Google

Wednesday, October 21, 2009

UN Principal Organ : Security Council

องค์กรหลักของสหประชาชาติ : คณะมนตรีความมั่นคง

หนึ่งในองค์กรหลัก 6 แห่งของสหประชาชาติ คณะมนตรีความมั่นคงได้ถูกออกแบบมาโดยกฎบัตรสหประชาชาติให้มารับผิดชอบทางด้านธำรงสันติภาพและความมั่นคงในโลก คณะมนตรีความมั่นคงประกอบด้วยสมาชิกประเภทถาวร 5 ชาติ(จีน, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, สหภาพโซเวียต และ สหรัฐอเมริกา) กับสมาชิกประเภทได้รับเลือกตั้งจำนวน 10 ชาติ (เดิมมี 6 ชาติ) ให้มาทำหน้าที่วาระละ 2 ปี สมาชิกประเภทได้รับการเลือกตั้งมานี้จำนวนกึ่งหนึ่งจะถูกคัดเลือกทุกปีโดยสมัชชาใหญ่ ภายใต้ “ข้อตกลงแบบสุภาพบุรุษ” ว่าจะต้องแบ่งสรรที่นั่งทั้ง 10 ที่นี้ตามพื้นที่ภูมิศาสตร์สำคัญ ๆ กล่าวคือ 5 ที่นั่งแบ่งสรรให้แก่เอเชียและแอฟริกา 1 ที่นั่งให้แก่ยุโรปตะวันออก 2 ที่นั่งแก่ละตินอเมริกาและอีก 2 ที่นั่งแก่ “รัฐยุโรปตะวันตกและรัฐอื่น ๆ” การตัดสินใจทั้งปวงของคณะมนตรีความมั่นคงจะต้องได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจาก 9 ชาติ แต่ถ้าหากเป็นการตัดสินใจที่สำคัญมาก ๆ (ซึ่งไม่เหมือนกับการตัดสินใจแบบวิธีการดำเนินการ) อาจจะถูกยับยั้งจากสมาชิกประเภทถาวรชาติใดชาติหนึ่งโดยลงคะแนนเสียงไม่เห็นด้วยได้ ชาติที่มิได้มีผู้แทนประจำอยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงอาจได้รับเชิญให้มาร่วมการอภิปรายในคณะมนตรีความมั่นคงได้ หากเป็นรัฐที่เป็นคู่กรณีในความขัดแย้งที่คณะมนตรีความมั่นคงกำลังนำมาพิจารณา สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงที่เป็นคู่กรณีพิพาทจะต้องงดลงคะแนนเสียง เมื่อมีการนำปัญหาเรื่องวิธีการแก้ข้อพิพาทโดยสันติวิธีมาให้ลงคะแนนเสียง ภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติ ได้กำหนดให้คณะมนตรีความมั่นคงมีบทบาทในการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธี(ข้อ 6 ของกฎบัตร) หรือ เมื่อเห็นว่ามีการคุกคามต่อสันติภาพ มีการละเมิดสันติภาพ หรือมีการกระทำอันเป็นการรุกรานเกิดขึ้น คณะมนตรีความมั่นคงอาจเรียกร้องให้สมาชิกดำเนินการร่วมกันต่อต้านผู้ละเมิดสันติภาพนั้น(ข้อ 7) สำนักงานของประธานคณะมนตรีความมั่นคงจะมีการหมุนเวียนกันในหมู่สมาชิกทุกเดือน และคณะมนตรีความมั่นคงถือว่ามีสมัยประชุมถาวร

ความสำคัญ ความใฝ่หาสันติภาพของคณะผู้ร่างกฎบัตรสหประชาชาติสามารถเห็นได้จากการมีสูตรสำเร็จโดยมอบหมายความรับผิดชอบเบื้องต้นแก่มหาอำนาจได้ทำหน้าที่นี้ภายใต้กรอบของคณะมนตรีความมั่นคง ตราบใดที่ความมีเอกฉันท์ยังมีอยู่ในหมู่มหาอำนาจ ก็จะไม่มีมหาอำนาจใดหรือกลุ่มมหาอำนาจใดสามารถท้าทายสันติภาพได้อย่างมีประสิทธิผล การที่มอบหมายให้สมาชิกประเภทถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงมีอำนาจในการยับยั้งนั้น ก็เพื่อจะมิให้สหประชาชาติถูกมหาอำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใช้เป็นเครื่องมือต่อต้านมหาอำนาจอีกกลุ่มหนึ่งนั่นเอง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็จะมิใช่เป็นการปฏิบัติการรักษาความสงบระหว่างประเทศ แต่หมายถึงการเกิดสงครามโลกครั้งที่สามนั่นเอง กระนั้นก็ดี สมมติฐานของคณะผู้ร่างกฎบัตรสหประชาชาติที่เห็นว่าในเกือบจะทุกกรณีมหาอำนาจจะดำเนินไปในแนวทางเดียวกันนั้นก็มิได้เป็นจริงแต่อย่างใด ไม่มีองค์กรใดของสหประชาชาติที่ประสบกับปัญหาข้อแตกต่างระหว่างทฤษฏีกับปฏิบัติเท่ากับคณะมนตรีความมั่นคง การคุกคามต่อสันติภาพที่มีความรุนแรงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1946 เป็นต้นมา มีสาเหตุสืบเนื่องมาจากการแข่งขันชิงดีชิงเด่นกันระหว่างมหาอำนาจไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ปัจจัยต่าง ๆ กล่าวคือ การเกิดสงครามเย็น การเป็นปฏิปักษ์กันทางด้านอุดมการณ์ การขัดแย้งกันเกี่ยวกับการรับสมาชิกใหม่เข้าสหประชาชาติ และการเผชิญหน้าทางอำนาจโดยตรงระหว่างฝ่ายมหาอำนาจตะวันตกกับสหภาพโซเวียต ได้ส่งผล(1)ให้มีการยับยั้งหลายร้อยครั้ง (2)ให้มีการใช้ระบบพันธมิตรในระดับภูมิภาคเพื่อความมั่นคง และ(3)ให้มีการขยายบทบาทของสมัชชาใหญ่และสำนักเลขาธิการในเรื่องของสันติภาพและความมั่นคง ถึงแม้ว่าคณะมนตรีความมั่นคงจะประสบความสำเร็จในการแก้ไขข้อพิพาทได้หลายครั้งและได้ให้การช่วยเหลือยุติการสู้รบในหลายพื้นที่ทั่วโลก แต่เมื่อผลประโยชน์ของมหาอำนาจขัดกัน คณะมนตรีความมั่นคงก็จะมีอันเป็นอัมพาตไม่สามารถทำงานได้ อย่างไรก็ดีเมื่อมหาอำนาจไม่สามารถใช้อิทธิพลต่อการลงคะแนนเสียงการตกลงใจในสมัชชาใหญ่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ก็ได้ส่งผลให้คณะมนตรีความมั่นคงกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง คณะมนตรีความมั่นคงยังคงเป็นที่ประชุมสำคัญเพื่อใช้ในการเจรจาระหว่างมหาอำนาจเกี่ยวกับเรื่องสำคัญ ๆ ด้านสันติภาพและความมั่นคง

No comments:

Post a Comment