Google

Wednesday, October 21, 2009

League of Nations

สันนิบาตชาติ

องค์การระหว่างประเทศในระดับโลกที่ได้จัดตั้งขึ้นมาโดยผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสันติภาพและความมั่นคง ตลอดจนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างมวลสมาชิก กฎบัตรของสันนิบาตชาติซึ่งประกอบด้วยข้อความ 26 ข้อที่รวมอยู่ในสนธิสัญญาแวร์ซายส์ใช้เป็นธรรมนูญของสันนิบาตชาติ ถึงแม้ว่าประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันแห่งสหรัฐอเมริกาจะเป็นผู้นำในการพัฒนาสันนิบาตชาติและเป็นประธานคณะกรรมาธิการเขียนกติกานี้ขึ้นมา แต่สหรัฐอเมริกาก็มิได้เป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติ เนื่องจากวุฒิสภาของสหรัฐฯไม่ยอมให้ความเห็นชอบในสนธิสัญญาฉบับนี้ รัฐที่เป็นกลางต่างๆได้รับเชิญให้เป็นสมาชิกแรกเริ่มของสันนิบาตชาติด้วย ส่วนรัฐข้างฝ่ายศัตรูที่แพ้สงครามก็ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมได้ในเวลาต่อมา ซึ่งก็ส่งผลให้เป็นองค์การใกล้จะเป็นสากล เพียงแต่ว่าไม่มีสหรัฐอเมริกาเป็นสมาชิกเท่านั้นเอง แม้ว่าในขั้นสุดท้ายนั้นมีประเทศที่เป็นสมาชิกทั้งหมดรวม 63 ชาติ แต่ตลอดเวลามีสมาชิกเข้าร่วมจำนวนสูงที่สุดเพียง 58 ชาติเท่านั้นเอง ในสันนิบาตชาติมีคณะมนตรีและสมัชชาซึ่งก็เทียบได้กับคณะมนตรีความมั่นคงและสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติในปัจจุบันนี่เอง ทั้งสององค์กรนี้ถือได้ว่าเป็นองค์กรหลักและแต่ละองค์กรจะตัดสินใจใดๆได้ต้องมีเสียงเป็นเอกฉันท์ มีองค์กรย่อยให้ความช่วยเหลือแก่สององค์กรหลักในการดำเนินการรับผิดชอบในด้านต่างๆ เป็นต้นว่า ดินแดนในอาณัติ การลดกำลังรบ และการสวัสดิการด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น นอกจากนี้แล้วก็ยังมีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(พีซีไอเจ)ซึ่งก็คือองค์กรก่อนหน้าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศของสหประชาชาติในปัจจุบัน และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ)ล้วนเป็นองค์กรอิสระจากสันนิบาตชาติแต่ทำงานประสานกิจกรรมอยู่กับสันนิบาตชาติ ส่วนหัวใจของระบบรักษาสันติภาพของสันนิบาตชาติ ก็คือการเรียกร้องให้สมาชิกยอมรับที่จะแก้ไขข้อพิพาทระหว่างกันโดยทางการเมืองและทางกฎหมาย โดยมีทางบังคับที่ประชาคมสันนิบาตชาติจะนำมาใช้ต่อรัฐใดๆก็ตามที่ทำสงครามอันเป็นการละเมิดกติกาของสันนิบาตชาติ

ความสำคัญ กติกาสันนิบาตชาติไม่เหมือนกับกฎบัตรสหประชาชาติ คือ กฎบัตรสหประชาชาติถือว่าสงครามเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่กติกาสันนิบาตชาติพยายามจะทำให้สงครามเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในเกือบจะทุกสถานการณ์ และพยายามจะงดเว้นการกระทำการใดๆอย่างฉับพลัน ถึงแม้ว่าในบันทึกของสันนิบาตชาติจะบ่งบอกว่าสันนิบาตชาติจะทำงานด้วยดีในการแก้ไขข้อพิพาทและสถานการณ์ที่มีอันตรายในช่วงสิบปีแรก แต่สันนิบาตชาติก็มิได้กระทำการอย่างเด็ดขาดเมื่อต้องเผชิญกับการท้าทายกับการรุกรานโดยตรงของญี่ปุ่นต่อจีนในวิกฤติการณ์แมนจูเรียเมื่อปี ค.ศ. 1931 ต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1935 หลังจากที่อิตาลีโจมตีเอธิโอเปียแล้วนั้นสันนิบาตชาติเป็นครั้งแรกและเป็นครั้งเดียวได้ใช้ทางบังคับต่อผู้รุกรานแต่ก็ไม่สามารถยับยั้งการรุกรานครั้งนี้ได้ เมื่ออิตาลีประสบความสำเร็จเช่นนี้แล้วก็เป็นการกระตุ้นให้เกิดการรุกรานยิ่งขึ้น โดยเยอรมนีภายใต้การปกครองของนาซี รวมทั้งญี่ปุ่นและสหภาพโซเวียตเมื่อทศวรรษปี 1930 โดยที่มิได้มีการปฏิบัติการร่วมกันต่อต้านการกระทำของรัฐต่างๆเหล่านี้แต่อย่างใด สันนิบาตชาติถึงแม้จะประสบกับความล้มเหลวในการธำรงสันติภาพแต่ก็ได้ช่วยแก้ไขข้อพิพาทได้หลายครั้ง ได้ช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางเทคนิคในหมู่สมาชิก และให้ความช่วยเหลือปรับปรุงสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมของบางประเทศ จากประสบการณ์ของสันนิบาตชาตินี้ได้ช่วยให้มีการพัฒนาแนวความคิดและระเบียบปฏิบัติใหม่ๆที่มีประโยชน์ในสหประชาชาติ ในปี ค.ศ. 1946 สันนิบาตชาติได้ประชุมกันครั้งสุดท้ายที่นครเจนีวาและได้ลงคะแนนเสียงยุบตัวเองกับได้โอนทรัพย์สินของตนให้แก่สหประชาชาติ อาคารต่างๆของสันนิบาติชาติในนครเจนีวาทุกวันนี้ ก็คือสำนักงานใหญ่สหประชาชาติภาคพื้นยุโรป และอาคารเหล่านี้ก็ได้ถูกใช้เป็นการพิเศษเพื่อการเจรจาลดกำลังรบ

No comments:

Post a Comment