Google

Wednesday, October 21, 2009

Human Rights

สิทธิมนุษยชน

การปกป้องปัจเจกบุคคลจากการแทรกแซงหรือจากการบั่นทอนตามอำเภอใจในชีวิตเสรีภาพและการคุ้มครองความเท่าเทียมกันทางกฎหมายโดยรัฐบาลโดยปัจเจกบุคคลหรือโดยกลุ่มบุคคล การประกันในเรื่องสิทธิมนุษยชนภายในประเทศซึ่งมีปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆของแต่ละชาตินั้นจะได้รับการสนับสนุนโดยให้ความคุ้มครองในระดับนานาชาติผ่านทางปฏิบัติการขององค์การระหว่างประเทศ นอกจากนี้แล้วก็ยังมีหลายชาติที่ถือว่าการให้ความคุ้มครองสิทธิทางเศรษฐกิจและทางสังคมแก่ปัจเจกบุคคล เป็นต้นว่า สิทธิในการมีงานทำ สิทธิในการได้รับความคุ้มครองทางการแพทย์ สิทธิในการพักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น ต่างมีความสำคัญพอๆกับสิทธิในแนวความคิดแบบเดิมๆคือสิทธิทางการเมืองเลยทีเดียว นอกจากนี้แล้วก็ยังมีองค์การในระดับภูมิภาคอีกหลายองค์การก็ได้ให้หลักประกันในด้านสิทธิมนุษยชนนี้ด้วย

ความสำคัญ กิจกรรมระหว่างประเทศในด้านการให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนนี้ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1946 เป็นต้นมาได้ดำเนินการอยู่ภายใต้กรอบของสหประชาชาติโดยผ่านทางสมัชชาใหญ่และคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนคณะกรรมการและคณะกรรมาธิการของสององค์การชำนัญพิเศษนี้ กิจกรรมต่างๆที่ดำเนินการมีดังนี้ (1) มีการประกาศหลักการต่างๆเพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานโดยความสมัครใจของรัฐสมาชิก อย่างเช่น หลักการที่อยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เป็นต้น (2) มีการยอมรับอนุสัญญาพหุภาคีต่างๆที่กำหนดให้รัฐต่างๆที่ได้ให้การสัตยาบันแล้วต้องประกันในสิทธิมนุษยชนนี้ อย่างเช่นที่ปรากฏอยู่ในข้อตกลงสหประชาชาติว่าด้วยการกำหนดให้การทำลายล้างเผ่าพันธุ์และการค้าทาสเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และกำหนดให้ทำการปกป้องสิทธิทางการเมืองของสตรี เป็นต้น (3) มีการจัดหาข้อมูลและความช่วยเหลือแก่รัฐบาลของชาติต่างๆ เช่น มีการตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือ”เยียร์บุ๊ก ออน ฮิวแมน ไร้ท์” ประจำปี เป็นต้น และ (4) มีการดำเนินการตอบโต้ต่อผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยผ่านทางการประณามของสมัชชาใหญ่ และถ้าเป็นอย่างกรณีของประเทศแอฟริกาใต้ก็ได้ใช้วิธีห้ามส่งอาวุธไปให้ และวิธีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เป็นต้น สำหรับวิธีที่มีการโต้เถียงกันมากในสหประชาชาติ ก็คือกรณีระหว่างรัฐพวกหนึ่งที่ให้คำนิยามสิทธิมนุษยชนในแง่พลเมืองและแง่การเมืองแบบเดิมๆ กับอีกพวกหนึ่งที่เน้นย้ำในเรื่องสิทธิทางเศรษฐกิจและทางสังคม ส่วนในระดับภูมิภาคนั้นก็มีระบบสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งดำเนินการโดยคณะมนตรียุโรปและได้ลงนามกันเมื่อปี ค.ศ. 1950 ต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1975 ก็ได้มีข้อตกลงเฮลซิงกิโดยดำเนินการของกองการประชุมว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป และในปีเดียวกันนี้ก็ได้มีอนุสัญญานานารัฐอเมริกา ว่าด้วยการให้สิทธิทางพลเมืองแก่สตรี

Human Rights: European Convention

สิทธิมนุษยชน : อนุสัญญายุโรป

อนุสัญญาที่มีผลบังคับใช้นับแต่ปี ค.ศ. 1953 เป็นต้นมา โดยได้กำหนดให้มีการจัดตั้งกลไกระหว่างประเทศเพื่อให้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในกรณีที่เกิดการโต้แย้งในหมู่รัฐที่เป็นผู้ลงนาม อนุสัญญายุโรปที่ได้พัฒนาขึ้นมาภายใต้การอุปถัมภ์ของคณะมนตรียุโรปนี้ได้รับการยอมรับจากรัฐต่างๆจำนวน 15 รัฐด้วยกัน (คือ ออสเตรีย เบลเยียม ไซปรัส เดนมาร์ก เยอรมนี อังกฤษ กรีซ ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และตุรกี) มีสมาชิกของคณะมนตรียุโรปเพียง 3 รัฐเท่านั้นที่ไม่ยอมเข้าเป็นภาคี คือ ฝรั่งเศส มอลตา และสวิตเซอร์แลนด์ ในหมู่รัฐที่ให้การสัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้มีอยู่ 10 รัฐได้ตกลงเพิ่มเติมด้วยว่า บุคคลหรือคณะบุคคลใดก็ตามหากยังไม่พอใจในคำตัดสินของศาลภายในประเทศตนก็สามารถจะอุทธรณ์เรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนนี้ไปยังศาลระหว่างประเทศได้ และได้มีการพิจารณาคำอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นครั้งแรกโดยคณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 15 ชาติที่ได้รับการคัดเลือกมาจากรัฐที่เป็นสมาชิก ถ้าหากว่าคำอุทธรณ์สามารถยอมรับได้ คณะกรรมาธิการนี้ก็จะรายงานการสอบสวนของตนพร้อมกับให้คำเสนอแนะหลักปฏิบัติแก่คณะกรรมาธิการรัฐมนตรีของคณะมนตรียุโรป เมื่อคณะกรรมการรัฐมนตรีไม่สามารถดำเนินการยุติกรณีพิพาทโดยสันธิวิธีได้ก็อาจจะตัดสินคดีโดยใช้คะแนนเสียงสองในสามในขั้นสุดท้ายก็ได้ ฝ่ายที่แพ้คดีก็อาจจะอุทธรณ์ถึงศาลยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หากว่าผู้แพ้คดีนั้นเป็นพลเมืองของรัฐหนึ่งรัฐใดที่ได้ให้การสัตยาบันในพิธีสารเพิ่มเติมที่กำหนดให้ยอมรับคำตัดสินของศาลยุโรปดังกล่าวนี้ สมาชิกของคณะมนตรียุโรปทั้ง 20 ชาติจะมีผู้แทนของตนไปประจำอยู่ที่ศาลยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนี้ ไม่ว่าสมาชิกนั้นๆจะยอมรับพิธีสารที่ว่านั้นหรือไม่ก็ตาม ส่วนในการบังคับใช้คำตัดสินของศาลยุโรปนี้ก็ให้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของรัฐที่ได้รับผลกระทบนั้นๆทั้งนี้ก็เพราะอนุสัญญามิได้กำหนดเรื่องทางบังคับเอาไว้

ความสำคัญ อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนี้ได้กำหนดให้มีกลไกระหว่างประเทศที่มีอำนาจหน้าที่กว้างไกลในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของระบบรัฐในปัจจุบัน แต่ในแง่ปฏิบัตินั้นอนุสัญญาฉบับบนี้มิได้ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองเสรีภาพส่วนบุคคลอย่างเข้มแข็งแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้ว่าในจำนวนคำอุทธรณ์หลายพันรายการที่ยื่นถึงคณะกรรมาธิการนั้นมีเพียงไม่กี่รายการที่พบว่าสามารถยอมรับได้ และศาลยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็ได้ทำการตัดสินคดีต่างๆเพียงไม่กี่คดี คดีตัวอย่างในปี ค.ศ. 1979 คือ คดีที่ศาลยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนตัดสินด้วยคะแนนเสียงสองในสามว่า คำตัดสินของศาลอังกฤษที่ห้ามหนังสือพิมพ์ซันเดย์ไทมส์ที่ตีพิมพ์ในกรุงลอนดอนทำการตีพิมพ์บทความบทหนึ่งโดยอ้างว่าจะเป็นการละเมิดต่อผู้ผลิตยาทาลิโดไมล์นั้น เป็นการละเมิดอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แรงกระทบที่สำคัญยิ่งของอนุสัญญาฉบับนี้ ก็คือเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้องค์การระหว่างประเทศได้ทำงานในด้านให้ความคุ้มครองแก่ปัจเจกบุคคลที่เรียกร้องความคุ้มครองเกินกว่าที่รัฐบาลของรัฐตนจะสามารถจัดหาให้ได้ ระบบคุ้มครองสิทธิมนุษยชนนี้ถือได้ว่าเป็นแม่แบบให้แก่กลุ่มต่างๆในระดับภูมิภาคกลุ่มอื่นๆได้ และก็อาจจะเอื้ออำนวยให้มีการจัดตั้งระบบแบบนี้ในระดับโลกภายใต้การอุปถัมภ์ของสหประชาชาติได้อีกด้วย

Human Rights : Universal Declaration

สิทธิมนุษยชน : ปฏิญญาสากล

คำประกาศที่กำหนด”มาตรฐานที่จะบรรลุร่วมกันสำหรับประชาชนทุกคนและชาติทุกชาติ”ในการเคารพต่อสิทธิทางพลเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางวัฒนธรรม ปฏิญญาสากลนี้ซึ่งเตรียมการโดยคณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม ได้รับการรับรองจากสมัชชาใหญ่เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1948 ซึ่งก็ได้กำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1954 เป็นต้นมาสมัชชาใหญ่ได้ดำเนินการร่างข้อตกลง 2 ฉบับ คือ ฉบับหนึ่งว่าด้วยสิทธิทางพลเมืองและทางการเมือง กับอีกฉบับหนึ่งว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ข้อตกลงทั้งสองฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สิทธิเหล่านี้ที่ได้รับการประกาศในปฏิญญาสากลแล้วได้รับการปฏิบัติตามอย่างมีประสิทธิผลโดยชาติทั้งหลายที่ได้ให้การสัตยาบัน นอกจากนั้นแล้วชาติต่างๆที่ได้ยอมรับข้อตกลงฉบับแรกในสองฉบับบนี้แล้วก็อาจจะให้การสัตยาบันในพิธีสารแทนข้อตกลงว่าด้วยสิทธิทางพลเมืองและทางการเมือง ซึ่งก็จะทำให้บุคคลมีอำนาจที่จะร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อองค์การระหว่างประเทศได้

ความสำคัญ ถึงแม้ว่าเกือบจะทุกอย่างที่กำหนดไว้ในปฏิญญาสากลจะมิได้รับการยอมรับว่าเป็นกฎหมายระหว่างประเทศโดยผ่านกระบวนการให้การสัตยาบันสนธิสัญญา แต่ทว่าสิทธิเหล่านี้ก็ยังมีรัฐต่างๆปฏิบัติตาม โดยในหมู่ประเทศที่เกิดใหม่ได้รับการชี้นำจากหลักการของปฏิญญาสากลนี้ต่างก็ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญของตนๆในทุกรัฐ ปฏิญญาสากลนี้สามารถใช้เป็นมาตรฐานสำหรับวัดว่าชาตินั้นๆได้ให้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานระหว่างประเทศหรือไม่ ส่วนในอีกหลายๆกรณี อย่างเช่นกรณีประเทศโรดีเซียและประเทศแอฟริกาใต้ ปฏิญญาสากลนี้ก็สามารถใช้เป็นพื้นฐานสำหรับประณามระบบรัฐธรรมนูญของชาติเหล่านั้นได้ ว่ายินยอมให้มีการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มทางเชื้อชาติ กลุ่มทางศาสนา กลุ่มทางสังคม หรือกลุ่มทางการเมืองหรือไม่ ส่วนในสหประชาชาตินั้นปฏิญญาสากลนี้ได้เป็นตัวกำหนดบรรทัดฐานระหว่างประเทศที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในองค์การหลักและองค์การย่อยทั้งหลายทั้งปวงของสหประชาชาติ

League of Nations

สันนิบาตชาติ

องค์การระหว่างประเทศในระดับโลกที่ได้จัดตั้งขึ้นมาโดยผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสันติภาพและความมั่นคง ตลอดจนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างมวลสมาชิก กฎบัตรของสันนิบาตชาติซึ่งประกอบด้วยข้อความ 26 ข้อที่รวมอยู่ในสนธิสัญญาแวร์ซายส์ใช้เป็นธรรมนูญของสันนิบาตชาติ ถึงแม้ว่าประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันแห่งสหรัฐอเมริกาจะเป็นผู้นำในการพัฒนาสันนิบาตชาติและเป็นประธานคณะกรรมาธิการเขียนกติกานี้ขึ้นมา แต่สหรัฐอเมริกาก็มิได้เป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติ เนื่องจากวุฒิสภาของสหรัฐฯไม่ยอมให้ความเห็นชอบในสนธิสัญญาฉบับนี้ รัฐที่เป็นกลางต่างๆได้รับเชิญให้เป็นสมาชิกแรกเริ่มของสันนิบาตชาติด้วย ส่วนรัฐข้างฝ่ายศัตรูที่แพ้สงครามก็ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมได้ในเวลาต่อมา ซึ่งก็ส่งผลให้เป็นองค์การใกล้จะเป็นสากล เพียงแต่ว่าไม่มีสหรัฐอเมริกาเป็นสมาชิกเท่านั้นเอง แม้ว่าในขั้นสุดท้ายนั้นมีประเทศที่เป็นสมาชิกทั้งหมดรวม 63 ชาติ แต่ตลอดเวลามีสมาชิกเข้าร่วมจำนวนสูงที่สุดเพียง 58 ชาติเท่านั้นเอง ในสันนิบาตชาติมีคณะมนตรีและสมัชชาซึ่งก็เทียบได้กับคณะมนตรีความมั่นคงและสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติในปัจจุบันนี่เอง ทั้งสององค์กรนี้ถือได้ว่าเป็นองค์กรหลักและแต่ละองค์กรจะตัดสินใจใดๆได้ต้องมีเสียงเป็นเอกฉันท์ มีองค์กรย่อยให้ความช่วยเหลือแก่สององค์กรหลักในการดำเนินการรับผิดชอบในด้านต่างๆ เป็นต้นว่า ดินแดนในอาณัติ การลดกำลังรบ และการสวัสดิการด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น นอกจากนี้แล้วก็ยังมีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(พีซีไอเจ)ซึ่งก็คือองค์กรก่อนหน้าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศของสหประชาชาติในปัจจุบัน และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ)ล้วนเป็นองค์กรอิสระจากสันนิบาตชาติแต่ทำงานประสานกิจกรรมอยู่กับสันนิบาตชาติ ส่วนหัวใจของระบบรักษาสันติภาพของสันนิบาตชาติ ก็คือการเรียกร้องให้สมาชิกยอมรับที่จะแก้ไขข้อพิพาทระหว่างกันโดยทางการเมืองและทางกฎหมาย โดยมีทางบังคับที่ประชาคมสันนิบาตชาติจะนำมาใช้ต่อรัฐใดๆก็ตามที่ทำสงครามอันเป็นการละเมิดกติกาของสันนิบาตชาติ

ความสำคัญ กติกาสันนิบาตชาติไม่เหมือนกับกฎบัตรสหประชาชาติ คือ กฎบัตรสหประชาชาติถือว่าสงครามเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่กติกาสันนิบาตชาติพยายามจะทำให้สงครามเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในเกือบจะทุกสถานการณ์ และพยายามจะงดเว้นการกระทำการใดๆอย่างฉับพลัน ถึงแม้ว่าในบันทึกของสันนิบาตชาติจะบ่งบอกว่าสันนิบาตชาติจะทำงานด้วยดีในการแก้ไขข้อพิพาทและสถานการณ์ที่มีอันตรายในช่วงสิบปีแรก แต่สันนิบาตชาติก็มิได้กระทำการอย่างเด็ดขาดเมื่อต้องเผชิญกับการท้าทายกับการรุกรานโดยตรงของญี่ปุ่นต่อจีนในวิกฤติการณ์แมนจูเรียเมื่อปี ค.ศ. 1931 ต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1935 หลังจากที่อิตาลีโจมตีเอธิโอเปียแล้วนั้นสันนิบาตชาติเป็นครั้งแรกและเป็นครั้งเดียวได้ใช้ทางบังคับต่อผู้รุกรานแต่ก็ไม่สามารถยับยั้งการรุกรานครั้งนี้ได้ เมื่ออิตาลีประสบความสำเร็จเช่นนี้แล้วก็เป็นการกระตุ้นให้เกิดการรุกรานยิ่งขึ้น โดยเยอรมนีภายใต้การปกครองของนาซี รวมทั้งญี่ปุ่นและสหภาพโซเวียตเมื่อทศวรรษปี 1930 โดยที่มิได้มีการปฏิบัติการร่วมกันต่อต้านการกระทำของรัฐต่างๆเหล่านี้แต่อย่างใด สันนิบาตชาติถึงแม้จะประสบกับความล้มเหลวในการธำรงสันติภาพแต่ก็ได้ช่วยแก้ไขข้อพิพาทได้หลายครั้ง ได้ช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางเทคนิคในหมู่สมาชิก และให้ความช่วยเหลือปรับปรุงสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมของบางประเทศ จากประสบการณ์ของสันนิบาตชาตินี้ได้ช่วยให้มีการพัฒนาแนวความคิดและระเบียบปฏิบัติใหม่ๆที่มีประโยชน์ในสหประชาชาติ ในปี ค.ศ. 1946 สันนิบาตชาติได้ประชุมกันครั้งสุดท้ายที่นครเจนีวาและได้ลงคะแนนเสียงยุบตัวเองกับได้โอนทรัพย์สินของตนให้แก่สหประชาชาติ อาคารต่างๆของสันนิบาติชาติในนครเจนีวาทุกวันนี้ ก็คือสำนักงานใหญ่สหประชาชาติภาคพื้นยุโรป และอาคารเหล่านี้ก็ได้ถูกใช้เป็นการพิเศษเพื่อการเจรจาลดกำลังรบ

