Google

Wednesday, October 21, 2009

UN Principal Organ : General Assembly

องค์กรหลักของสหประชาชาติ : สมัชชาใหญ่

หนึ่งในองค์กรหลัก 6 องค์กรของสหประชาชาติ ที่ทำหน้าที่เป็นที่ประชุมใหญ่ของรัฐสมาชิกทั้งปวง แต่ละรัฐสมาชิกได้รับสิทธิ์ให้มีผู้แทนได้ 10 คน แต่สามารถลงคะแนนเสียงได้เพียง 1 เสียง แต่ละรัฐสมาชิกมีผู้แทนได้เท่าเทียมกันในคณะกรรมาธิการหลัก 7 คณะของสมัชชาใหญ่ ภาระรับผิดชอบของสมัชชาใหญ่ ขยายครอบคลุมไปถึงทุกปัญหาของโลกหรือทุกปัญหาขององค์การหรือวิธีปฏิบัติภายในของสหประชาชาติที่สมาชิกของสมัชชาใหญ่ส่วนใหญ่ต้องการจะนำมาพิจารณา การตกลงใจในสมัชชาใหญ่จะทำโดยใช้วิธีลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่แบบธรรมดาของมวลสมาชิกที่เข้าประชุมลงคะแนนเสียง เว้นเรื่องที่เป็น “ปัญหาสำคัญ” (ตามที่นิยามในข้อ 18 ของกฎบัตร) ซึ่งจะต้องใช้วิธีลงคะแนนแบบสองในสาม แม้ว่าสมัชชาใหญ่จะไม่สามารถทำให้การตัดสินใจหรือกฎหมายมีข้อผูกพันกับรัฐสมาชิกได้ แต่ก็จะสามารถใช้มติเสนอแนะให้ดำเนินการในระดับชาติและในระดับประชาคมระหว่างประเทศได้นานาชนิด สมัชชาใหญ่อาศัยวิธีการยอมรับอนุสัญญาหรือสนธิสัญญาเป็นเครื่องมือในการพัฒนากฎหมายภายในของรัฐต่าง ๆ ที่ให้การสัตยาบันอนุสัญญาหรือสนธิสัญญานั้น ๆ ได้ ในทุกปีสมัชชาใหญ่จะเลือกตั้งรัฐบุรุษที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติมาเป็นประธาน กับเลือกรองประธานอีกจำนวน 17 คนจากพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญ ๆ ของโลก มีคณะกรรมาธิการใหญ่ประกอบด้วยประธาน รองประธาน และหัวหน้าคณะกรรมาธิการดำเนินงานในการวางแผนงานในแต่ละสมัยประชุม อำนาจของสมัชชาใหญ่มีดังนี้ (1) ประนอมข้อพิพาทระหว่างประเทศ (2) เสนอแนะมาตรการร่วมต่อต้านผู้รุกราน (3) ยอมรับงบประมาณของสหประชาชาติ (4) ควบคุมดูแลองค์กรหลักและองค์กรย่อยอื่น ๆ (5) เลือกตั้งสมาชิกของคณะมนตรีสามคณะมนตรีและผู้พิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (6) รับสมาชิกใหม่และ (7) เสนอแนะให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎบัตรสหประชาชาติ

ความสำคัญ สมัชชาใหญ่ได้ผ่านกระบวนการวิวัฒนาการมาจนได้เป็นองค์กรกลางของระบบสหประชาชาติ ที่เป็นเช่นนี้ขึ้นมาได้เพราะผลส่วนหนึ่งจากภาวะชะงักงันในคณะมนตรีความมั่นคงที่สมาชิกถาวรใช้สิทธิในการยับยั้งจนไม่สามารถทำงานได้ จึงทำให้สมัชชาใหญ่ต้องเข้ามามีบทบาทเป็นผู้รักษาสันติภาพโดยการยอมรับมติการรวมกันเพื่อสันติภาพปี ค.ศ.1950 นอกจากนั้นแล้ว การที่มีสมาชิกเพิ่มเข้ามาอีกจำนวนมากในสหประชาชาติก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สมัชชาใหญ่ขยายบทบาทของตนเองมากขึ้น ที่สมัชชาใหญ่สหประชาชาติมีบทบาทเพิ่มขึ้นมามากนี้ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากวิวัฒนาการตามธรรมชาติดังนี้คือ (1) สมัชชาใหญ่มีอำนาจในการตีความกฎบัตรสหประชาชาติกว้างขวางขึ้น (2) สมัชชาใหญ่ทำการควบคุมงบประมาณของสหประชาชาติ (3) สมัชชาใหญ่มีอำนาจในการกำกับดูแลองค์กรอื่น ๆ และ (4) สมัชชาใหญ่มีบทบาทในฐานะเป็นองค์กรหลักของสหประชาชาติเพียงองค์กรเดียวที่สมาชิกทั้งปวงมีผู้แทนไปประจำอยู่ ในช่วงปี 42 ปีแรกที่สมัชชาใหญ่ดำเนินกิจกรรมมานั้น สมัชชาใหญ่ได้ดำเนินการ (1) แก้ไขข้อพิพาทหลายกรณี (2) ได้ให้ความช่วยเหลือพื้นฟูสันติภาพในหลายพื้นที่ (3) ให้การยอมรับมติและปฏิญญาจำนวนมากมายที่ทำให้เป็นบรรทัดฐานเพื่อความประพฤติในระดับระหว่างประเทศ (4) ให้ความช่วยเหลือส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการค้าเสรี และ (5) ขยายขอบเขตความสนใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนไปยังหลายประเทศ ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด สมัชชาใหญ่สหประชาชาติทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเพื่อการอภิปราย ที่คู่กรณีพิพาทและชาติที่เดือดร้อนทั้งหลายสามารถทำเอาเรื่องของตนมาร้องเรียนต่อที่ประชุมในระดับโลกได้

No comments:

Post a Comment