Google

Wednesday, October 21, 2009

UN Specialized Agency

ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ

องค์การระหว่างประเทศตามหน้าที่ที่มีความรับผิดชอบระหว่างประเทศอย่างกว้างขวางในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา สุขอนามัย หรือในด้านที่เกี่ยวข้อง ถึงแม้ว่าทบวงการชำนัญพิเศษแต่ละแห่งในจำนวน 16 แห่ง จะปฏิบัติการอยู่นอกกรอบใหญ่ของสหประชาชาติ แต่ก็จะยังคงมีความสัมพันธ์อยู่กับสหประชาชาติโดยผ่านข้อตกลงพิเศษที่กระทำกันไว้ระหว่างทบวงฯนั้น ๆ กับคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม แต่ละทบวง ฯ จะมีงบประมาณเป็นของตนเอง แต่ทั้งนี้สมัชชาใหญ่อาจจะพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะในเรื่องงบประมาณนี้ได้ โครงสร้างทางการจัดองค์การของทบวงฯ ที่เหมือน ๆ กันมีดังนี้ (1) มีที่ประชุม หรือสมัชชาใหญ่ประกอบด้วยสมาชิกทั้งปวงทำหน้าที่เป็นองค์กรตัดสินนโยบายหลัก (2) มีคณะมนตรีหรือคณะกรรมการฝ่ายบริหาร ที่ทำหน้าที่สนองนโยบายในระหว่างสมัยการประชุมใหญ่ โดยทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารและฝ่ายการกำกับดูแล และ (3) มีสำนักเลขาธิการ ที่มีหัวหน้าเรียกว่า ผู้อำนวยการบ้าง เลขาธิการบ้าง ทำหน้าที่ทางด้านการบริหารอยู่ที่สำนักงานใหญ่ของทบวงฯ แห่งนั้น ๆ ทบวงฯ จะเป็นฝ่าย (1) เสนอให้มีการตรากฎหมายแก่รัฐสมาชิก (2) ร่างสนธิสัญญาเกี่ยวกับเรื่องที่เป็นความสนใจร่วมกัน และ (3) ดำเนินการวิจัย การตีพิมพ์ และการสารสนเทศอันจะเป็นประโยชน์แก่สมาชิก ทบวงการชำนัญพิเศษมีดังนี้ (1) องค์การอาหารและเกษตร(เอฟเอโอ) (2) องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (ไอเอ็มโอ) (3) ธนาคารเพื่อการฟื้นฟูและการพัฒนาระหว่างประเทศ (ไอบีอาร์ดี) (4) องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ไอดีเอ) (5) สมาคมการพัฒนาระหว่างประเทศ (ไอเอฟซี) (6) บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอฟซี) (7) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ) (8) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) (9) สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ(ไอทียู) (10) องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมสหประชาชาติ(ยูเนสโก) (11) สหภาพไปรษณีย์สากล(ยูพียู) (12) องค์การอนามัยโลก(ดับเบิลยูแอลโอ) (13) องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก(ดับเบิลยูเอ็มโอ) (14) องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก(ดับเบิลยูไอพีโอ) (15) กองทุนเพื่อพัฒนาการเกษตรระหว่างประเทศ(ไอเอฟเอดี) และ (16) องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมสหประชาชาติ(ยูเอ็นไอดีโอ) ทบวงการชำนัญพิเศษเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วจะถูกจัดตั้งขึ้นมาในยุคของสหประชาชาตินี่เอง แต่ก็มีบางทบวงที่มีจุดกำเนิดย้อนหลังไปเมื่อศตวรรษที่ 19 นอกจากนี้ก็ยังมีทบวงฯ อีก 2 ทบวงที่ทำหน้าที่คล้ายกับทบวงการชำนัญพิเศษ คือ ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ(ไอเอดีเอ) และ ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดศุลกากรและการค้า(แกตต์)

ความสำคัญ ลักษณะการกระจายอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่เฉพาะอย่างที่กฎบัตรสหประชาชาติกำหนดไว้ให้แก่ทบวงการชำนัญพิเศษนั้น จะยอมให้ทบวงฯ ทุกแห่งมีอิสระในการทำงานภายในขอบข่ายปฏิบัติการของตน ๆ แต่ในขณะเดียวกันนั้นก็จะต้องยอมรับการประสานงานและการอำนวยการจากสหประชาชาติไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่ชาติที่กำลังพัฒนาต่าง ๆ แต่ละทบวงฯ ก็จะให้ความช่วยเหลือภายในพื้นที่ที่ตนมีความสามารถโดยเฉพาะนั้น ในขณะเดียวกันก็จะต้องประสานความร่วมมือกับทบวงฯ อื่น ๆ โดยผ่านทางโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติทั้งนี้เพื่อจะมิให้เกิดความซ้ำซ้อนหรือล้ำเข้าไปในขอบข่ายความรับผิดชอบของทบวงฯ อื่น การทำงานของทบวงฯ เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางเชิงหน้าที่เพื่อให้เกิดสันติภาพ ซึ่งมีสมมติฐานว่า สามารถสร้างโลกที่มีเสถียรภาพได้ โดยใช้วิธีการร่วมมือกันแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมร่วมกัน

No comments:

Post a Comment