League of Nations : Covenant

สันนิบาตชาติ : กติกา

สนธิสัญญาพหุภาคี(ส่วนที่ 1 ของสนธิสัญญาแวร์ซายส์) ที่ได้จัดตั้งสันนิบาตชาติขึ้นมานั้น กติกาสันนิบาตชาตินี้มีลักษณะเหมือนกับรัฐธรรมนูญของชาติต่างๆ คือ มีบทบัญญัติให้มีการจัดตั้งองค์กรหลักๆและระบบวินิจฉัยสั่งการ ตลอดจนมีการประกาศหลักการต่างๆที่จะนำไปใช้นำทางการปฏิบัติของประเทศที่เป็นสมาชิก

ความสำคัญ กติกาสันนิบาตชาติเป็นตัวกำหนดวิธีปฏิบัติต่างๆที่จะทำให้วัตถุประสงค์ 2 ข้อของสันนิบาตชาติสามารถบรรลุถึงได้ คือ (1) เพื่อรักษาสันติภาพและความมั่นคง และ (2) เพื่อสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ กติกาสันนิบาตชาติเป็นเอกสารมีข้อความสั้นๆเพียง 26 ข้อ ใช้ภาษาแบบกว้างๆเพื่อให้มีความยืดหยุ่นสามารถปรับใช้กับสภาวะของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ การล่มสลายของสันนิบาตชาติที่บังเกิดขึ้นมานั้น มิใช่ผลมาจากความอ่อนแอทางธรรมนูญภายใน แต่เกิดขึ้นมาจากรัฐสมาชิกหลักๆไม่ยอมให้การสนับสนุนหลักการของกติกาสันนิบาตชาติ และจากการที่สหรัฐอเมริกาปฏิเสธการเข้าร่วมในสันนิบาตชาติ

League of Nations : Mandates System

สันนิบาตชาติ :ระบบอาณัติ

ข้อตกลงที่กำหนดให้ดินแดนอาณานิคมของมหาอำนาจกลางที่แพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กล่าวคือ เยอรมนีและตุรกีไปอยู่ในความดูแลและปกครองของชาติพันธมิตร มหาอำนาจที่ดูแลดินแดนในอาณัติแต่ละชาติให้รับผิดชอบต่อสันนิบาตชาติในการบริหารดินแดนในอาณัติของสันนิบาตชาติ ดินแดนในอาณัติเหล่านี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามระดับของการพัฒนาดังนี้ คือ ดินแดนในอาณัติชั้น ก. (คือ ดินแดนอาหรับที่เคยอยู่ในเครือจักรภพของตุรกี) จัดเป็นดินแดนที่พร้อมจะได้เอกราชและปกครองตนเองได้หลังจากที่ได้อยู่ในความปกครองในช่วงเวลาสั้นๆ ดินแดนในอาณัติชั้น ข.( คือ ดินแดนแอฟริกาตะวันออกและตะวันตกของเยอรมนี) เป็นดินแดนที่ยังมิได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้เอกราชเร็ววันแต่ทว่าจะถูกปกครองเป็นอาณานิคมอยู่ต่อไปก่อนแต่ก็จะให้หลักประกันในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานบางอย่าง ดินแดนในอาณัติขั้น ค.( คือ แอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้และหมู่เกาะแปซิฟิกของเยอรมนี) ดินแดนชั้นนี้จะถูกปกครองโดยให้เป็น”ส่วนภายในของดินแดนของ(มหาอำนาจที่ทำหน้าที่ดูแลดินแดนอาณัติ)” โดยที่มิได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้เอกราช กับได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการดินแดนอาณัติถาวรคณะหนึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญภาคเอกชนจำนวน 10 คน โดยให้อยู่ภายใต้การกำกับของกติกาสันนิบาตชาติเพื่อให้ทำหน้าที่กำกับดูแลการบริหารดินแดนอาณัติและเสนอรายงานผลการทำงานของตนต่อคณะมนตรีสันนิบาตชาติ

ความสำคัญ ระบบอาณัติที่ได้รับการยอมรับในที่ประชุมสันติภาพที่พระราชวังแวร์ซายส์ให้เป็นทางเลือกแทนการผนวกดินแดนโดยรัฐที่เป็นผู้ชนะนี้ เป็นแบบอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ประชาคมระหว่างประเทศมีความรับผิดชอบต่อสวัสดิภาพของคนที่อยู่ในบังคับของรัฐอื่น ดังจะเห็นได้ว่ารัฐที่เป็นดินแดนในอาณัติหลายรัฐ กล่าวคือ อิรัก ซีเรีย และเลบานอน ได้รับเอกราช ส่วนรัฐในดินแดนในรัฐอาณัติอื่นๆทั้งหมดยกเว้นแต่เพียงแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้เท่านั้นได้ถูกนำไปเข้าอยู่กับระบบภาวะทรัสตีของสหประชาชาติเมื่อปี ค.ศ. 1946 ดินแดนในภาวะทรัสตีเหล่านี้ทุกรัฐต่างก็ได้เป็นรัฐเอกราชทั้งหมดเว้นเสียแต่ดินแดนภาวะทรัสตีของหมู่เกาะแปซิฟิก(ดินแดนภาวะทรัสตีที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา) สำหรับแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้นั้นมีสถานะทางกฎหมายที่ยังไม่มีความแน่นอนอยู่ คือ เมื่อปี ค.ศ. 1966 สมัชชาใหญ่ได้ยอมรับมติให้ขยายขอบเขตรับผิดชอบของสมัชชาใหญ่ไปถึงแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้(นามิเบีย) แต่ทางฝ่ายสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ได้ปฏิเสธข้ออ้างระหว่างประเทศนี้ ต่อมาจึงได้ทำการสู้รบกับกระบวนการเรียกร้องเอกราชขององค์การประชาชนแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้(สวาโป)

Political Community

ประชาคมทางการเมือง

หน่วยหรือกลุ่มทางสังคมใดๆที่ยึดถือค่านิยมร่วมกัน มีการใช้สถาบันร่วมกันเพื่อการวินิจฉัยสั่งการ และมีการยินยอมปฏิบัติตามคำวินิจฉัยสั่งการที่ได้กระทำลงไปแล้วนั้น ระดับของบูรณาการภายในประชาคมทางการเมืองแห่งหนึ่งแห่งใดจะมีมากหรือน้อยแค่ไหนก็ให้ดูที่จำนวนของปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ดำเนินอยู่นั้น กับให้ดูการวินิจฉัยสั่งการว่ามีการรวบอำนาจไว้กับส่วนกลางมากน้อยขนาดไหน และให้ดูว่าในเวลาเกิดความขัดแย้งกันระหว่างหมู่สมาชิกของประชาคมมีการใช้สันติวิธีแก้ไขมากน้อยขนาดไหน ประชาคมทางการเมืองอาจมีรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ คือ (1) องค์การในระดับภูมิภาคที่ส่งเสริมความร่วมมือที่จำกัดอยู่เฉพาะในหมู่สมาชิกในพื้นที่แห่งใดแห่งหนึ่งโดยเฉพาะ (2) ระบบสมาพันธ์ซึ่งมีองค์กรส่วนกลางมีอำนาจระดับข้ามชาติ หรือ (3) ประชาคมเดี่ยว ซึ่งเป็นผลมาจากการรวมตัวของหน่วยการเมืองที่แต่เดิมมีอธิปไตย

ความสำคัญ การสร้างประชาคมทางการเมืองต่างๆที่อยู่เหนือระดับประชารัฐ ได้กลายเป็นสิ่งดาษดื่นเป็นปกติวิสัยในระบบรัฐของยุคปัจจุบันไปแล้ว คติการหน้าที่(คติที่ว่าหน้าที่ของแต่ละส่วนที่ประกอบขึ้นเป็นส่วนรวมหรือส่วนทั้งหมด) ได้จัดหาพลังบูรณาการที่สำคัญให้แก่การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นใหม่นี้ ฝ่ายรัฐต่างๆก็มีเหตุผลในทางปฏิบัติว่าจะต้องเข้าร่วมในประชาคมทางการเมืองนี้เพื่อใช้แก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองร่วมกัน ทำให้มีกลุ่มในระดับภูมิภาคใหญ่ๆมากกว่า 30 กลุ่มได้รับการจัดตั้งขึ้นมานับแต่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง คณะกรรมาธิการยุโรปถือได้ว่าเป็นตัวอย่างขององค์การเหนือชาติที่สามารถทำการวินิจฉัยสั่งการให้มีผลบังคับใช้กับหมู่สมาชิกของตนได้ ส่วนประชาคมเดี่ยวต่างๆก็ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาโดยการรวมรัฐตั้งแต่สองรัฐขึ้นไปให้เข้ามาอยู่ด้วยกัน ดังเช่นกรณีของทันคันยิกาและซันซิบาร์(รวมตัวกันเป็นทันซาเนีย)

Political Community : Atlantic Community

ประชาคมทางการเมือง : ประชาคมแอตแลนติก

แนวความคิดของการมารวมกลุ่มกันในหมู่รัฐต่างๆในแถบยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองร่วมกัน แนวความคิดในเรื่องประชาคมแอตแลนติกซึ่งอิงอาศัยฐานของการมีมรดกทางวัฒนธรรมตะวันตกร่วมกันนี้ ได้รับแรงกระตุ้นเพิ่มขึ้นจากภัยคุกคามของการรุกรานจากยุโรปตะวันออก ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีองค์การในระดับภูมิภาคองค์การใดที่มีรัฐทุกรัฐในประชาคมแอตแลนติกเป็นสมาชิก แต่องค์การความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ(โออีซีดี) และคณะมนตรียุโรปต่างก็มีรัฐต่างๆเกือบจะทั้ง 25 รัฐในภูมิภาคนี้ได้เข้ามาร่วมเป็นสมาชิก ส่วนกลุ่มประชาคมทางการเมืองอื่นๆที่มาช่วยสร้างบูรณาการในนโยบายของรัฐต่างๆในภูมิภาคนี้ ได้แก่ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ(นาโต) ประชาคมยุโรป(อีซี) และสมาคมการค้าเสรียุโรป(เอฟตา)

ความสำคัญ การพัฒนาแนวความคิดประชาคมแอตแลนติกเกิดขึ้นมานี้ ได้ช่วยให้เกิดการสมานไมตรีระหว่างรัฐอดีตศัตรูกันในสงครามโลกครั้งที่สอง และช่วยสร้างเอกภาพของนโยบายขึ้นมาโดยการปรึกษาหารือกันในประเด็นสำคัญต่างๆ ในทศวรรษปี 1960 และทศวรรษปี 1970 ฝรั่งเศสได้ถอนตัวออกจากนาโต สหรัฐอเมริกาก็มัววุ่นอยู่กับสงครามเวียดนาม ส่วนการคุกคามจากยุโรปตะวันออกก็ได้ลดลง ทั้งสามเหตุการณ์นี้ก่อให้เกิดการคลายเกลียวสัมพันธ์ที่กระชับแน่นในประชาคมแอตแลนติก นอกจากนี้แล้วลัทธิชาตินิยมที่ปะทุขึ้นมาในประเทศต่างๆในยุโรปตะวันตกก็มีส่วนทำให้ความคืบหน้าไปสู่เป้าหมายดั้งเดิมของประชาคมแอตแลนติกเหนือที่ต้องการสร้างกรอบของสถาบันเหนือชาติขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยสั่งการทางการเมืองมีอันต้องเชื่องช้าลงไป อย่างไรก็ดี เมื่อถึงช่วงทศวรรษปี 1980 เหตุผลที่จะต้องใช้ประชาคมแอตแลนติกเหนือเป็นตัวประสานประโยชน์เพื่อนำไปสู่กระบวนการสร้างบูรณาการที่ตั้งไว้แต่เดิมก็ได้หวนกลับมาดังเดิม

Political Community : Confederation

ประชาคมทางการเมือง:สมาพันธรัฐ

สมาคมของรัฐต่างๆที่แสวงหาหนทางเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์แห่งชาติโดยผ่านทางการเมืองและสถาบันทางเศรษฐกิจร่วมกัน สมาพันธรัฐมีข้อแตกต่างจากสหพันธรัฐตรงที่สมาชิกของสมาพันธรัฐจะยังคงมีอธิปไตยอยู่อย่างเต็มที่ ส่วนสหพันธรัฐนั้นอำนาจทางการเมืองจะถูกแบ่งตามรัฐธรรมนูญระหว่างหน่วยส่วนกลางกับหน่วยในระดับภูมิภาค องค์การในระดับโลกต่างๆ เช่น สันนิบาตชาติ และสหประชาชาติ เป็นต้น และองค์การในระดับภูมิภาคต่างๆ เช่น องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ(นาโต) องค์การสนธิสัญญาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(ซีโต) องค์การนานารัฐอเมริกา(โอเอเอส) และ ประชาคมยุโรป(อีซี) ล้วนแต่มีลักษณะเป็นองค์การที่ยึดหลักการของสมาพันธรัฐทั้งนั้น กล่าวคือ การตัดสินใจต่างๆอาจจะกระทำโดยเสียงเอกฉันท์ หรือเสียงส่วนใหญ่ก็จริง แต่ก็ไม่มีรัฐใดถูกบังคับให้ยอมรับการตัดสินใจของเสียงข้างมาก

ความสำคัญ สมาพันธรัฐมีลักษณะอยู่กึ่งกลางระหว่างการกระทำของรัฐที่มีเอกราชกับการจัดตั้งระบบสหพันธรัฐ ฝ่ายที่ให้การสนับสนุนให้มีสหพันธรัฐโลกถือว่าสมาพันธรัฐในระดับโลกอย่างเช่นสหประชาชาตินี้จะเป็นวิวัฒนาการก้าวต่อไปสู่บูรณาการทางการเมืองในระดับที่สูงยิ่งขึ้นเหมือนอย่างประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ถึงแม้ว่าสมาพันธรัฐนี้จะขาดอำนาจในการบัญญัติและบังคับใช้กฎหมาย แต่อำนาจในการตัดสินใจของสมาพันธรัฐจะมีขอบเขตกว้างขวางมากเมื่อมีฉันทามติเกิดขึ้นในสมาคม

Political Community :Functionalism

ประชาคมทางการเมือง : คติการหน้าที่

ทฤษฎีที่เสนอแนะให้สร้างประชาคมโลกอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้โครงสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมที่ขยายตัวไปเรื่อยๆ ยิ่งกว่าที่จะใช้บูรณาการทางการเมืองโดยตรง คติการหน้าที่มีรากฐานมาจากข้อสมมติฐานที่ว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมมีแนวโน้มว่าจะมีขอบเขตกว้างขวางออกไปในระดับโลก เพราะฉะนั้นจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างได้ผลนั้นก็จำเป็นต้องผนึกกำลังกระทำร่วมกันระหว่างมวลสมาชิกของระบบรัฐ ลักษณะนิสัยของความร่วมมือกันที่มีผลมาจากการประสบความก้าวหน้าไปสู่วัตถุประสงค์ทางด้านเศรษฐกิจและทางด้านสังคมนั้นอาจจะถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นบูรณาการทางการเมืองได้

ความสำคัญ คติการหน้าที่ในฐานะที่เป็นทฤษฎีสร้างบูรณาการระหว่างประเทศ ได้ช่วยอธิบายให้เราได้ทราบว่าวิวัฒนาการของฉันทามติระหว่างชาติต่างๆจะสามารถทำให้ชาติต่างๆเหล่านี้เคลื่อนไหวไปสู่ความร่วมมือในระดับสูงยิ่งขึ้นได้ พวกที่ยึดคติการหน้าที่บอกว่า ผลสุดท้ายของกระบวนการนี้ก็อาจจะมีการจัดตั้งรัฐบาลโลกที่อิงอาศัยหลักการที่หน่วยต่างๆทำหน้าที่สอดประสานซึ่งกันและกัน ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว เมื่อฐานของความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมขยายตัวออกไปแล้ว ก็อาจจะเกิดเป็นผลพลอยได้ คือสิ่งที่จะส่งเสริมให้มีการสร้างประชาคมทางการเมืองขึ้นมาได้ ทฤษฎีคติการหน้าที่นี้พวกนักปราชญ์นำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์บูรณาการทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในระบบรัฐในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้อย่างกว้างไกล

