีเลือกตั้งโดยระบบหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป และได้รับการจัดตั้งและลงคะแนนเสียง ในประเด็นทางการเมืองต่างๆส่วนใหญ่ในฐานะที่เป็นกลุ่มทางการเมืองข้ามชาติ 3 กลุ่มด้วยกัน คือ คริสเตียนดีโมแครต โซเชียลิสต์ และลิเบอรัล ยิ่งเสียกว่าแยกเป็นกลุ่มชาติแต่ละชาติ ศาลยุติธรรมซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1952 ก็เช่นเดียวกัน ได้ทำหน้าที่เป็นศาลร่วมทำหน้าที่ตีความและใช้สนธิสัญญาประชาคม และทำหน้าที่แก้ไขข้อพิพาทระหว่างองค์กรต่างๆของประชาคม และระหว่างชาติสมาชิก หรือภายในแต่ละกลุ่ม อำนาจของศาลยุติธรรมในการตีความและแสดงความเห็นนั้นมีลักษณะใกล้เคียงกับการตีความและทัศนะของศาลสูงแห่งชาติมากว่าการตีความและความเห็นของศาลระหว่างประเทศอื่นๆ สถาบันอื่นๆที่ทำงานอยู่ในกรอบของประชาคม ได้แก่ ธนาคารเพื่อการลงทุนในยุโรป(อีไอบี) ซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาในประชาคมให้ได้สมดุลกันโดยผ่านทางให้เงินกู้ ช่วยค้ำประกันเงินกู้ ตลอดจนจัดตั้งคณะกรรมาธิการชำนัญพิเศษอีกเกือบร้อยคณะ นอกจากนี้แล้วประชาคมแห่งยุโรปก็ยังได้ทำความตกลงกับประเทศภายนอกต่างๆด้วย ยกตัวอย่างเช่น ได้ทำความตกลงกับตุรกี ทำความตกลงกับรัฐต่างๆในแอฟริกา ในคาบสมุทรคาร์ริบเบียน และในคาบสมุทรแปซิฟิก ทั้งนี้เป็นผลมาจากข้อตกลงในอนุสัญญายาอุนเดปี ค.ศ. 1963 และข้อตกลงโลเมปี ค.ศ. 1975 ซึ่งข้อตกลงทั้งสองฉบับนี้กำหนดให้จัดทำข้อตกลงทางการค้าพิเศษระหว่างรัฐในกลุ่มประชาคมยุโรปกับรัฐที่เกี่ยวข้องต่างๆ

ความสำคัญ จากการที่ประชาคมยุโรปมีสถาบันร่วมกันต่างๆนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าประชาคมฯสามารถบรรลุถึงบูรณาการในระดับสูงที่สุดในระบบรัฐในปัจจุบัน สถาบันเหล่านี้เป็นทั้งผลผลิตและเป็นผู้มีส่วนร่วมในกระบวนบูรณาการที่กำลังผลักดันยุโรปตะวันตกให้ดำเนินไปสู่สหภาพทางการเมืองและทางเศรษฐกิจในบั้นปลายได้(อีซีได้วิวัฒนาการมาเป็นสหภาพยุโรป(อียู) เมื่อปี ค.ศ.1993) ในฐานะที่เป็นสถาบันของยุโรปสถาบันเหล่านี้ต่างก็ได้ช่วยเหลือให้เกิดการพัฒนาแนวความคิด (1) ในเรื่องให้ชาวยุโรปเกิดความคิดว่าพวกตนเป็นคนยุโรป (2) ให้ใช้วิธีการของยุโรปแก้ไขปัญหาของยุโรป และ (3) ให้มีแนวคิดให้มีการจัดตั้งสหรัฐแห่งยุโรปขึ้นมาซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ยังอยู่ห่างไกลความเป็นจริงแต่ก็กำลังวิวัฒนาการไปสู่ทิศทางนั้นอยู่ แต่ในปัจจุบันสถาบันเหล่านี้ได้ทำงานเป็นองค์กรตกลงใจที่มีประสิทธิผลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจร่วมกัน (1) ในด้านการผลิตถ่านหินและเหล็กกล้า (2) ในด้านการตลาด (3) ในนโยบายการค้าและการพาณิชย์ (4) ในด้านการเจรจาพิกัดอัตราภาษีศุลกากร และ(5) ในด้านการการพัฒนาพลังงานปรมาณู ประชาคมยุโรปได้ดำเนินการต่างๆ เช่น (1) ยอมรับระบบให้สิทธิพิเศษทางศุลกากร(จีเอสพี) เพื่อส่งสริมการนำเข้าโภคภัณฑ์จากประเทศกำลังพัฒนา (2) จัดหาการช่วยเหลือต่างประเทศจำนวนมหาศาลผ่านทางกองทุนพัฒนายุโรปของประชาคมฯ และ (3) ลงนามในข้อตกลงทางการค้าและความร่วมมือหลากหลายฉบับกับประเทศที่มิได้เป็นสมาชิกของประชาคมฯ

No comments:

Post a Comment