Google

Wednesday, October 21, 2009

Regional Military Group : Warsaw Treaty Organization(WTO

)
กลุ่มทางการทหารในระดับภูมิภาค : องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (ดับเบิลยูทีโอ)

องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ(ดับเบิลยูทีโอ) คือ กลุ่มทางทหารในระดับภูมิภาคของรัฐคอมมิวนิสต์ยุโรปตะวันออก ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้เป็นไปตามสนธิสัญญามิตรไมตรีความร่วมมือและความช่วยเหลือกันที่ได้ลงนามที่กรุงวอร์ซอประเทศโปแลนด์เมื่อปี ค.ศ. 1955 สมาชิกขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอประกอบด้วยรัฐคอมมิวนิสต์ คือ บัลแกเรีย เชโกสะโลวาเกีย เยอรมนีตะวันออก ฮังการี โปแลนด์ และสหภาพโซเวียต ส่วนแอลเบเนีย โรมาเนีย และยูโกสลาเวียไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอได้รับการสนับสนุนจาก กติกาสัญญาให้ความช่วยเหลือแบบทวิภาคีอีกจำนวนหนึ่ง ระหว่างสหภาพโซเวียตกับรัฐคอมมิวนิสต์หลายรัฐที่ได้บรรลุข้อตกลงกันระหว่างปี ค.ศ. 1943 ถึงปี ค.ศ. 1948 การตกลงใจขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอนี้กระทำโดยคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองที่มาประชุมกันเป็นครั้งคราวเมื่อมีการร้องขอจากสหภาพโซเวียตทั้งๆที่สนธิสัญญาได้กำหนดไว้ว่าจะต้องมาประชุมกันปีละ 2 ครั้ง ชาติสมาชิกแต่ละชาติมีผู้แทนไปประจำอยู่ในคณะกรรมาธิการนี้โดยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลหรือผู้แทนพรรคคอมมิวนิตส์ในระดับสูง กองบัญชาการทหารร่วมที่สนธิสัญญากำหนดให้มีนั้นก็ไม่เคยมีการจัดตั้งขึ้นมา ส่วนตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดนั้นตามปกติผู้ที่มาดำรงตำแหน่งก็คือ นายทหารยศจอมพลของสหภาพโซเวียต ส่วนองค์กรสนับสนุนต่างๆ เป็นต้นว่า สำนักเลขาธิการและคณะอนุกรรมการถาวรที่มีหน้าที่ประสานนโยบายต่างประเทศของชาติสมาชิกนั้น ก็ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาโดยคณะกรรมาธิการฝ่ายการเมือง ชาติสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอมีภาระผูกพันให้รับผิดชอบในการให้ความช่วยเหลืออย่างฉับพลันแก่ชาติที่ตกเป็นเหยื่อของการโจมตีทางทหาร และในการปรึกษาหารืออย่างฉับพลันที่จะใช้มาตรการร่วมกันต่อต้านการรุกรานนั้นๆ

ความสำคัญ องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอร์ จัดตั้งขึ้นมาโดยเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ของฝ่ายคอมมิวนิสต์ต่อการจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ(นาโต) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อข้อตกลงกรุงปารีส ค.ศ. 1954 ที่ให้รับเยอรมนีตะวันตกเป็นสมาชิกของนาโต องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอในฐานะที่เป็นองค์การพันธมิตรทางทหาร ก็ได้ช่วยให้เกิดดุลยภาพระหว่างตะวันออกกับตะวันตกภายหลังจากที่เยอรมนีตะวันตกกลับมาติดอาวุธอีกครั้งหนึ่ง กระนั้นก็ดีการเกิดลัทธิหลายขั้วอำนาจขึ้นมาในยุโรปตะวันออกระหว่างทศวรรษปี 1970 ถึงทศวรรษปี 1980 ทำให้องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอนี้อ่อนแอลง เนื่องจากความรู้สึกแตกแยกเป็นหลายขั้วอำนาจนี้ขัดขวางมิให้มีการพัฒนาโครงสร้างขององค์การได้อย่างเต็มที่ กับได้ขัดขวางมิให้องค์การนี้รับบทบาทเป็นกลุ่มทางทหารที่มีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น แอลเบเนียได้ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับองค์การตั้งแต่หลังปี ค.ศ. 1962 และได้ถอนตัวออกจากองค์การเมื่อปี ค.ศ. 1968 ส่วนจีนคอมมิวนิสต์ซึ่งเคยเป็นผู้สังเกตการณ์ถาวรก็ได้ยุติการเกี่ยวข้องด้วย ความไม่พอใจของสมาชิกอื่นๆต่อการที่สหภาพโซเวียตเข้าไปครอบงำองค์การพันธมิตรนี้เป็นการทำลายความสามัคคีขององค์การไปด้วย ประกอบกับความกลัวสงครามก็ได้ลดน้อยลงไปพร้อมๆกับที่ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างยุโรปตะวันออกกับยุโรปตะวันตกก็ได้มีเพิ่มมากขึ้น ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ได้ไปทำให้บทบาทขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอลดบททบาทลง ภารกิจหลักขององค์การฯ ก็คือ เป็นสถานที่ประชุมเพื่อให้สัตยาบันอย่างเป็นทางการต่อการริเริ่มทางนโยบายต่างประเทศของโซเวียตในปี ค.ศ. 1968 กองกำลังองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอได้ทำการรุกรานเชโกสะโลวาเกียโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันไม่ให้มีความคิดแบบเสรีนิยมในหมู่รัฐสมาชิกเกิดขึ้น เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นปฏิบัติการทางทหารร่วมกันครั้งสุดท้ายของกองกำลังองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ

No comments:

Post a Comment