Political Community : International Organization

ประชาคมทางการเมือง : องค์การระหว่างประเทศ

การตกลงอย่างเป็นทางการที่มีความรับผิดชอบนอกเขตพรมแดนแห่งชาติ โดยจะมีข้อกำหนดให้ทำการจัดตั้งกลไกทางสถาบันเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับความร่วมมือกันระหว่างหมู่สมาชิก ในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม หรือด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง องค์การระหว่างประเทศในสมัยใหม่ต่างๆ ซึ่งเริ่มปรากฏขึ้นมาเมื่อกว่าหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมาในระบบรัฐแบบตะวันตก ได้เฟื่องฟูขึ้นมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งถือได้ว่าเป็นยุคแห่งความร่วมมือระหว่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศที่มีบทบาทกระฉับกระเฉงอยู่ในปัจจุบันมี 2 แบบ คือ (1) องค์การที่ตกลงจัดตั้งขึ้นมาโดยภาครัฐบาลระหว่าง 2 รัฐขึ้นไป(ไอจีโอ) และ(2) องค์การที่จัดตั้งขึ้นมาโดยภาคเอกชนที่ประกอบด้วยเอกชนหรือคณะเอกชนที่เรียกว่า องค์การที่มิใช่ตัวแทนของภาครัฐบาล(เอ็นจีโอ) องค์การที่จัดตั้งโดยภาครัฐบาล ได้แก่ (1) องค์การทางการเมืองในระดับโลก(สันนิบาตชาติ และสหประชาชาติ) (2) องค์การรวมกลุ่มระดับภูมิภาค (เช่น องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ(นาโต) องค์การนานารัฐอเมริกา(โอเอเอส) สันนิบาตอาหรับ) (3) สหภาพระหว่างประเทศที่จัดตั้งโดยภาครัฐบาล( สหภาพไปรษณีย์สากล และองค์การอนามัยโลก(ดับเบิลยูเอชโอ) ส่วนองค์การระหว่างประเทศของภาคเอกชนนั้น ได้แก่ โรตารีระหว่างประเทศ สมาพันธ์สหภาพการค้าเสรีระหว่างประเทศ และองค์การกาชาดสากล เป็นต้น

ความสำคัญ ในโลกปัจจุบันมีองค์การระหว่างประเทศอยู่หลากหลายชนิดและมีสถาบันระหว่างประเทศที่มีบูรณาการอยู่ในระดับที่แตกต่างกัน แต่ก็เป็นการยากที่จะประเมินได้ว่าสถาบันเช่นนั้นเช่นนี้มีคุณูปการต่อสันติภาพ ต่อความเข้าใจกันระหว่างประเทศ และต่อความมั่งคั่งไพบูลย์ในระดับนั้นระดับนี้ นักวิพากษ์วิจารณ์มีแนวโน้มว่าจะมีทัศนะแยกออกเป็นสองอย่าง คือ กลุ่มหนึ่งนิยมให้ใช้แนวทางยืนอยู่บนลำแข้งของตนเองในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติและต้องการให้มีความยืดหยุ่นแห่งชาติมากขึ้นในกิจการทางเศรษฐกิจและทางสังคม ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก็เห็นว่าองค์การระหว่างประเทศไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลและได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งสหภาพที่เข้มแข็งกว่าในรูปแบบของข้อตกลงแบบสหพันธ์เดี่ยวหรือหลายสหพันธ์ พวกที่ให้การสนับสนุนองค์การระหว่างประเทศได้ยืนยันว่า การมีองค์การระหว่างประเทศเป็นวิธีที่จะทำให้รัฐสามารถบรรลุวัตถุประสงค์หลายอย่างได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นองค์การแบบใดความร่วมมือที่จำเป็นต่อการสร้างผลที่เป็นประโยชน์จะมีมากน้อยขนาดใดนั้นก็จะขึ้นอยู่กับระดับของผลประโยชน์ร่วมระหว่างหมู่สมาชิกเป็นประการสำคัญ

Political Community : Nongovernmental Organization(NGO)

ประชาคมทางการเมือง: องค์การที่มิใช่ภาครัฐบาล(เอ็นจีโอ)

องค์การระหว่างประเทศของภาคเอกชน ที่ทำหน้าที่เป็นกลไกสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มเอกชนแห่งชาติต่างๆในกิจการระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านวัฒนธรรม ด้านมนุษยธรรม และด้านเทคนิค ภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติ(ข้อ 77) ได้ให้อำนาจแก่คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมสหประชาชาติได้ดำเนินการตามความเหมาะสมเพื่อให้มีการปรึกษาหารือกับองค์การที่มิใช่ภาครัฐบาลต่างๆในเรื่องที่อยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบของตน องค์การที่มิใช่ภาครัฐบาล(เอ็นจีโอ) นี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สมาคมข้ามชาติ

ความสำคัญ องค์การที่มิใช่ภาครัฐบาลหรือเอ็นจีโอนี้มีบทบาทอย่างเข้มแข็งในกิจการระหว่างประเทศเป็นเวลานานหลายปีมาแล้ว บางองค์การมีบทบาทมานานมากกว่าหนึ่งศตวรรษ ในโลกปัจจุบันนี้องค์การที่มีบทบาทแข็งขันมีจำนวนนับพันองค์การ และมีมากกว่า 300 องค์การที่ได้ทำการตกลงรับเป็นที่ปรึกษาของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม ตัวอย่างขององค์การเอ็นจีโอเหล่านี้ ได้แก่ สมาคมผู้บริโภค สมาคมผู้ผลิต กลุ่มทางศาสนา องค์การครู สมาคมผู้ประกอบอาชีพทางกฎหมาย สมาคมผู้ประกอบอาชีพแพทย์ ฯลฯ

Political Community: Regionalism

ประชาคมทางการเมือง : ภูมิภาคนิยม

แนวความคิดที่ว่าประชาชาติที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เดียวกันหรือมีผลประโยชน์ร่วมกันก็สามารถมาร่วมกันทำการจัดตั้งองค์การที่มีสมาชิกจำกัดอยู่เฉพาะในภูมิภาคเพื่อแก้ไขปัญหาทางทหาร ทางการเมือง และทางการปฏิบัติหน้าที่ ภูมิภาคนิยมเป็นแนวทางมัชฌิมาปฏิปทาที่จะใช้แก้ปัญหาที่อยู่ระหว่างแนวทางสุดโต่งสองข้างคือคตินิยมพึ่งตนเองกับคตินิยมสากล ในกฎบัตรสหประชาชาติได้สนับสนุนให้มีภูมิภาคนิยมนี้เพื่อช่วยเสริมให้องค์การโลกสามารถบรรลุวัตถุประสงค์และทำกิจกรรมต่างๆได้ แต่ก็ได้กำหนดไว้ว่า การกระทำขององค์การในระดับภูมิภาคทั้งหลายทั้งปวงจะต้องให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และหลักการของสหประชาชาติ องค์การระดับภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ (1) องค์การในระบบพันธมิตรทางทหาร เช่น องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ(นาโต) และองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (2) องค์การทางเศรษฐกิจ เช่น ประชาคมยุโรป สมาคมการค้าเสรียุโรป(เอฟตา) เบเนลักซ์ สมาคมบูรณาการละตินอเมริกา(แอลเอไอเอ) ตลาดร่วมอเมริกากลาง สภาความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจร่วมกัน(โคมีคอน) และ (3) องค์การทางการเมือง เช่น องค์การนานารัฐอเมริกา(โอเอเอส) สภายุโรป สันนิบาตอาหรับ และองค์การเอกภาพแอฟริกา(โอเอยู)

ความสำคัญ การที่องค์การที่มีสมาชิกจำกัดอยู่เฉพาะในภูมิภาคมีความเจริญเติบโตขึ้นมามากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี้ ก็สืบเนื่องมาจากได้มีการเน้นย้ำให้มีการสร้างบูรณาการในระดับภูมิภาคขึ้นมาเพื่อใช้เป็นแนวทางให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ทางผลประโยชน์แห่งชาติ บทบาทของพันธมิตรในระดับภูมิภาคได้กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากในช่วงเวลานี้ ว่าเป็นการนำเอาระบบดุลอำนาจต่างๆมาใช้แทนระบบความมั่นคงร่วมกันแห่งสหประชาชาติ นักสังเกตการณ์มีทัศนะแตกต่างกันในประเด็นที่ว่า การรวมกลุ่มทางทหารก่อให้เกิดภัยคุกคามของสงครามหรือว่าก่อให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลต่อการธำรงสันติภาพหรือความมั่นคงกันแน่ ในกรณีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธีก็ได้มีการโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกิดขึ้นระหว่างพวกที่ให้การสนับสนุนการแก้ไขข้อพิพาทในระดับภูมิภาค กับอีกพวกหนึ่งที่สนับสนุนให้นำเรื่องที่เกิดพิพาทกันนั้นส่งไปให้สหประชาชาติพิจารณา ยกตัวอย่างเช่น ข้อขัดแย้งทางกฎหมายที่เกิดขึ้นระหว่างองค์การนานารัฐอเมริกากับสหประชาชาติในระหว่างที่เกิดวิกฤติการณ์คิวบา วิกฤติการณ์โดมินิกัน วิกฤติการณ์นิคารากัว วิกฤติการณ์เอลซัลวาดอร์ และวิกฤติการณ์กัวเตมาลา องค์การที่ทำหน้าที่ในระดับภูมิภาคได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมาก ดังนั้นก็จึงทำให้ภูมิภาคนิยมนี้มีความเจริญเติบโตขึ้นมามาก แต่การกีดกันทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างกลุ่มที่แข่งขันกันก็อาจจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มที่จะให้มีการค้าเสรีมากยิ่งขึ้นได้ ในทางจิตวิทยานั้นบุคคลมีแนวโน้มที่จะให้การสนับสนุนการรวมกลุ่มในแบบที่มีสมาชิกจำกัดเฉพาะในภูมิภาคนี้ยิ่งกว่าจะให้การสนับสนุนแก่องค์การระดับโลกที่อยู่ไกลตัว ภูมิภาคนิยมนี้อาจจะเป็นแนวทาง”ค่อยเป็นค่อยไป”ที่สามารถนำมาใช้สร้างประชาคมระหว่างประเทศและสหพันธ์ทางการเมืองที่มีขอบเขตรับผิดชอบเหนือประชารัฐได้

Political Community : Supranationalism

ประชาคมทางการเมือง:อำนาจเหนือชาติ

อำนาจขององค์การระหว่างประเทศที่ใช้ในการตกลงใจโดยยึดคะแนนเสียงข้างมาก ซึ่งจะมีผลผูกพันรัฐสมาชิกหรือพลเมืองของรัฐสมาชิกทั้งปวง อำนาจเหนือชาตินี้เป็นการโอนอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยสั่งการในขอบเขตที่กำหนดจากหน่วยย่อยต่างๆไปให้แก่หน่วยกลาง มวลสมาชิกจะต้องยอมรับการตัดสินใจของอำนาจเหนือชาตินี้ มิฉะนั้นแล้วก็จะต้องถอนตัวออกจากระบบไป การตัดสินใจนี้อาจกระทำโดยตัวแทนของรัฐบาลที่เป็นสมาชิกหรือโดยสถาบันที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยรวมขององค์การระหว่างประเทศนั้นๆ อำนาจเหนือชาตินี้จะมีผลให้มีการจัดตั้งระบบสหพันธ์จำกัดเฉพาะในภูมิภาคขึ้นมาโดยมีการแบ่งปันอำนาจระหว่างสองระดับนี้

ความสำคัญ อำนาจเหนือชาติจะมีขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อรัฐต่างๆสมัครใจมอบอำนาจอธิปไตยของตนให้แก่สถาบันกลาง แต่อำนาจเหนือชาตินี้ได้รับการสนับสนุนน้อยในโลกที่ประกอบด้วยรัฐเอกราชและมีอธิปไตยที่ผู้นำมีความหวั่นเกรงว่าตนจะสูญเสียเอกสิทธิ์ในการวินิจฉัยสั่งการไป คณะกรรมาธิการประชาคมยุโรปเป็นตัวอย่างของสถาบันเหนือชาติที่สามารถริเริ่มนโยบาย ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารและตกลงใจในขอบเขตกำหนดที่จะมีผลต่อมวลรัฐสมาชิกตลอดจนกลุ่มและบุคคลภาคเอกชนต่างๆ คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติมีลักษณะที่ไม่เหมือนกับองค์การชำนัญพิเศษอื่นๆของสหประชาชาติ คือเป็นองค์การมีอำนาจภายใต้กฎบัตรให้สามารถตัดสินใจใช้อำนาจเหนือชาติในเรื่องของสันติภาพและความมั่นคงที่มีผลผูกพันต่อสมาชิกทั้งหลายได้ คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติได้ใช้อำนาจนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น คือ ในตอนคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจภาคบังคับกับประเทศโรดีเซียเมื่อปี ค.ศ. 1966

Political Community : World Government

ประชาคมทางการเมือง : รัฐบาลโลก

แนวความคิดที่จะให้มีหน่วยทางการเมืองในระดับโลกมาประกันสันติภาพและความมั่นคง โดยให้มีอำนาจหน้าที่เหนือระบบรัฐ ผู้ที่ให้การสนับสนุนในเรื่องรัฐบาลโลกนี้ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ควรจะได้จัดตั้งสหพันธรัฐอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา โดยให้สหพันธรัฐนี้มีอำนาจหน้าที่อยู่ที่ส่วนกลางที่ได้รับมอบอำนาจมาเป็นการเฉพาะ ในขณะเดียวกันอำนาจของรัฐที่ยังเหลืออยู่นั้นก็ยังคงอยู่กับหน่วยย่อยนั้นๆต่อไป กฎหมายโลกที่นำมาบังคับใช้กับทุกคนทั่วทั้งโลกก็จะมาจากรัฐบาลกลางของโลก องค์การที่ให้การสนับสนุนอย่างเข้มแข็งต่อแนวความคิดของรัฐบาลโลกนี้ คือ องค์การสหพันธรัฐโลก(ยูไนเต็ดเวิลด์เฟดเดอรัลลิสต์)

ความสำคัญ ผู้ที่สนับสนุนให้มีรัฐบาลโลกนี้แยกออกได้เป็น 2 พวก คือ (1) พวกที่เชื่อว่าการจัดตั้งระบบสหพันธ์โลกเป็นความเร่งด่วนในระดับต้นๆ และ (2) พวกที่ถือว่าควรจะปล่อยให้มีวิวัฒนาการอย่างค่อยเป็นค่อยไปเป็นประชาคมโลกที่ตั้งอยู่บนรากฐานของค่านิยมและเป้าหมายร่วมกันให้ได้ก่อนจะมีโครงสร้างทางการเมือง ผู้ที่สนับสนุนให้มีรัฐบาลโลกยังได้อ้างประสบการณ์ของอเมริกาที่ใช้ระบอบการปกครองแบบสหพันธรัฐนี้ โดยบอกว่าควรจะได้ลอกเลียนแบบระบบนี้มาใช้ในระดับโลกบ้าง แต่ปัญหาในแง่ปฏิบัติที่ว่าทำอย่างไรถึงจะได้ฉันทามติในหมู่รัฐ 180 กว่ารัฐที่ยินยอมให้มีการจัดตั้ง”อำนาจเหนือชาติ” ซึ่งจะเป็นเหตุให้ขจัดอำนาจอธิปไตยของแต่ละรัฐในเรื่องสำคัญๆออกไป ยังได้รับคำตอบไม่เป็นที่น่าพ่อใจนัก ข้อเสนอให้มีการลดกำลังรบหลายครั้งที่เสนอโดยมหาอำนาจนั้น หากเป็นจริงขึ้นมาได้ก็จะทำให้เกิดรัฐบาลโลกที่มีอำนาจจำกัดรูปแบบหนึ่งขึ้นมาทำหน้าที่เป็นหลักประกันว่าจะมีการปฏิบัติตามข้อตกลงโดยจะมีองค์กรระหว่างประเทศองค์กรหนึ่งมาทำหน้าที่ตรวจสอบและบังคับใช้ให้เป็นไปตามข้อตกลง สนธิสัญญากฎหมายทะเลฉบับที่ 3 (ค.ศ. 1982) มีข้อกำหนดให้จัดตั้งองค์การท้องทะเลระหว่างประเทศมาทำหน้าที่ใช้อำนาจเหนือชาติในควบคุมการขุดค้นทรัพยากรอันมั่งคั่งจากท้องทะเลของมหาสมุทรโลก

