Google

Wednesday, October 21, 2009

United Nations : Trust Territory of the Pacific Islands

สหประชาชาติ : ดินแดนภาวะทรัสตีแห่งหมู่เกาะแปซิฟิก

ดินแดนในพื้นที่ที่เรียกว่า ไมโครเนเซีย ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารเป็นดินแดนภาวะทรัสตีทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ดินแดนภาวะทรัสตีแห่งหมู่เกาะแปซิฟิกนี้ เป็นดินแดนภาวะทรัสตีสหประชาชาติเพียงแห่งเดียวที่อยู่ภายใต้ภาวะทรัสตีทางยุทธศาสตร์ ซึ่งการตัดสินใจเด็ดขาดจะอยู่กับคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งก็จะมีการใช้สิทธิ์ยับยั้งของสมาชิกถาวรได้ด้วย พื้นที่ไมโครเนเซียนี้เคยถูกเยอมนียึดเป็นอาณานิคมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ต่อมาเป็นดินแดนในอาณัติของสันนิบาตชาติในส่วนที่ญี่ปุ่นดูแลในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่ได้ถูกกองทัพสหรัฐฯยึดครองในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งก็ต้องสูญเสียชีวิตกำลังพลไปเป็นจำนวนมาก ดินแดนไมโคเนเซียมีประชากรรวมกันราว 150,000 คน โดยกระจัดกระจายอยู่ตามเกาะแก่งต่าง ๆ จำนวน 2,141 แห่ง หลังจากชาวเกาะในดินแดนภาวะทรัสตีนี้ได้ทำการเรียกร้องการปกครองตนเองมานานหลายปี สหรัฐอเมริกาก็ได้บรรลุข้อตกลงในระหว่างทศวรรษปี 1970 ถึงทศวรรษปี 1980 กับกลุ่มทางการเมือง 4 กลุ่มด้วยกันในดินแดนนี้ คือ กลุ่มทางการเมืองในหมู่เกาะมาร์แชล กลุ่มทางการเมืองเกาะปาเลา กลุ่มทางการเมืองหมู่เกาะมาเรียนาเหนือ และกลุ่มทางการเมืองสหพันธรัฐไมโครเนเซีย โดย 3 กลุ่มทางการเมืองได้ทำความตกลงว่าด้วย “สมาคมเสรี” ซึ่งจากข้อตกลงนี้ทำให้กลุ่มทางการเมืองเหล่านี้มีอิสระในการดำเนินนโยบายภายใน ส่วนในด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศและในด้านป้องกันประเทศนั้นให้อยู่ภายใต้การรับผิดชอบของสหรัฐอเมริกา สำหรับกลุ่มทางการเมืองที่ 4 กล่าวคือ กลุ่มทางการเมืองหมู่เกาะมาเรียนาเหนือนั้นได้ลงนามข้อตกลงว่าด้วยความไพบูลย์ร่วมกัน โดยมีผลบังคับใช้เมื่อปี ค.ศ.1987

ความสำคัญ ในบรรดาดินแดนจำนวน 11 แห่ง ที่จัดการให้มาอยู่ภายใต้ระบบภาวะทรัสตีของสหประชาชาติเมื่อปี ค.ศ.1946 นั้น เมื่อถึงปี ค.ศ.1988 มี 10 แห่งได้รับเอกราชแล้ว ยังเหลืออีก 1 แห่ง คือ ดินแดนภาวะทรัสตีแห่งหมู่เกาะแปซิฟิกที่บริหารโดยสหรัฐอเมริกา แต่สหรัฐอเมริกาไม่ได้ทำหน้าที่บริหารดินแดนแห่งนี้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนชาวเกาะเหล่านี้เสมอไปเหมือนอย่างที่กฎบัตรได้แนะนำไว้ ยกตัวอย่าง เช่น ในทศวรรษปี 1950 สหรัฐอเมริกาได้ทำการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งสำคัญหลายครั้ง ซึ่งส่งผลให้บางแห่งในพื้นที่นี้รวมทั้งชาวเกาะอีกจำนวนหนึ่งได้รับสารกัมมันตรังสีในขั้นร้ายแรง จนถึงกับว่าบางเกาะร้างผู้คนเข้าไปอยู่อาศัย จวบจนกระทั่งทุกวันนี้ เมื่อทศวรรษปี 1960 ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ.เคนเนดี ได้ส่งคณะผู้สำรวจเดินทางไปยังดินแดนแห่งนี้ และคณะผู้สำรวจได้รายงานว่า ชาวเกาะมีชีวิตความเป็นอยู่ภายใต้สภาวะที่เลวร้ายกว่าช่วงที่ตกอยู่ในอาณัติของญี่ปุ่นเสียอีก ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาได้วางแผนยุติข้อตกลงดินแดนภาวะทรัสตีนี้ แต่ก็ต้องให้สหรัฐฯมีสิทธิ์ดำเนินนโยบายทางทหารและนโยบายต่างประเทศในดินแดนนี้อยู่ต่อไป

No comments:

Post a Comment