Regional Economic Group : Amazon Pact

กลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค: กติกาสัญญาอะเมซอน

สนธิสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประสานงานการพัฒนาลุ่มแม่น้ำอะเมซอนและเพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อมในภูมิภาค โดยการใช้ทรัพยากรต่างๆอย่างมีเหตุผล ภาคีของกติกาสัญญาอะเมซอนปี ค.ศ.1978 ประกอบด้วย โบลิเวีย บราซิล โคลัมเบีย เอกวาดอร์ กายอานา เปรู ซูรินาเม และเวเนซุเอลา สนธิสัญญามีบทบัญญัติดังนี้ คือ (1) ให้ใช้ทรัพยากรน้ำในภูมิภาคด้วยความระมัดระวัง (2) ให้แต่ละภาคีมีสิทธิพัฒนาดินแดนลุ่มแม่น้ำอะเมซอนในส่วนของตนได้แต่ต้องไม่ให้ส่งผลกระทบต่อดินแดนในส่วนของภาคีอื่นๆ (3) ให้สามารถสัญจรทางเรือได้โดยอิสระตามลำน้ำต่างๆในภูมิภาค (4) ให้มีการปรับปรุงสุขอนามัยและสร้างโครงสร้างขั้นพื้นฐานทางการขนส่งและการคมนาคมได้ (5) ให้การสนับสนุนในการดำเนินความพยายามในการวิจัยร่วมกัน และ(6) ให้การสนับสนุนการท่องเที่ยว คณะมนตรีความร่วมมืออะเมซอนอันประกอบด้วยรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกแต่ละประเทศจะประชุมกันทุกปีเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของสนธิสัญญาและเพื่อพัฒนานโยบายและโครงการต่างๆ

ความสำคัญ กติกาสัญญาอะเมซอนนี้เป็นตัวอย่างที่สำคัญยิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ประชาชาติที่มีเอกราชต่างๆซึ่งอยู่ในภูมิภาคทางภูมิศาสตร์เดียวกัน ถึงแม้ว่าจะมีระบบการเมืองและระบบสังคมแตกต่างกัน ก็สามารถร่วมมือเพื่อจัดการแก้ปัญหาทางด้านนิเวศวิทยาและการพัฒนาร่วมกันได้ ถึงแม้ว่ากติกาสัญญาอะเมซอนนี้จะเป็นกลุ่มเหนือชาติที่ไม่มีอิทธิพลและมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากนัก แต่การที่กลุ่มสามารถประสานความร่วมมือกันได้นี้แสดงให้เห็นว่า ปัญหาบางอย่างสามารถดำเนินการแก้ไขโดยอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐได้ แต่ทั้งนี้แต่ละรัฐจะต้องไม่ทำการใดๆอันเป็นการขัดแย้งกับเจตจำนงของกลุ่ม วัตถุประสงค์หลักของกติกาสัญญาอะเมซอน กล่าวคือ ให้ยุติการใช้ทรัพยากรลุ่มแม่น้ำอะเมซอนที่จะเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศวิทยาอย่างไม่มัญญะมัญญังนั้นยังไม่บรรลุถึงได้ แต่ก็มีการกระทำที่คืบหน้าไปพอสมควร ยิ่งไปกว่านั้นแล้วการแข่งขันระหว่างชาติในการเปิดพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลนี้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจก็ได้ลดน้อยลงไป กติกาสัญญาอะเมซอนมีคุณค่าทั้งในด้านปฏิบัติและด้านสัญลักษณ์ ซึ่งคุณค่าทั้งสองอย่างนี้มีคุณูปการต่อการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างภาคีของกติกาสัญญาฉบับนี้ได้

Regional Economic Group : Andean Common Market

กลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค : ตลาดร่วมแอนดีน

กลุ่มเศรษฐกิจที่จัดตั้งขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1969 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงอำนาจต่อรองภายในสมาคมการค้าเสรีละตินอเมริกา(แลปตา) และเพื่อส่งเสริมการค้าและการพัฒนา สมาชิกของกลุ่มตลาดร่วมแอนดีนประกอบด้วย โบลิเวีย โคลัมเบีย เอกวาดอร์ เปรู และเวเนซุเอลา ประเทศซิลีเคยเป็นสมาชิกแรกเริ่มแต่ได้ถอนตัวออกไปเมื่อปี ค.ศ. 1976 ประชาชาติเหล่านี้มีความวิตกที่บูรณาการทางเศรษฐกิจภายในแลปตาเป็นไปอย่างเชื่องช้าจึงได้มาบรรลุข้อตกลงกันจัดตั้งตลาดร่วมเพื่อให้เป็นหนทางสร้างความเข้มแข็งแก่แลปตา วัตถุประสงค์ของกลุ่มตลาดร่วมแอนดีนมีดังนี้ คือ (1) ขจัดอุปสรรคทางการค้าในหมู่สมาชิกโดยจัดตั้งตลาดร่วม (2) กำหนดพิกัดอัตราศุลกากรภายนอกร่วมกัน(3) ส่งเสริมให้มีการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมโดยใช้ระบบการชำนาญเฉพาะด้านด้วยวิธีมอบหมายสิทธิในอุตสาหกรรมแต่ละอย่างระหว่างหมู่สมาชิก (4) ให้การผ่อนปรนเป็นพิเศษแก่สมาชิกที่ฐานะไม่ดี และ(5) ขยายการควบคุมบรรษัทนานาชาติที่ปฏิบัติงานอยู่ในตลาดร่วม กลุ่มตลาดร่วมแอนดีนได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการผสมขึ้นมาคณะหนึ่ง มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลิมาประเทศเปรู มาทำหน้าที่เป็นองค์กรสูงสุดโดยมีคณะมนตรีและคณะกรรมาธิการผู้เชี่ยวชาญให้ความช่วยเหลือในการตกลงใจขององค์กร นอกจากนี้แล้วบรรษัทพัฒนาที่มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่โครงการพัฒนาก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางสถาบันอีกด้วย

ความสำคัญ ตลาดร่วมแอนดีนมีกำเนิดขึ้นมาในตอนเริ่มแรกโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทางแก้ไขภาวะชะงักงันขององค์การแลปตา ประชาชาติในกลุ่มแอนดีนมีข้อแตกต่างจากกลุ่มทางเศรษฐกิจสำคัญอีก 2 กลุ่มในละตินอเมริกา กล่าวคือ กลุ่มแลปตาและกลุ่มตลาดร่วมอเมริกากลาง ตรงที่กลุ่มแอนดีนปฏิเสธการค้าเสรีและเศรษฐกิจแบบการตลาด แต่นิยม”การวางแผนจากส่วนกลาง” “เศรษฐกิจโดยการชี้นำ” และ”การร่วมมือในระดับภูมิภาค” โดยถือว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการสร้างความทันสมัย มีการขจัดภาษีศุลกากรทั้งปวงภายในตลาดร่วมและมีการกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรภายนอกร่วมกัน กลุ่มแอนดีนถึงแม้จะประสบกับความลำบากแต่ก็ยังทำงานอยู่ในแลปตาได้ต่อไปแม้ว่าจะต้องขัดแย้งกับสมาชิกประเภทอนุรักษนิยมของแลปตาก็ตาม

Regional Economic Group : Asian and Pacific Council (ASPAC)

กลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค:คณะมนตรีเอเชียและแปซิฟิก(แอสแพค)

องค์การในระดับภูมิภาคที่จัดตั้งขึ้นมาในปี ค.ศ. 1966 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมระหว่างสมาชิก สมาชิกของแอสแพคจะไม่เหมือนองค์การในระดับภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่ คือ จะมีแต่ประชาชาติเอเชียเท่านั้น กล่าวคือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และไทย ชาติที่ริเริ่มให้มีการจัดตั้งแอสแพคคือเกาหลีใต้ การประชุมของแอสแพคจะจัดขึ้นทุกปีตามเมืองใหญ่ๆของหมู่รัฐสมาชิก ในระหว่างที่ยังไม่มีการประชุมใหญ่นั้น เอกอัครราชทูตของรัฐสมาชิกที่ประจำอยู่ที่ประเทศไทย จะประชุมกันทุกเดือนที่กรุงเทพมหานคร โดยทำหน้าที่เป็นคณะกรรมาธิการสามัญ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยเป็นประธาน นอกจากนี้แล้วประเทศไทยก็ยังเป็นที่ตั้งสำนักเลขาธิการของแอสแพคนี้อีกด้วย

ความสำคัญ ถึงแม้ว่าสมาชิกของคณะมนตรีเอเชียและแปซิฟิกจะต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเปิดเผยทั้งในด้านดำเนินนโยบายและในการสนับสนุนนโยบายของสหรัฐอเมริกาในเอเชีย แต่แอสแพคประกาศว่าตนเป็นองค์การที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทหาร ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และไม่ติดยึดในอุดมการณ์ทางการเมือง ได้เคยพยายามที่จะดึงอินเดียเข้ามาเป็นสมาชิกแต่ไม่ประสบความสำเร็จ แอสแพคได้ออกประกาศและแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องที่ให้ความสนใจร่วมกัน ตัวอย่างเช่น ได้ออกแถลงการณ์ประณามการทดลองนิวเคลียร์ในพื้นที่เอเชียแปซิฟิก โครงการส่วนใหญ่ที่จัดตั้งขึ้นมาหรือที่อยู่ภายใต้การพิจารณาของแอสแพคนี้จะเกี่ยวข้องกับความพยายามร่วมกันที่จะแก้ไขปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจ

Regional Economic Group : Association of Southeast Asian Nations(ASEAN)

กลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค : สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน)

องค์การในระดับภูมิภาคที่จัดตั้งขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1967 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเติบโตทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางสังคมและการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมาชิกของกลุ่มอาเซียนประกอบด้วย(1)อินโดนีเซีย (2)มาเลเซีย (3)ฟิลิปปินส์ (4) สิงคโปร์ (5)ไทย (6)บรูไน (7)ลาว (8)เวียดนาม (9)กัมพูชา และ(10)พม่า องค์การในระดับภูมิภาคแห่งนี้ขยายตัวเองจาก สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาสา) ที่จัดตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1961 โดยมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย

ความสำคัญ การจัดตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นมานี้ เป็นความพยายามที่จะพัฒนาวิธีการของเอเชียเพื่อแก้ปัญหาของเอเชียด้วยการจัดองค์การร่วมมือกันขึ้นมา ประกอบด้วยประชาชาติในภูมิภาคเอเชียส่วนนี้ทั้งหมด แม้ว่าแถลงการณ์ในการจัดตั้งสมาคมนี้ส่วนใหญ่จะมุ่งความสนใจไปที่ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ในส่วนที่เป็นคำปรารภได้ยืนยันว่า ฐานทัพต่างชาติทั้งหลายทั้งปวงในภูมิภาคนี้ ”ให้มีได้เป็นการชั่วคราว และให้คงอยู่ได้โดยความยินยอมของประเทศที่เกี่ยวข้องเท่านั้น” ถึงแม้ว่าอาเซียนจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจและทางสังคมได้แต่เพียงบางส่วน แต่ก็เป็นสมาคมทางการเมืองที่มีพลวัตรมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้ เมื่อทศวรรษปี 1980 อาเซียนเข้าไปพัวพันกับผลทางการเมืองระหว่างประเทศอันสืบเนื่องมาจากเวียดนามรุกรานกัมพูชา กลุ่มอาเซียนได้ดำเนินโครงการต่างๆโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงการท่องเที่ยว การขนส่งสินค้าทางเรือ การประมง และการค้า แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด อาเซียนเป็นสถานที่ประชุมถกแถลงกันในเรื่องต่างๆ เป็นต้นว่า เรื่องการจัดตั้งประชาคมแปซิฟิกในอนาคต เมื่อปี ค.ศ. 1980 อาเซียนและประชาคมยุโรปได้ลงนามในข้อตกลงร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมการเพิ่มพูนทางการค้าระหว่างสมาชิกของทั้งสองกลุ่มนี้

Regional Economic Group : Benelux

กลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค : เบเนลักซ์

ข้อตกลงทางสหภาพศุลกากรระหว่างเบลเยียม ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้า ทำการจัดตั้งพิกัดอัตราศุลกากรภายนอกให้เป็นอย่างเดียวกัน และส่งเสริมสหภาพเศรษฐกิจระหว่างสามชาตินี้ ข้อตกลงที่ได้ลงนามกันที่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1948 นี้ได้ทำการขจัดพิกัดอัตราศุลกากรภายในส่วนใหญ่ และได้กำหนดพิกัดอัตราศุลกากรภายนอกร่วมกัน สนธิสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในนโยบายการคลังและการเงินของทั้งสามชาติโดยการจัดตั้งสหภาพทางเศรษฐกิจขึ้นมานี้ ได้มีผลบังคับใช้เมื่อปี ค.ศ. 1960 ประเทศในกลุ่มเบเนลักซ์ยังได้ตกลงกันด้วยว่าจะเจรจาและเข้าร่วมในสนธิสัญญาและข้อตกลงทางเศรษฐกิจและการค้าเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน โดยจะไม่แยกตัวไปลงนามสนธิสัญญาของแต่ละชาติ องค์การเบเนลักซ์ประกอบด้วย (1) การประชุมร่วมของคณะรัฐมนตรี (2) คณะมนตรีสหภาพเศรษฐกิจ (3) คณะมนตรีการบริหารว่าด้วยอากรศุลกากร (4) คณะมนตรีการบริหารที่ทำหน้าที่ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจต่างประเทศร่วมกันต่อรัฐอื่นๆ และ (5) สำนักเลขาธิการโดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ประเทศเบลเยียม

ความสำคัญ เบเนลักซ์ยังไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างบูรณาการทางเศรษฐกิจระหว่างกันได้อย่างเต็มที่ แต่ก็ได้ดำเนินการก้าวหน้าไปได้มากพอสมควร อย่างไรก็ดีเบเนลักซ์ได้ถูกบดบังโดยประชาคมยุโรป(อีซี) ที่มีกรอบการทำงานกว้างขวางกว่าในการสร้างบูรณาการ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีประโยชน์เพราะสามารถรวมอำนาจต่อรองของสมาชิกสามชาติเล็กๆของประชาคมยุโรปเข้าด้วยกันเพื่อต่อรองกับสมาชิกชาติใหญ่ๆ กล่าวคือ ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ อิตาลี และสเปน แต่อุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการสร้างบูรณาการของเบเนลักซ์มิให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างเต็มที่ก็คือ การประสานนโยบายของเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ เพราะนโยบายทางเศรษฐกิจของเบลเยียมเป็นแบบเสรีนิยม ส่วนนโยบายทางเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์เป็นแบบมีการชี้นำกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางจากภาครัฐบาล อย่างไรก็ดีกลุ่มเบเนลักซ์ได้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตระบบเดียวกัน และใช้พิกัดอัตราศุลกากรแบบเดียวกันในกรณีที่เป็นสินค้าเข้าจากชาตินอกกลุ่มอีซี อีกทั้งยังได้ลงนามในข้อตกลงทางการค้าและการย้ายถิ่นฐานที่เป็นแบบเดียวกันกับประเทศนอกกลุ่มอีซี

Regional Economic Group : Carribbean Community and Common Market(CARICOM)

กลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค : ประชาคมและตลาดร่วมคาร์ริบเบียน(ซีเออาร์ไอซีโอเอ็ม หรือ คาริคอม)

กลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่จัดตั้งขึ้นมาโดยสนธิสัญญาชากัวรามัสปี ค.ศ. 1973 โดยได้กำหนดให้จัดตั้งสหภาพศุลกากรที่มีการค้าเสรีระหว่างหมู่สมาชิก และให้กำหนดพิกัดอัตราศุลกากรภายนอกเป็นอย่างเดียวกัน ตลอดจนให้มีการประสานนโยบายเศรษฐกิจภายในของหมู่สมาชิก วัตถุประสงค์ของกฎบัตรประชาคมและตลาดร่วมคาร์ริบเบียนที่เป็นหลักๆมีดังนี้ คือ (1) ให้การพัฒนาในหมู่สมาชิกมีสมดุลมากที่สุด (2) ให้บรรลุถึงการสร้างบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับสูงสุดให้ได้ (3) ให้พัฒนาสถานะการมีอำนาจต่อรองร่วมกันเมื่อติดต่อสัมพันธ์กับกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคกลุ่มอื่นๆ และ (4) ให้การส่งเสริมการคุ้มครองสินค้าเข้าโดยใช้นโยบายปกป้องร่วมกันทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ส่งเสริมอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมในท้องถิ่น ประชาคมและตลาดร่วมคาร์ริบเบียนอุบัติขึ้นมาเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของ สมาคมการค้าเสรีคาร์ริบเบียน(ซีเออาร์ไอเอฟทีเอ) สมาชิกของประชาคมและตลาดร่วมคาร์ริบเบียนประกอบด้วย (1) รัฐเอกราชในคาบสมุทรคาร์ริบเบียน (2) รัฐกึ่งเอกราชโดยที่ยังขึ้นอยู่กับอังกฤษ และ (3) ดินแดนอาณานิคมอีกหลายแห่ง อย่างไรก็ดีดินแดนที่ยังไม่มีอธิปไตยเหล่านี้ต่างอยู่ในระหว่างการเคลื่อนไหวเพื่อให้มีเอกราชอย่างเต็มที่ มวลสมาชิกมีการจัดแบ่งเพื่อวัตถุประสงค์ในการวินิจฉัยสั่งการเป็น 2 ประเภท คือ (1) ประเทศที่มีการพัฒนามากแล้ว(เอ็มดีซี) คือ รัฐที่มีเอกราช ได้แก่ บาฮามาส บาร์เบโดส กายอานา จาเมกา ตรินิแดดและโตเบโก (2) ประเทศที่พัฒนาน้อย(แอลดีซี) ได้แก่ อัลติกัวและบาร์บูดา เบลีซ โดมินิกา เกรนาดา มอนต์เซอร์รัต เซนต์คริสโตเฟอร์และเนวิส เซนต์กิตส์ เซนต์ลูเซีย เซนต์วินเซนต์ และเกรนาดีนส์ ประชาคมและตลาดร่วมคาร์ริบเบียนมีการทำงานโดยผ่านทางสำนักงานใหญ่การประชุมร่วมรัฐบาล(เอชซีจี) ทำหน้าที่เป็นองค์การปกครองกลาง นอกจากนี้แล้วก็ยังใช้คณะมนตรีตลาดร่วม(ซีเอ็มซี) มาทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่สำนักงานใหญ่การประชุมร่วมรัฐบาล(เอชจีซี) กับมีสำนักเลขาธิการประชาคมคาร์ริบเบียนทำหน้าที่ให้กับประชาคมตลาดร่วมคาร์ริบเบียนแห่งนี้ และให้กับสมาคมการค้าเสรีคาร์ริบเบียนไปพร้อมๆกัน นอกจากนี้แล้วก็ยังมีองค์กรสนับสนุนต่างๆมาให้ความช่วยเหลือประชาคมและตลาดร่วมคาร์ริบเบียนให้สามารถทำงานก้าวหน้าไปได้ ทั้งนี้รวมทั้งธนาคารพัฒนาคาร์ริบเบียน และก็ยังมีโครงการริเริ่มพัฒนาคาบสมุทรคาร์ริบเบียนอันเป็นโครงการของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในสมัยประธานาธิบดีเรแกนได้ให้การส่งเสริมสนับสนุนการค้าและการพัฒนาโดยผ่านทางการลงทุนของภาคเอกชนและนโยบายพิกัดอัตราศุลกากรเสรี

ความสำคัญ ประชาคมและตลาดร่วมคาร์ริบเบียนได้ใช้เวลาเดินทางที่ยาวไกลเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายของกฎบัตรขั้นพื้นฐานของตน เมื่อเป็นเช่นนี้ประชาคมฯจึงสามารถเป็นแม่แบบให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่มโลกที่สามอื่นๆที่กำลังแสวงหาทางที่จะฟันฝ่าอุปสรรคไปสู่ทางแห่งความทันสมัยได้ ประชาคมและตลาดร่วมคาร์ริบเบียนซึ่งใด้ใช้ประชาคมยุโรปเป็นแม่แบบก็ยังคงมุ่งไปข้างหน้าสู่การบูรณาการทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่ก็เป็นการคืบหน้าที่เป็นไปอย่างเชื่องช้า ปัญหาสำคัญที่เป็นตัวขัดขวางมิให้คืบหน้าไปได้อย่างรวดเร็วนั้น ก็คือการขัดแย้งภายในระหว่างกลุ่มประเทศที่พัฒนามากกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อย ทั้งนี้ก็เป็นไปตามหลักของการรวมกลุ่มส่วนใหญ่ กล่าวคือ สมาชิกที่มีฐานะทางเศรษฐกิจเข้มแข็งมีแนวโน้มที่จะผลักดันให้มีเสรีทางการค้ามากขึ้น แต่ข้างฝ่ายสมาชิกที่มีฐานะอ่อนแอทางเศรษฐกิจก็ไม่อยากจะยกเลิกโครงการคุ้มครองของรัฐบาลหลายโครงการเพื่อประโยชน์แก่อุตสาหกรรมและเกษตรกรรมของตนๆ สิ่งที่มาคุกคามประชาคมและตลาดร่วมคาร์ริบเบียนอย่างอื่นๆ ก็คือความขัดแย้งระหว่างสมาชิกเกี่ยวกับบทบาทของการลงทุนจากต่างประเทศ ตลอดจนถึงความขัดแย้งกันเกี่ยวกับประเด็นที่ว่าระหว่างการประกอบการโดยเสรีกับสังคมนิยมอย่างไหนควรจะนำมาใช้เป็นเครื่องมือในอนาคต

Regional Economic Group : Central American Common Market(CACM)

กลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค : ตลาดร่วมอเมริกากลาง(ซีเอซีเอ็ม)

องค์การในระดับภูมิภาค ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในหมู่รัฐสมาชิกโดยผ่านทางสหภาพศุลกากรและโครงการบูรณาการด้านอุตสาหกรรม รัฐในทวีปอเมริกากลาง 5 รัฐ กล่าวคือ คอสตาริกา เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส และนิคารากัว ได้ให้การสัตยาบันสนธิสัญญาบูรณาการทางเศรษฐกิจปี ค.ศ. 1960 ซึ่งสนธิสัญญาฉบับนี้รวมทั้งพิธีสารและข้อตกลงเพิ่มเติมอีกหลายฉบับได้กำหนดให้มีการสร้างบูรณาการทางเศรษฐกิจที่สำคัญภายใต้ข้อเสนอการบูรณาการอุตสาหกรรมเมื่อปี ค.ศ.1958 สมาชิกแต่ละชาติได้รับอนุญาตให้เป็นผู้กำหนดอุตสาหกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่สามารถส่งเข้าไปขายโดยระบบการค้าเสรีที่ไม่มีขอบเขตจำกัดในตลาดของทั้ง 5 ประเทศที่เป็นสมาชิกได้ในช่วงเวลา 10 ปี สมมติฐานของระบบตลาดร่วมมีอยู่ว่า เมื่อมีการเปิดตลาดให้กว้างและให้มีการค้าโดยเสรีขึ้นมาแล้วก็จะไปกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมและการพัฒนาความชำนาญเฉพาะอย่าง ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เพื่อจะให้เงินลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมากไหลเข้ามาสู่ภูมิภาคของตลาดร่วมนั้นๆ การตัดสินใจของตลาดร่วมอเมริกากลางดำเนินการโดยองค์กรต่อไปนี้ (1) คณะมนตรีเศรษฐกิจอเมริกากลางอันประกอบด้วยรัฐมนตรีเศรษฐกิจของชาติสมาชิก ทำหน้าที่พัฒนานโยบายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการสร้างบูรณาการทางเศรษฐกิจ (2) คณะมนตรีฝ่ายบริหาร ทำหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามการตัดสินใจของคณะมนตรีเศรษฐกิจนั้น (3) สำนักเลขาธิการ มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและทางบริหาร โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงกัวเตมาลาประเทศนิการากัว นอกจากนั้นแล้วธนาคารอเมริกากลางเพื่อบูรณาการทางเศรษฐกิจ ก็ยังทำหน้าที่อยู่ในระบบโดยให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่โครงการพัฒนาต่างๆ

ความสำคัญ ตลาดร่วมอเมริกากลางนี้ได้ทำการขจัดอากรศุลกากรออกไปทั้งหมด ทำให้การค้าระหว่างสมาชิกขยายตัวเพิ่มขึ้นมามากในช่วงทศวรรษปี 1960 กับช่วงทศวรรษปี 1970 แนวความคิดในการสร้างตลาดร่วมนี้จะต้องฟันฝ่าฟาดฟันกับการแข่งขันทางชาตินิยมที่ฝังรากลึกมานานนับศตวรรษ และตลาดร่วมแห่งนี้ก็นับได้ว่าประสบความสำเร็จในการสร้างบูรณาการทางเศรษฐกิจได้ในระดับสูงสุดเท่าที่เคยประสบความสำเร็จในละติน อเมริกา ถึงแม้ว่าตลาดร่วมแห่งนี้จะไม่สามารถหาทางลัดไปสู่การพัฒนาได้ก็จริง แต่ก็สามารถดำเนินความก้าวหน้าไปได้มาก สามารถดึงดูดเงินทุนจากสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีในทศวรรษปี 1980 สมาชิกของตลาดร่วมนี้หลายชาติได้เกิดการแตกแยกกันจากกรณีที่ขบวนการคอนคราที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาทำการโจมตีระบอบการปกครองซานดินิสตราของนิการากัว และในกรณีของสงครามกลางเมืองในเอลซัลวาดอร์ ความแตกแยกจากเหตุการณ์เหล่านี้และความแตกแยกทางการเมืองและทางเศรษฐกิจอื่นๆ ได้บั่นทอนความเข้มแข็งของตลาดร่วมแห่งนี้ไปมากพอสมควร

Regional Economic Group : European Free Trade Association (EFTA)

กลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค : สมาคมการค้าเสรียุโรป(เอฟตา)

องค์การในระดับภูมิภาคที่จัดตั้งขึ้นมาโดยอนุสัญญาสตอกโฮล์มปี ค.ศ. 1959 เป็นอนุสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อขจัดพิกัดอัตราศุลกากรและอุปสรรคทางการค้าอื่นๆในหมู่สมาชิก และเพื่อสร้างความกลมกลืนในองค์ประกอบต้นทุนการผลิตภายใน นอกเหนือจากที่ได้กำหนดตารางในการขจัดพิกัดอัตราศุลกากรทางด้านอุตสาหกรรมไว้ในปี ค.ศ. 1970 แล้ว สมาชิกแรกเริ่มของเอฟตา (ออสเตรีย เดนมาร์ก อังกฤษ นอร์เวย์ โปรตุเกส สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์) ได้ตกลงกันที่จะทดลองลดอุปสรรคทางการค้าด้านเกษตรกรรมและการประมงลงเมื่อปี ค.ศ. 1961 เอฟตามีฟินแลนด์เข้ามาร่วมด้วยโดยเป็นสมาชิกสมทบผ่านทางสนธิสัญญาฟินิฟตา ซึ่งกำหนดให้ขยายพื้นที่การค้าเสรีไปถึงฟินแลนด์ ให้มีคณะมนตรีพิเศษทำหน้าที่ขจัดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกของฟินแลนด์ และให้ฟินแลนด์สามารถทำการค้าเป็นพิเศษกับสหภาพโซเวียตได้ ในปี ค.ศ. 1970 ไอซ์แลนด์ได้เป็นสมาชิกประเภทมีอำนาจเต็ม เอฟตามีโครงสร้างทางการจัดการที่ง่ายๆโดยมีคณะมนตรีรัฐมนตรีเป็นประมุข ทำหน้าที่แก้ไขกรณีพิพาท พิจารณาข้อร้องเรียน ให้คำแนะนำแก่รัฐบาลที่เป็นสมาชิก และทำหน้าที่เป็นหน่วยงานในการเจรจาตกลงใจที่สำคัญๆ นอกจากนี้แล้วก็ยังมีคณะกรรมาธิการสามัญประจำ 6 นายทำหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาทางนโยบายแก่คณะมนตรีรัฐมนตรี กับมีสำนักเลขาธิการตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และมีผู้แทนของประเทศสมาชิกเอฟตาประจำอยู่ที่สมัชชาที่ปรึกษาคณะมนตรีแห่งยุโรป โดยจะประชุมกันอย่างไม่เป็นทางการที่เมืองสตราบูกในระหว่างการประชุมประจำปี บทบาทของเอฟตาอ่อนแอลงมากแต่ไม่ถึงกับหมดไปทีเดียวเมื่อสมาชิก 3 ชาติ คือ อังกฤษ และเดนมาร์กเมื่อปี ค.ศ. 1973 และโปรตุเกสเมื่อปี ค.ศ. 1980 ได้ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การคู่แข่ง คือ ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป(อีอีซี) พื้นที่การค้าเสรีที่ครอบคลุมพื้นที่ของสมาชิกอีอีซีและเอฟตาทั้งหมดได้ดำเนินการจัดตั้งโดยข้อตกลงสหภาพศุลกากรปี ค.ศ. 1977

ความสำคัญ เอฟตาซึ่งได้รับสมญานามมาตั้งแต่ต้นว่าเป็นกลุ่ม”เจ็ดรอบนอก”ได้พยายามที่จะมีสถานะมีอำนาจต่อรองกับกลุ่ม”เจ็ดรอบใน”ของตลาดร่วม พิกัดอัตราศุลกากรและอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงของการค้าสินค้าทางอุตสาหกรรมในระหว่างมวลสมาชิกได้ถูกขจัดออกไปทั้งหมด แต่ก็มีความคืบหน้าน้อยในด้านการลดพิกัดอัตราศุลกากรเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ปลาและการเกษตร อนาคตของเอฟตาส่วนใหญ่ก็จะขึ้นอยู่กับความสำเร็จหรือความล้มเหลวของประชาคมเศรษฐกิจยุโรป(อีอีซี) ที่มีอิทธิพลมากกว่า และก็ยังขึ้นอยู่กับว่าประชาชาติในกลุ่มเอฟตาสามารถแข่งขันกับสมาชิกของอีอีซีได้อย่างมีประสิทธิผลหรือไม่

Regional Economic Group : Latin American Integration Association (LAIA)

กลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค : สมาคมบูรณาการละตินอเมริกา(แอลเอไอเอ)

กลุ่มในระดับภูมิภาคที่จัดตั้งขึ้นมาโดยสนธิสัญญาลงนามที่ กรุงมอนเตวิเดโอ ประเทศอุรุกวัยเมื่อปี ค.ศ. 1980 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคโดยการกระทำร่วมกัน สมาคมบูรณาการละตินอเมริกานี้เข้ามาแทนที่สมาคมการค้าเสรีละตินอเมริกา(แลฟตา) ที่ถูกจัดตั้งโดยสนธิสัญญามอนเตวิเดโอปี ค.ศ. 1960 สมาคมบูรณาการละตินอเมริกนี้ในภาษาสเปนเรียกชื่อย่อว่า เอแอลเอดีไอ (ย่อมาจาก Associacion Latinoamericana de Integracion) สมาคมบูรณาการละตินอเมริกามีข้อที่ไม่เหมือนกับแลฟตาตรงที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อขจัดพิกัดอัตราศุลกากรในหมู่ชาติสมาชิกโดยกำหนดวันไว้เป็นการแน่นอน แต่สมาคมบูรณาการละตินอเมริกานี้ต้องการให้มีการผ่อนปรนพิกัดอัตราศุลกากรให้แก่กันโดยยึดหลักฐานะทางเศรษฐกิจของสมาชิกแต่ละชาติ ภายใต้ข้อตกลงใหม่นี้ชาติสมาชิกที่มีฐานะร่ำรวยจะต้องยอมผ่อนปรนให้แก่ชาติสมาชิกที่มีฐานะยากจนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าว สนธิสัญญาการจัดตั้งสมาคมบูรณาการละตินอเมริกาได้แบ่งรัฐผู้ลงนามทั้ง 11 ชาติออกเป็น 3 กลุ่มตามระดับการพัฒนาดังนี้ คือ (1) กลุ่มรัฐที่พัฒนาน้อย (โบลิเวีย เอกวาดอร์ และ ปารากวัย) (2) กลุ่มรัฐที่พัฒนาปานกลาง(ชิลี โคลัมเบีย เปรู อุรุกวัย และ เวเนซุเอลา) และ (3) กลุ่มรัฐพัฒนามาก( อาร์เจนตินา บราซิล และเม็กซิโก)

ความสำคัญ สมาชิกของสมาคมบูรณาการละตินอเมริกา ประกอบด้วยประเทศที่สำคัญมากที่สุดของละตินอเมริกาที่เมื่อเอาประชากรมารวมกันแล้วก็จะมีจำนวนมากถึงสามในสี่ของดินแดนที่อยู่ทางใต้พรมแดนของสหรัฐอเมริกา การจัดตั้งองค์การใหม่ขึ้นมานี้เป็นผลโดยตรงจากความล้มเหลวของแลฟตาที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายคือจัดตั้งพื้นที่เสรีทางการค้าในระดับภูมิภาคได้ การตัดสินใจให้แอลเอไอเอนี้เข้าแทนที่แลฟตามีขึ้นในการประชุมครั้งสุดท้ายขององค์การฯเมื่อปี ค.ศ. 1980 การที่แลฟตาเกิดชะงักงันนั้นก็เป็นผลมาจากปัจจัยต่างๆ เป็นต้นว่า (1) การพัฒนาในหมู่รัฐสมาชิกมีระดับแตกต่างกัน (2) กลุ่มที่มีอิทธิพลมากต้องการคุ้มครองผลผลิตในท้องถิ่น (3) ปัญหาการคมนาคมและการขนส่งในภูมิภาค (4) ระบบเศรษฐกิจขัดแย้งกัน (5) การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจ ที่สมาคมบูรณาการละตินอเมริกามีระบบแบ่งรัฐสมาชิกออกเป็น 3 กลุ่มนี้ก็ด้วยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะแก้ปัญหาบางอย่าง ส่วนการที่องค์การที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่นี้จะสามารถเอาชนะอุปสรรคที่เคยเกิดขึ้นกับแลฟตามาเป็นเวลา 20 ปีที่แลฟตาเกิดขึ้นมาได้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่จะต้องคอยติดตามกันต่อไป สมาชิกของสมาคมบูรณาการละตินอเมริกาหลายชาติมีหนี้สินรุงรังอยู่กับสถาบันการเงินทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนจากประเทศตะวันตก ข้อนี้ก็เป็นการไปเพิ่มปัญหาทางการค้าและการพัฒนาให้แก่ชาติเหล่านี้

Regional Economic Group : Organization for Economic Cooperation and Development(OECD)

กลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค : องค์การความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ(โออีซีดี)

องค์การทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่จัดตั้งขึ้นมาเมื่อ ค.ศ. 1961 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าเสรี กับเพื่อขยายและปรับปรุงความช่วยเหลือของชาติตะวันตกแก่ประเทศที่กำลังพัฒนา องค์การความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ(โออีซีดี) มีสมาชิกรวม 24 ชาติโดยแยกกลุ่มประเทศได้ดังนี้ คือ (1) กลุ่มประเทศประชาคมยุโรป 12 ประเทศ( เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ กรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส และสเปน) (2) กลุ่มประเทศสมาชิกของสมาคมการค้าเสรียุโรป(เอฟตา) (ออสเตรีย ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์) (3) ประเทศอื่นๆ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ตุรกี แคนาดา สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ส่วนยูโกสลาเวียมีสถานะพิเศษในโออีซีดีนี้ โออีซีดีได้เข้าแทนที่องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรป(โออีอีซี) ที่จัดตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1948 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิบัติการร่วมกันในหมู่ประเทศที่รับความช่วยเหลือในแผนมาร์แชลเพื่อฟื้นฟูประเทศจากสงครามโลกครั้งที่สอง องค์การหลักๆของโออีซีดีมีดังนี้ คือ (1) คณะมนตรีประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิกทั้งปวง (2) คณะกรรมาธิการบริหารประกอบด้วยสมาชิก 6 นายที่ได้รับการเลือกสรรโดยคณะมนตรีทุกปี (3) สำนักเลขาธิการซึ่งมีเลขาธิการใหญ่เป็นหัวหน้า ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส นอกจากนี้แล้วก็ยังมีองค์การสนับสนุนอื่นๆ คือ (1) คณะกรรมาธิการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนา(ทำหน้าที่ประสานโครงการช่วยเหลือแก่รัฐที่กำลังพัฒนา) (2) คณะกรรมาธิการนโยบายเศรษฐกิจ(ทำหน้าที่ให้คำแนะนำด้านนโยบายเพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ) และ (3) คณะกรรมาธิการการค้า(มีหน้าที่แก้ปัญหาทางด้านการค้า)

ความสำคัญ องค์การความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจนี้เป็นองค์การที่ชาติตะวันตกที่พัฒนาแล้วมุ่งมั่นจะใช้ประสานนโยบายภายในของตนกับนโยบายเศรษฐกิจต่างประเทศ สาระสำคัญที่องค์การความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจให้ความสนใจ คือ อุปสงค์ผู้บริโภค อุปทาน การจ้างงาน ต้นทุน ราคา การค้าต่างประเทศ และปัญหาความร่วมมือในหมู่สมาชิกเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อและการกำหนดราคาน้ำมันของกลุ่มโอเปก วัตถุประสงค์ที่สหรัฐอเมริกาต้องการผ่านทางกรอบของโออีซีดีมีดังนี้ (1) เปิดตลาดยุโรปเพื่อแก้ปัญหาอคติที่เกิดขึ้นจากระบบการค้าแบบให้สิทธิพิเศษของอีอีซีและของแอฟตา (2) แก้ไขการเสียเปรียบดุลการชำระเงินของสหรัฐอเมริกา (3) เกลี่ยภาระในการช่วยเหลือต่างประเทศในหมู่ประเทศอุตสาหกรรมให้เท่าเทียมกัน โออีซีดีมีความมุ่งมั่นที่จะประสานโครงการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและการพัฒนาของแต่ละชาติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นอกจากนี้แล้วก็ยังได้กำหนดนโยบายและหลักการทั่วไปไว้เป็นแนวปฏิบัติแก่มวลชาติสมาชิก กับทั้งมีการจัดการประชุมประจำปีให้ผู้แทนของประเทศสมาชิกได้มาชี้แจงเกี่ยวกับโครงการและนโยบายของตนๆบนเวทีเปิดอภิปราย การตกลงใจที่สำคัญๆมักจะเป็นความริเริ่มของสมาชิก 6 ชาติ ต่อไปนี้ คือ แคนาดา ฝรั่งเศส อังกฤษ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี ทั้งนี้โดยมีสหรัฐอเมริกามีบทบาทสำคัญในการพัฒนานโยบาย

Regional Military Group : Central Treaty Organization (CENTO)

กลุ่มทางทหารในระดับภูมภาค:องค์การสนธิสัญญากลาง(เซ็นโต)

องค์การพันธมิตรในระดับภูมิภาค โดยการริเริ่มของสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ.1955 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งระบบความมั่นคงในตะวันออกกลางเพื่อใช้ต่อต้านการรุกรานของคอมมิวนิสต์ และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมในหมู่ชาติสมาชิก เซ็นโตมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กติกาสัญญาแบกแดด จวบจนกระทั่งอิรักถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกเมื่อปี ค.ศ. 1959 ภายหลังจากเกิดการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลนิยมตะวันตกในอิรัก ชาติที่เป็นสมาชิกในช่วงหลังปี ค.ศ. 1959 ได้แก่ อังกฤษ อิหร่าน ปากีสถาน และตุรกี ส่วนสหรัฐอเมริกานั้นถึงแม้ว่าจะมิได้เป็นชาติสมาชิกอย่างเป็นทางการแต่ก็ได้ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้โดยได้ลงนามในข้อตกลงแบบทวิภาคีกับอิหร่าน ปากีสถาน และตุรกี โดยมีภาระผูกพันที่จะให้การช่วยเหลือชาติที่ลงนามในสนธิสัญญานี้ต่อต้านการโจมตีของคอมมิวนิสต์ มีการจัดตั้งคณะมนตรีทำหน้าที่เป็นองค์กรสูงสุดขององค์การทั้งนี้โดยได้รับความช่วยเหลือจากคณะกรรมาธิการหลักๆอีก 4 คณะ (คือ คณะกรรมาธิการฝ่ายทหาร คณะกรรมาธิการฝ่ายเศรษฐกิจ คณะกรรมาธิการฝ่ายต่อต้านการบ่อนทำลาย และคณะกรรมาธิการฝ่ายประสานงาน) อีกทั้งยังมีสำนักเลขาธิการที่มีเลขาธิการใหญ่เป็นหัวหน้า โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงอังการา ประเทศตุรกี

ความสำคัญ องค์การสนธิสัญญากลางมีภารกิจหลัก คือ เป็นองค์การพันธมิตรเพื่อความมั่นคง ส่วนในเรื่องทางเศรษฐกิจและสังคมนั้นเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้นเอง กองกำลังผสมเซ็นโตได้ดำเนินการซ้อมรบทั้งทางเรือ ทางบก และทางอากาศ นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีการปฏิบัติการต่างๆภายใต้การอุปถัมภ์ของเซ็นโตในการควบคุมการบ่อนทำลายในประเทศสมาชิก ได้มีการจัดตั้งโทรคมนาคมทางทหารกินระยะทางถึง 3000 ไมล์เชื่อมโยงระหว่างกรุงอังการา(ประเทศตุรกี) กับกรุงเตหะราน(ประเทศอิหร่าน) และกับกรุงการาจี(ประเทศปากีสถาน) อีกทั้งยังได้มีการก่อสร้างการคมนาคมและการขนส่งอื่นๆอีกหลายชนิดระหว่างรัฐที่เป็นสมาชิก อย่างไรก็ดีความผูกพันระหว่างชาติสมาชิกในองค์การสนธิสัญญาทางพันธมิตรฉบับนี้เคลื่อนคลายลงเนื่องจาก(1)ความเห็นที่แตกต่างกันทางการเมืองในหมู่ชาติสมาชิก (2) ความล้มเหลวจากการที่ไม่สามารถดึงชาติอาหรับมาเป็นสมาชิกได้ และ (3) ไม่มีการคุกคามอย่างเปิดเผยจากรัฐคอมมิวนิสต์ ในปี ค.ศ. 1979 ปากีสถานได้ถอนตัวออกจากสนธิสัญญาพันธมิตรนี้ และการปฏิวัติในอิหร่านก็ทำให้อิหร่านต้องถอนตัวโดยพฤตินัยจากสนธิสัญญาพันธมิตรนี้อีกเช่นกัน ก็จึงเป็นอันยุติบทบาทของเซ็นโตด้วยประการฉะนี้

Regional Military Group : North Atlantic Treaty Organization(NATO)

กลุ่มทางทหารในระดับภูมิภาค: องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ(นาโต)

องค์การในระดับภูมิภาคที่จัดตั้งขึ้นมาในปี ค.ศ. 1949 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความมั่นคงและร่วมมือกันในหมู่ชาติสมาชิกในพื้นที่แอตแลนติกหนือ นาโตทำหน้าที่เป็นหนทางใช้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ความมั่นคงตามข้อกำหนดว่าด้วยการปฏิบัติการร่วมกันของสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ นาโตมีสมาชิกที่มีบทบาทเข้มแข็ง 14 ชาติ คือ เบลเยียม แคนาดา เดนมาร์ก เยอรมนี อังกฤษ กรีซ ไอซ์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส ตุรกี และสหรัฐอเมริกา โดยทั้ง 14 ชาติเหล่านี้ได้ใช้นาโตเป็นกรอบเพื่อความร่วมมือทางด้านการทหาร การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ถึงแม้ว่าสมาชิกเหล่านี้จะจัดตั้งโครงสร้างทางทหารที่มีบูรณาการขึ้นมา แต่ฝรั่งเศสและสเปนกลับตั้งตัวเป็นอิสระทางด้านการทหาร แม้ว่าทั้งสองชาตินี้จะให้ความร่วมมือกับกองกำลังนาโตอยู่ก็ตามที องค์การพันธมิตรทางทหารองค์การนี้มีวัตถุประสงค์หลัก คือ ให้ความคุ้มครองจากภัยคุกคามทางทหารของสหภาพโซเวียตในทวีปยุโรปโดยวิธีสนธิกองกำลังตามแบบเข้าด้วยกัน และด้วยการให้รัฐในแถบยุโรปตะวันตกอยู่ภายใต้การคุ้มกันของการป้องปรามนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกา โครงสร้างทางการจัดการของนาโตมีดังนี้ คือ (1) คณะมนตรีแอตแลนติกเหนือ มีหน้าที่พัฒนาและดำเนินนโยบายพันธมิตรระดับพื้นฐาน (2) โครงสร้างการบังคับบัญชาทางทหารที่อิงอาศัยกองบัญชาการสูงสุดของมหาอำนาจพันธมิตรในยุโรป(เอสเอชเอพีอี) ผู้บัญชาการพันธมิตรสูงสุดในยุโรป(เอสเอซีอียูอาร์) และผู้บัญชาการพันธมิตรสูงสุดแอตแลนติก(เอสเอซีแอลเอเอ็นที) คณะกรรมาธิการการติดต่อประสานงาน และกลุ่มวางแผนระดับภูมิภาคระหว่างแคนาดากับสหรัฐอเมริกา (3) องค์การการผลิตและการส่งกำลังบำรุงต่างๆ (4) คณะกรรมาธิการคณะมนตรีสำคัญๆ ประกอบด้วยโครงสร้างที่ปรึกษาหลักๆในนาโต และ (5) สำนักเลขาธิการนาโต มีเลขาธิการนาโตเป็นหัวหน้า และทำหน้าที่เป็นประธานคณะมนตรีอีกด้วย

ความสำคัญ นาโตทำหน้าที่เป็นเสาหลักของระบบป้องกันของฝ่ายตะวันตกต่อการคุกคามของคอมมิวนิสต์ในพื้นที่แอตแลนติกเหนือ กรอบทางการเมืองและการทหารของนาโตได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นภายในหมู่ชาติพันธมิตรนี้ โดยการใช้วิธีการประนีประนอมนโยบายต่างประเทศและนโยบายป้องกันประเทศของชาติที่มีเอกราชทั้ง 16 ชาติ(หมายเหตุ นาโตรับสาธารณรัฐเช็ก ฮังการี และโปแลนด์ เข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการเมื่อ 12 มีนาคม ค.ศ. 1997 ทำให้นาโตมีสมาชิกเพิ่มเป็น 19 ประเทศ) อย่างไรก็ดีในทศวรรษปี 1980 สนธิสัญญาพันธมิตรฉบับนี้เกิดร้าวฉานอันสืบเนื่องมาจากสาเหตุต่อไปนี้ คือ (1) เกิดลัทธิหลายขั้วอำนาจเฟื่องฟูขึ้น (2) สหรัฐอเมริกามัวยุ่งอยู่กับกิจการในอเมริกากลางและตะวันออกกลาง (3) เกิดการโต้เถียงกันเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และนโยบายนิวเคลียร์ และ (4) เกิดความรู้สึกอยากมีเอกราชในยุโรปตะวันตก ในทศวรรษปี 1960 ฝรั่งเศสได้ถอนหน่วยทหารของตนออกจากกองบัญชาการนาโตและถอนกองเรือของตนออกจากการควบคุมทางยุทธการของนาโต ในปี ค.ศ. 1966 ประธานาธิบดีชาร์ลส์ เดอโกลแห่งฝรั่งเศสต้องการให้กองบัญชาการและสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่างของนาโตถอนตัวออกจากแผ่นดินของฝรั่งเศสหรือมิฉะนั้นก็ให้อยูในความควบคุมของฝรั่งเศส ถึงแม้ว่าฝรั่งเศสและสเปนจะมีข้อผูกพันภายใต้สนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือว่าจะต้องร่วมปฏิบัติการต่อต้านผู้รุกราน แต่การกระทำของสองประเทศนี้มีผลให้ไม่ได้เป็นสมาชิกของนาโตอีกต่อไปแล้ว อนาคตของนาโตส่วนใหญ่แล้วขึ้นอยู่กับว่าชาวยุโรปตะวันตกมีความเชื่อว่าการคุกคามของโซเวียตต่อยุโรปตะวันตกมีความเชื่อถือได้ขนาดไหนเท่านั้นเอง

Regional Military Group : Warsaw Treaty Organization(WTO

)
กลุ่มทางการทหารในระดับภูมิภาค : องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (ดับเบิลยูทีโอ)

องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ(ดับเบิลยูทีโอ) คือ กลุ่มทางทหารในระดับภูมิภาคของรัฐคอมมิวนิสต์ยุโรปตะวันออก ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้เป็นไปตามสนธิสัญญามิตรไมตรีความร่วมมือและความช่วยเหลือกันที่ได้ลงนามที่กรุงวอร์ซอประเทศโปแลนด์เมื่อปี ค.ศ. 1955 สมาชิกขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอประกอบด้วยรัฐคอมมิวนิสต์ คือ บัลแกเรีย เชโกสะโลวาเกีย เยอรมนีตะวันออก ฮังการี โปแลนด์ และสหภาพโซเวียต ส่วนแอลเบเนีย โรมาเนีย และยูโกสลาเวียไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอได้รับการสนับสนุนจาก กติกาสัญญาให้ความช่วยเหลือแบบทวิภาคีอีกจำนวนหนึ่ง ระหว่างสหภาพโซเวียตกับรัฐคอมมิวนิสต์หลายรัฐที่ได้บรรลุข้อตกลงกันระหว่างปี ค.ศ. 1943 ถึงปี ค.ศ. 1948 การตกลงใจขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอนี้กระทำโดยคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองที่มาประชุมกันเป็นครั้งคราวเมื่อมีการร้องขอจากสหภาพโซเวียตทั้งๆที่สนธิสัญญาได้กำหนดไว้ว่าจะต้องมาประชุมกันปีละ 2 ครั้ง ชาติสมาชิกแต่ละชาติมีผู้แทนไปประจำอยู่ในคณะกรรมาธิการนี้โดยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลหรือผู้แทนพรรคคอมมิวนิตส์ในระดับสูง กองบัญชาการทหารร่วมที่สนธิสัญญากำหนดให้มีนั้นก็ไม่เคยมีการจัดตั้งขึ้นมา ส่วนตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดนั้นตามปกติผู้ที่มาดำรงตำแหน่งก็คือ นายทหารยศจอมพลของสหภาพโซเวียต ส่วนองค์กรสนับสนุนต่างๆ เป็นต้นว่า สำนักเลขาธิการและคณะอนุกรรมการถาวรที่มีหน้าที่ประสานนโยบายต่างประเทศของชาติสมาชิกนั้น ก็ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาโดยคณะกรรมาธิการฝ่ายการเมือง ชาติสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอมีภาระผูกพันให้รับผิดชอบในการให้ความช่วยเหลืออย่างฉับพลันแก่ชาติที่ตกเป็นเหยื่อของการโจมตีทางทหาร และในการปรึกษาหารืออย่างฉับพลันที่จะใช้มาตรการร่วมกันต่อต้านการรุกรานนั้นๆ

ความสำคัญ องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอร์ จัดตั้งขึ้นมาโดยเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ของฝ่ายคอมมิวนิสต์ต่อการจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ(นาโต) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อข้อตกลงกรุงปารีส ค.ศ. 1954 ที่ให้รับเยอรมนีตะวันตกเป็นสมาชิกของนาโต องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอในฐานะที่เป็นองค์การพันธมิตรทางทหาร ก็ได้ช่วยให้เกิดดุลยภาพระหว่างตะวันออกกับตะวันตกภายหลังจากที่เยอรมนีตะวันตกกลับมาติดอาวุธอีกครั้งหนึ่ง กระนั้นก็ดีการเกิดลัทธิหลายขั้วอำนาจขึ้นมาในยุโรปตะวันออกระหว่างทศวรรษปี 1970 ถึงทศวรรษปี 1980 ทำให้องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอนี้อ่อนแอลง เนื่องจากความรู้สึกแตกแยกเป็นหลายขั้วอำนาจนี้ขัดขวางมิให้มีการพัฒนาโครงสร้างขององค์การได้อย่างเต็มที่ กับได้ขัดขวางมิให้องค์การนี้รับบทบาทเป็นกลุ่มทางทหารที่มีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น แอลเบเนียได้ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับองค์การตั้งแต่หลังปี ค.ศ. 1962 และได้ถอนตัวออกจากองค์การเมื่อปี ค.ศ. 1968 ส่วนจีนคอมมิวนิสต์ซึ่งเคยเป็นผู้สังเกตการณ์ถาวรก็ได้ยุติการเกี่ยวข้องด้วย ความไม่พอใจของสมาชิกอื่นๆต่อการที่สหภาพโซเวียตเข้าไปครอบงำองค์การพันธมิตรนี้เป็นการทำลายความสามัคคีขององค์การไปด้วย ประกอบกับความกลัวสงครามก็ได้ลดน้อยลงไปพร้อมๆกับที่ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างยุโรปตะวันออกกับยุโรปตะวันตกก็ได้มีเพิ่มมากขึ้น ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ได้ไปทำให้บทบาทขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอลดบททบาทลง ภารกิจหลักขององค์การฯ ก็คือ เป็นสถานที่ประชุมเพื่อให้สัตยาบันอย่างเป็นทางการต่อการริเริ่มทางนโยบายต่างประเทศของโซเวียตในปี ค.ศ. 1968 กองกำลังองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอได้ทำการรุกรานเชโกสะโลวาเกียโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันไม่ให้มีความคิดแบบเสรีนิยมในหมู่รัฐสมาชิกเกิดขึ้น เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นปฏิบัติการทางทหารร่วมกันครั้งสุดท้ายของกองกำลังองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ

Regional Military Group : Western European Union( WEU)

กลุ่มทางทหารในระดับภูมิภาค : สหภาพยุโรปตะวันตก(ดับเบิลยูอียู)

องค์การพันธมิตรในระดับภูมิภาคที่จัดตั้งขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1955 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันยุโรปตะวันตกจากการถูกโจมตี เพื่อควบคุมการรื้อฟื้นการติดอาวุธของเยอรมนี และเพื่อร่วมมือกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ(นาโต) ในการป้องกันประชาคมแอตแลนติก สหภาพยุโรปตะวันตกนี้ขยายตัวจากกติกาสัญญาบรัสเซลส์โดยได้ทำการเชื่อมสมาชิกของกติกาสัญญาบรัสเซลส์(เบลเยียม ฝรั่งเศส อังกฤษ ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์) เข้ากับรัฐอดีตศัตรู 2 รัฐ ( เยอรมนี และอิตาลี) โครงสร้างของพันธมิตรกลุ่มนี้ประกอบด้วย (1) คณะมนตรีประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ 7 นายที่อาจถูกร้องขอให้มาประชุมกันโดยชาติสมาชิกชาติใดชาติหนึ่งเพื่อปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับภัยคุกคามต่อความมั่นคงของยุโรปตะวันตก (2) สมัชชาใหญ่ที่ประชุมกันที่เมืองสตราบูก ประกอบด้วยตัวแทนของชาติสมาชิกสหภาพยุโรปตะวันตกที่ประจำอยู่ที่สมัชชาที่ปรึกษาคณะมนตรียุโรป และ (3) สำนักเลขาธิการ ที่ทำหน้าที่ให้แก่องค์กรหลัก 2 องค์กรข้างต้น และแก่องค์กรพิเศษอื่นๆที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ความเป็นพันธมิตรกันนี้

ความสำคัญ การเกิดขึ้นของสหภาพยุโรปตะวันตกจากองค์การสนธิสัญญาบรัสเซลส์เมื่อปี ค.ศ. 1955 แสดงให้เห็นถึงความเชื่อว่าอานุภาพของโซเวียตที่มีอยู่นั้นเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่กว่าภัยคุกคามที่จะเกิดจากการฟื้นตัวของเยอรมนีในอนาคต สหภาพยุโรปตะวันตกมีภารกิจหลักอยู่ในกรอบของนาโตซึ่งเป็นองค์การที่ใหญ่กว่า โดยทำหน้าที่เป็นหน่วยงานพัฒนานโยบายร่วม และเป็นสื่อกลางคอยกระตุ้นให้นาโตพิจารณาเรื่องต่างๆ กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมส่วนใหญ่ที่เคยดำเนินการโดยสหภาพยุโรปตะวันตกได้ถูกโอนไปให้แก่กลุ่มในระดับภูมิภาคอื่นๆ ส่วนวัตถุประสงค์เริ่มแรกของสหภาพยุโรปตะวันตกที่ต้องการควบคุมการรื้อฟื้นการติดอาวุธของเยอรมนีนั้นก็ได้ผ่อนคลายลงไป

Regional Political Group : Arab League

กลุ่มทางการเมืองในระดับภูมิภาค : สันนิบาตอาหรับ

กลุ่มในระดับภูมิภาคของชาวมุสลิมที่จัดตั้งขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1945 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสานกิจกรรมทางการเมืองในหมู่สมาชิก เพื่อปกป้องเอกราชและอธิปไตย และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านวัฒนธรรม สมาชิกของสันนิบาตอาหรับประกอบด้วยรัฐเอกราชทั้งในตะวันออกกลางและในแอฟริกาเหนือ สมาชิกแรกเริ่มประกอบด้วย อียิปต์ อิรัก จอร์แดน เลบานอน ซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย และเยเมน ต่อมามีรัฐเอกราชอื่นๆมาสมทบอีกจำนวน 15 ชาติ (แอลจีเรีย บาห์เรน จิบูตี คูเวต ลิเบีย มอริเตเนีย โมร็อกโก โอมาน การ์ตา โซมาเลีย ซูดาน ตูนิเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเยเมน และองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์(พีแอลโอ) องค์กรทำหน้าที่ตกลงใจของสันนิบาตอาหรับ คือ มัจลิส หรือ คณะมนตรี ซึ่งมาประชุมกันปีละ 2 ครั้ง ประกอบด้วยผู้แทนจากรัฐสมาชิกแต่ละรัฐ การตกลงใจจะมีผลผูกพันก็ต่อเมื่อมีเสียงสนับสนุนเป็นเอกฉันท์เท่านั้น ตัวอย่างเช่น การตกลงใจที่จะขับไล่ผู้รุกราน ส่วนการตกลงใจที่กระทำโดยเสียงข้างมากนั้นให้มีผล”บังคับก็เฉพาะสมาชิกที่ยอมรับการตกลงใจเหล่านั้นเท่านั้น” นอกจากนี้แล้วก็ยังมีคณะกรรมาธิการถาวรต่างๆที่อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของคณะมนตรีทำหน้าที่ศึกษาในเรื่องเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนประสานความร่วมมือในโครงการต่างๆ กับมีสำนักเลขาธิการซึ่งมีเลขาธิการเป็นหัวหน้า โดยมีสำนักงานใหญ่ของสันนิบาตตั้งอยู่ที่กรุงไคโรประเทศอียิปต์

ความสำคัญ ถึงแม้ว่าสันนิบาตอาหรับจะแสดงออกมาว่าขาดเอกภาพและขาดพลังทางการทหารร่วมกันที่จะต่อสู้กับอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง แต่ในระหว่างทศวรรษปี 1970 ถึงทศวรรษปี 1980 จากการที่มีสมาชิกเพิ่มจำนวนมากขึ้น มีพลังทางการเมืองเพิ่มขึ้น และมีความสนใจร่วมกันอยู่ในระดับเพิ่มมากขึ้น เหล่านี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาที่จะร่วมมือกันในระดับที่ขยายตัวมากยิ่งขึ้น การประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นนี้สะท้อนออกมาให้เห็นจากโครงการต่างๆของสันนิบาตอาหรับ คือ โครงการจัดตั้งตลาดร่วมอาหรับ โครงการจัดตั้งธนาคารพัฒนาอาหรับ โครงการสถาบันการศึกษาต่างๆ โครงการองค์การปราบยาเสพย์ติด และโครงการสำนักข่าวสารอาหรับ นอกจากนี้แล้วสันนิบาตอาหรับก็ยังได้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิผลในฐานะกลุ่มแกนนำการประชุมในสหประชาชาติ แต่ถึงจะมีการประสานความเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างไรก็ยังไม่สามารถฟันฝ่าอุปสรรค คือ การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันระหว่างรัฐอาหรับต่างๆ ตลอดจนการต่อสู้เพื่อชิงความเป็นผู้นำในหมู่ประเทศในกลุ่มอาหรับด้วยกัน หลังจากที่การเจรจาระหว่างอียิปต์กับอิสราเอลซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้อุปถัมภ์ได้นำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ แคมป์ เดวิด แอคคอร์ดปี ค.ศ. 1978 แล้วนั้น เอกภาพของสันนิบาตอาหรับก็มีอันถูกทำลายเสียสิ้น

Regional Political Group : Commonwealth of Nations

กลุ่มทางการเมืองในระดับภูมิภาค : เครือจักรภพแห่งประชาชาติ

สมาคมโดยความสมัครใจของหมู่รัฐเอกราชที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษ สมาชิกของเครือจักรภพแห่งนี้ประกอบด้วย 45 ประเทศในยุโรป แอฟริกา เอเชีย ประเทศต่างๆในซีกโลกตะวันตก และในแถบโอเชียนิก(ย่านแปซิฟิกและออสเตรเลีย) สมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธ ได้รับการรับรองว่าทรงเป็น “สัญลักษณ์ของสมาคมอิสระของประชาชาติสมาชิกที่มีเอกราช และด้วยเหตุนี้จึงทรงเป็นพระประมุขแห่งเครือจักรภพ” แต่สมาชิกบางประเทศ เช่น อินเดีย ปากีสถาน ไซปรัส และกานา ได้หันมาปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐจึงมิได้ให้การยอมรับองค์อธิปัตย์อังกฤษเป็นประมุขรัฐของตนๆอีกต่อไป สาระสำคัญของระบบเครือจักรภพนี้ ก็คือ การให้ความร่วมมืออย่างเสรีโดยวิธีการปรึกษาหารือในหมู่ชาติสมาชิก โดยไม่มีข้อผูกพันทางสนธิสัญญาหรือมีสถาบันถาวรเป็นทางการใดๆ มีแต่สำนักเลขาธิการของเครือจักรภพเท่านั้นเอง ที่ประเทศสมาชิกผูกพันอยู่กับเครือจักรภพอย่างเหนียวแน่นเป็นเวลาหลายปี ก็เพราะมีแรงกระตุ้นมาจากการได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า การได้เป็นสมาชิกกลุ่มประเทศปอนด์สเตอร์ลิง การได้รับความช่วยเหลือทางด้านเงินทุนและเทคนิคจากสมาชิกที่เจริญแล้วที่ให้แก่รัฐที่กำลังพัฒนา การให้ความช่วยเหลือทางด้านการทหารแก่ชาติที่ความมั่นคงถูกคุกคาม ตลอดจนการมีสถาบันและภาษาร่วมกัน การปรึกษาหารือกันนั้นสามารถดำเนินการได้ในหลายระดับ อาจจัดให้มีการประชุมในระดับนายกรัฐมนตรีของกลุ่มประเทศเครือจักรภพเมื่อมีความจำเป็นเกิดขึ้น

ความสำคัญ เครือจักรภพอังกฤษนี้เป็นระบบการเมืองที่มีเอกลักษณ์เป็นพิเศษ คือ สมาชิกของเครือจักรภพร่วมมือและให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยอิสระโดยที่มิได้มีข้อตกลงหรือมีภาระที่ได้มอบหมายไว้เป็นการเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 รัฐต่างๆในเครือจักรภพได้เข้าร่วมกับอังกฤษ ในการประกาศสงครามและได้ส่งกองกำลังอาสาสมัครจำนวนมากไปช่วยรบกับศัตรูร่วม รัฐต่างๆที่ได้เอกราชจากจักรวรรดิอังกฤษแล้วต่างมีอิสระที่จะเข้าร่วมหรือจะปฏิเสธการเป็นสมาชิกก็ได้ และสมาชิกทั้งหลายก็ยังมีอิสระที่จะลาออกจากการเป็นสมาชิกเครือจักรพเมื่อใดก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น พม่า และหมู่เกาะมัลดีฟเมื่อได้เอกราชแล้วก็ได้เลือกที่จะไม่เข้าร่วมกับเครือจักรภพนี้ ส่วนไอร์แลนด์และแอฟริกาใต้ได้ถอนตัวออกจากเครือจักรภพเมื่อปี ค.ศ. 1939 และ1961 ตามลำดับ มีเรื่องต่างๆเกิดขึ้นในเครือจักรภพทำให้ความผูกพันระหว่างหมู่สมาชิกคลายตัวเรื่อยๆ นอกจากนี้แล้วการที่อังกฤษเข้าเป็นสมาชิกในประชาคมยุโรปก็ทำให้ระบบการค้าแบบให้สิทธิพิเศษอ่อนแอลง อนาคตของเครือจักรภพจะอยู่หรือไปก็ขึ้นอยู่กับว่าสมาชิกของเครือจักรภพสามารถประสานข้อแตกต่างทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างมีประสิทธิผลได้อย่างไรบ้าง ทั้งนี้ก็เพื่อให้เครือจักรภพแห่งนี้สามารถเป็นช่องทางสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาร่วมกันได้อยู่ต่อไป

Regional Political Group : Concert of Europe

กลุ่มทางการเมืองในระดับภูมิภาค : ความร่วมมือแห่งยุโรป

ระบบการปรึกษาหารือเฉพาะกิจระหว่างมหาอำนาจที่พัฒนาขึ้นมาในภายหลังสงครามนโปเลียน ความร่วมมือแห่งยุโรปประชุมกันเป็นระยะๆในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญๆที่คุกคามต่อสันติภาพ สมาชิกของความร่วมมือแห่งยุโรปนี้ประกอบด้วย ออสเตรีย อังกฤษ ฝรั่งเศส ปรัสเซีย และรัสเซีย ต่อมาได้มีประเทศอื่นๆเข้ามาร่วมด้วย คือ เยอรมนี และอิตาลี ตลอดจนมหาอำนาจขนาดย่อมอื่นๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องที่นำมาถกแถลงกันนั้น ระบบความร่วมมือแห่งยุโรปนี้ส่วนใหญ่ทำงานโดยวิธีการประชุมในระดับนานาชาติ โดยการเรียกร้องของชาติมหาอำนาจที่เชื่อว่ามีภัยคุกคามต่อสันติภาพบังเกิดขึ้น ผลก็คือ ได้มีการสถาปนาการครองความเป็นใหญ่ของมหาอำนาจที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิผล จวบจนกระทั่งมหาอำนาจสูญเสียเอกภาพแตกความสามัคคีแยกสมาชิกออกเป็นกลุ่มพันธมิตรที่เป็นปฏิปักษ์กัน คือ กลุ่มข้อตกลงไตรภาคี(ฝรั่งเศส บริเตนใหญ่ และรัสเซีย) กับกลุ่มไตรพันธมิตร(เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และอิตาลี)

ความสำคัญ ระบบความร่วมมือแห่งยุโรปมีคุณูปการเป็นอย่างมากต่อเสถียรภาพทางการเมืองในยุโรประหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อมหาอำนาจแตกความสามัคคีกันก็ได้นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 โดยตรง ประสิทธิผลของระบบนี้ คือ ในส่วนที่เกี่ยวกับการธำรงสันติภาพร่วมกันนั้น ได้ให้การรับรองโดยผู้ร่างกติกาสันนิบาตชาติและกฎบัตรสหประชาชาติ ทั้งในสันนิบาตชาติและสหประชาชาติ มีคณะมนตรีที่ถูกครอบงำโดยมหาอำนาจได้รับมอบหมายให้มีความรับผิดชอบพิเศษเพื่อธำรงสันติภาพและความมั่นคง คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติยังคงทำหน้าที่เป็นที่ประชุมเพื่อการเจรจากันระหว่างมหาอำนาจโดยใช้แบบอย่างของความร่วมมือแห่งยุโรป

Regional Political Group : Council of Europe

กลุ่มทางการเมืองในระดับภูมิภาค :คณะมนตรีแห่งยุโรป

องค์การกึ่งรัฐสภาในระดับภูมิภาค ที่มีวัตถุประสงค์สร้างความร่วมมือกันทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม และเพื่อพัฒนาความรู้สึกเป็นเอกภาพในความเป็นชาติยุโรปในหมู่สมาชิก คณะมนตรีแห่งยุโรปได้รับการจัดตั้งขึ้นที่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1949 โดยเบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส บริเตนใหญ่ ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน ต่อมามีสมาชิกเพิ่มขึ้นมาอีก 8 รัฐ ได้แก่ ออสเตรีย ไซปรัส เยอรมนี(ตะวันตก) กรีซ ไอซ์แลนด์ มอลตา สวิตเซอร์แลนด์ และตุรกี ในโครงสร้างมีคณะมนตรีประกอบด้วย 2 สภา คือ (1)สมัชชาที่ปรึกษา ประกอบด้วยผู้แทนที่รัฐสภาของแต่ละรัฐเลือกสรรเข้ามา แต่เป็นผู้มีอิสระในการพูดและในการลงคะแนนเสียงเป็นรายบุคคล และ (2) คณะกรรมาธิการรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้แทนของรัฐบาลของรัฐสมาชิก สมัชชาที่ปรึกษาทำหน้าที่เป็นองค์กรให้คำปรึกษาแก่คณะมนตรี ในขณะที่คณะกรรมาธิการรัฐมนตรีก็มีอำนาจในการตกลงใจแต่เพียงอย่างเดียว และแต่ละรัฐบาลมีอำนาจในการยับยั้ง คณะมนตรีมีหน้าที่ให้คำแนะนำแก่รัฐบาลของรัฐที่เป็นสมาชิกและให้ความเห็นชอบในสนธิสัญญาและข้อตกลงต่างๆซึ่งเมื่อแต่ละรัฐสมาชิกให้สัตยาบันแล้วจะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศทั้งสององค์กรมีอิสระที่จะอภิปรายในทุกเรื่องยกเว้นแต่เรื่องที่กี่ยวกับทางการทหาร คณะกรรมาธิการรัฐมนตรีจะประชุมกันทุกเดือน ส่วนสมัชชาก็จะประชุมกันในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว คณะมนตรีแห่งยุโรปมีสำนักเลขาธิการตั้งอยู่ที่เมืองสตราสบูกโดยทำหน้าที่ให้บริการแก่องค์กรทั้งสอง

ความสำคัญ คณะมนตรีแห่งยุโรปเมื่อแรกจัดตั้งนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นก้าวแรกที่จะดำเนินไปสู่การรวมรัฐต่างๆเข้าในสหพันธรัฐยุโรปในที่สุด สมัชชาที่ปรึกษานั้นในช่วงปีแรกๆหลังจัดตั้งได้ร่างรัฐบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งประชาคมทางการเมืองยุโรปที่จะประกอบด้วยรัฐสภา คณะบริหาร และศาลซึ่งมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบต่อประชาชนทั่วทั้งทวีปยุโรป แต่เมื่อรัฐสภาฝรั่งเศสได้ลงมติคัดค้านข้อเสนอให้มีการจัดตั้งประชาคมป้องกันยุโรปเมื่อปี ค.ศ. 1954 แนวความคิดที่จะจัดตั้งประชาคมทางการเมืองยุโรปก็ได้ถูกทอดทิ้งให้เป็นหมันไป ได้มีอนุสัญญาและข้อตกลงต่างๆราว 50 ฉบับได้ลงนามโดยคณะกรรมาธิการรัฐมนตรี มีสาระครอบคลุมเรื่องต่างๆ เช่น การรับนักศึกษาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย สิทธิบัตร การประกันสังคม สิทธิมนุษยชน การส่งผู้ร้ายข้ามแดน และการแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติวิธี ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปี ค.ศ. 1976 คณะมนตรีแห่งยุโรปได้ยอมรับข้อตกลงว่าด้วยไม่ให้ใช้เหตุผลทางการเมืองเป็นข้ออ้างเพื่อขอความปรานีโดยไม่ต้องรับโทษหรือส่งผู้ร้ายข้ามแดนสำหรับผู้ก่อการร้ายที่ได้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการใช้อุปกรณ์ที่มีอานุภาพร้ายแรง อนุสัญญาหลายฉบับได้รับการให้สัตยาบันโดยรัฐบาลของรัฐสมาชิก รวมทั้งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในยุโรป ซึ่งยอมให้บุคคลยื่นอุทธรณ์ที่จะไม่ขึ้นศาลชาติตนแต่จะยอมผูกพันยอมรับคำตัดสินขององค์การระหว่างประเทศแทน คณะมนตรีแห่งยุโรปกำลังวิวัฒนาการอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อดำเนินสู่อุดมการณ์ที่ชี้นำการจัดตั้ง กล่าวคือ สถาปนาประชาคมการรวมตัวเป็นสหพันธ์แห่งยุโรป

Regional Political Group : European Community (EC)

กลุ่มทางการเมืองในระดับภูมิภาค: ประชาคมยุโรป(อีซี)

โครงสร้างทางการเมืองร่วมกัน ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้ทำหน้าที่ตกลงใจทางเศรษฐกิจของประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรป(อีซีเอสซี) ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (อีอีซี) และประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรป (อียูอาร์เอทีโอเอ็ม) สถาบันต่างๆในประชาคมยุโรป ประกอบด้วย คณะมนตรีรัฐมนตรี คณะกรรมาธิการ รัฐสภายุโรป และศาลยุติธรรม คณะมนตรีรัฐมนตรี และคณะกรรมาธิกาทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารใน 2 ลักษณะ คือ คณะมนตรีรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นตัวแทนแสดงทัศนะของรัฐบาลจาก 12 รัฐ ส่วนคณะกรรมาธิการนั้นทำหน้าที่เป็นองค์กรเหนือชาติของประชาคม ในการตกลงใจต่างๆ บางอย่างกระทำโดยคณะมนตรีรัฐมนตรี บางอย่างกระทำโดยคณะกรรมาธิการ แต่บางอย่างก็กระทำโดยคณะมนตรีรัฐมนตรีภายหลังจากที่คณะกรรมาธิการได้เสนอแนะแล้ว หน้าที่หลักของคณะกรรมาธิการ คือ การริเริ่มนโยบายของประชาคมภายใต้แนวทางที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาขั้นพื้นฐาน 3 ฉบับ หรือตามแนวทางที่คณะมนตรีรัฐมนตรีกำหนดไว้แล้ว การตกลงใจที่สำคัญๆจะต้องให้คณะมนตรีให้ความเห็นชอบครั้งสุดท้ายเสียก่อน รัฐใหญ่ๆ(ฝรั่งเศส เยอรมนี บริเตนใหญ่ อิตาลี สเปน) มีสมาชิก 2 นายในคณะกรรมาธิการ ส่วนรัฐเล็กๆ(เบลเยียม เดนมาร์ก กรีซ ไอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ และโปรตุเกส) มีสมาชิกได้เพียงนายเดียวในคณะกรรมาธิการ คณะมนตรีรัฐมนตรีกระทำการตกลงใจในเรื่องสำคัญๆโดยเสียงที่เป็นเอกฉันท์ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญก็ให้กระทำโดยเสียงข้างมาก คือ โดยเสียงข้างมากเด็ดขาด และเสียงข้างมากปกติ รัฐสภายุโรปซึ่งครั้งแรกได้รับการจัดตั้งขึ้นมาให้เป็นสมัชชาร่วมของประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปเมื่อปี ค.ศ. 1952 ก็ได้ทำหน้าที่เป็นองค์กรให้คำปรึกษาแก่ประชาคมยุโรปนี้ และทำหน้าที่เป็นผู้คอยตรวจสอบการกระทำของประชาคมนี้ด้วย ถึงแม้รัฐสภายุโรปนี้จะไม่มีอำนาจออกกฎหมายหรือตกลงใจที่จะมีผลผูกพันต่อรัฐสมาชิก แต่รัฐสภายุโรปก็ได้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายริเริ่มนโยบายเสรีทางเศรษฐกิจและความมีเอกภาพทางการเมืองใหม่ๆ ผู้แทนที่มาประจำอยู่ในรัฐสภายุโรปซึ่งเดิมได้รับการแต่งตั้งจากรัฐสภาของชาติสมาชิกนั้น นับแต่ปี ค.ศ. 1979 เป็นต้นมาก็ได้ใช้วิธีเลือกตั้งโดยระบบหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป และได้รับการจัดตั้งและลงคะแนนเสียง ในประเด็นทางการเมืองต่างๆส่วนใหญ่ในฐานะที่เป็นกลุ่มทางการเมืองข้ามชาติ 3 กลุ่มด้วยกัน คือ คริสเตียนดีโมแครต โซเชียลิสต์ และลิเบอรัล ยิ่งเสียกว่าแยกเป็นกลุ่มชาติแต่ละชาติ ศาลยุติธรรมซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1952 ก็เช่นเดียวกัน ได้ทำหน้าที่เป็นศาลร่วมทำหน้าที่ตีความและใช้สนธิสัญญาประชาคม และทำหน้าที่แก้ไขข้อพิพาทระหว่างองค์กรต่างๆของประชาคม และระหว่างชาติสมาชิก หรือภายในแต่ละกลุ่ม อำนาจของศาลยุติธรรมในการตีความและแสดงความเห็นนั้นมีลักษณะใกล้เคียงกับการตีความและทัศนะของศาลสูงแห่งชาติมากว่าการตีความและความเห็นของศาลระหว่างประเทศอื่นๆ สถาบันอื่นๆที่ทำงานอยู่ในกรอบของประชาคม ได้แก่ ธนาคารเพื่อการลงทุนในยุโรป(อีไอบี) ซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาในประชาคมให้ได้สมดุลกันโดยผ่านทางให้เงินกู้ ช่วยค้ำประกันเงินกู้ ตลอดจนจัดตั้งคณะกรรมาธิการชำนัญพิเศษอีกเกือบร้อยคณะ นอกจากนี้แล้วประชาคมแห่งยุโรปก็ยังได้ทำความตกลงกับประเทศภายนอกต่างๆด้วย ยกตัวอย่างเช่น ได้ทำความตกลงกับตุรกี ทำความตกลงกับรัฐต่างๆในแอฟริกา ในคาบสมุทรคาร์ริบเบียน และในคาบสมุทรแปซิฟิก ทั้งนี้เป็นผลมาจากข้อตกลงในอนุสัญญายาอุนเดปี ค.ศ. 1963 และข้อตกลงโลเมปี ค.ศ. 1975 ซึ่งข้อตกลงทั้งสองฉบับนี้กำหนดให้จัดทำข้อตกลงทางการค้าพิเศษระหว่างรัฐในกลุ่มประชาคมยุโรปกับรัฐที่เกี่ยวข้องต่างๆ

ความสำคัญ จากการที่ประชาคมยุโรปมีสถาบันร่วมกันต่างๆนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าประชาคมฯสามารถบรรลุถึงบูรณาการในระดับสูงที่สุดในระบบรัฐในปัจจุบัน สถาบันเหล่านี้เป็นทั้งผลผลิตและเป็นผู้มีส่วนร่วมในกระบวนบูรณาการที่กำลังผลักดันยุโรปตะวันตกให้ดำเนินไปสู่สหภาพทางการเมืองและทางเศรษฐกิจในบั้นปลายได้(อีซีได้วิวัฒนาการมาเป็นสหภาพยุโรป(อียู) เมื่อปี ค.ศ.1993) ในฐานะที่เป็นสถาบันของยุโรปสถาบันเหล่านี้ต่างก็ได้ช่วยเหลือให้เกิดการพัฒนาแนวความคิด (1) ในเรื่องให้ชาวยุโรปเกิดความคิดว่าพวกตนเป็นคนยุโรป (2) ให้ใช้วิธีการของยุโรปแก้ไขปัญหาของยุโรป และ (3) ให้มีแนวคิดให้มีการจัดตั้งสหรัฐแห่งยุโรปขึ้นมาซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ยังอยู่ห่างไกลความเป็นจริงแต่ก็กำลังวิวัฒนาการไปสู่ทิศทางนั้นอยู่ แต่ในปัจจุบันสถาบันเหล่านี้ได้ทำงานเป็นองค์กรตกลงใจที่มีประสิทธิผลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจร่วมกัน (1) ในด้านการผลิตถ่านหินและเหล็กกล้า (2) ในด้านการตลาด (3) ในนโยบายการค้าและการพาณิชย์ (4) ในด้านการเจรจาพิกัดอัตราภาษีศุลกากร และ(5) ในด้านการการพัฒนาพลังงานปรมาณู ประชาคมยุโรปได้ดำเนินการต่างๆ เช่น (1) ยอมรับระบบให้สิทธิพิเศษทางศุลกากร(จีเอสพี) เพื่อส่งสริมการนำเข้าโภคภัณฑ์จากประเทศกำลังพัฒนา (2) จัดหาการช่วยเหลือต่างประเทศจำนวนมหาศาลผ่านทางกองทุนพัฒนายุโรปของประชาคมฯ และ (3) ลงนามในข้อตกลงทางการค้าและความร่วมมือหลากหลายฉบับกับประเทศที่มิได้เป็นสมาชิกของประชาคมฯ

Regional Political Group : Nordic Council

กลุ่มทางการเมืองในระดับภูมิภาค : คณะมนตรีนอร์ดิก

องค์การในระดับภูมิภาคในคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย อันประกอบด้วยผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งและแต่งตั้งให้มาประชุมกันเป็นคณะมนตรี มีหน้าที่ให้คำแนะเกี่ยวกับนโยบายและโครงการร่วมแก่รัฐบาลของรัฐสมาชิก คณะมนตรีนอร์ดิกจัดตั้งเมื่อปี ค.ศ.1952 มีสมาชิกประกอบด้วย เดนมาร์ก ฟินแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และไอซ์แลนด์ ผู้แทนที่มาประจำอยู่ในคณะมนตรีนอร์ดิกได้รับการคัดเลือกจากรัฐสภาแห่งชาติของแต่ละชาติสมาชิก(โดยให้ไอซ์แลนด์มีผู้แทนได้ 5 คน ส่วนสมาชิกอื่น ๆ ให้มีผู้แทนได้ชาติละ 16 คน) ทั้งนี้โดยให้เป็นผู้แทนของกลุ่มและประชามติทางการเมืองสำคัญในชาตินั้น ๆ นอกจากนี้แล้วแต่ละรัฐสมาชิกอาจแต่งตั้งผู้แทนของภาครัฐบาลมีจำนวนมากเท่าใดก็ได้ แต่อำนาจในการลงคะแนนเสียงให้จำกัดอยู่เฉพาะผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งมาเท่านั้น สมัยประชุมสามัญของคณะมนตรีนอร์ดิกจะจัดให้มีขึ้นทุกปี แต่สมัยประชุมวิสามัญจะมีได้ต่อเมื่อได้รับการร้องขอจากชาติสมาชิก 2 ชาติ หรือจากผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากชาติต่าง ๆ จำนวน 25 คน ประธานของผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งมาจะทำหน้าที่อำนวยการให้คำปรึกษากันในเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม กฎหมาย และขนส่ง

ความสำคัญ คณะมนตรีนอร์ดิกอำนวยความสะดวกให้แก่ชาติสมาชิกด้วยการทำหน้าที่เป็นรัฐสภาข้ามชาติโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คำปรึกษาหารือ วัตถุประสงค์ดั้งเดิมอย่างหนึ่งของคณะมนตรีนอร์ดิกคือเพื่อการจัดตั้งตลาดร่วมสแกนดิเนเวียนั้นได้ถูกระงับไว้เป็นการชั่วคราว เนื่องจากได้มีการจัดตั้งสมาคมการค้าเสรียุโรป(เอฟตา)เมื่อปี ค.ศ.1959 ทั้งนี้โดยมีเดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดนเป็นสมาชิกผู้มีอำนาจเต็ม และมีฟินแลนด์เป็นสมาชิกสมทบ นอกจากนี้แล้วคณะมนตรีนอร์ดิกก็ยังเป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อ (1) ขจัดความจำเป็นที่ต้องถือหนังสือเดินทางสำหรับพลเมืองในคาบสมุทรสแกนดิเนเวียที่จะท่องเที่ยวไปในรัฐสมาชิก (2) จัดหาตลาดแรงงานในคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย และ (3) ให้การสนับสนุนการออกกฎหมายร่วมกันโดยคอยให้คำแนะนำในเรื่องต่าง ๆ

Regional political Group: Organization of African Unity (OAU)

กลุ่มทางการเมืองในระดับภูมิภาค : องค์การเอกภาพแอฟริกา (โอเอยู)

องค์การในระดับภูมิภาคที่ได้รับการจัดตั้งเมื่อ ค.ศ.1963 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ(1)พัฒนาความเป็นเอกภาพ (2)ยุติลัทธิล่าอาณานิคม (3)ส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และ(4)สร้างความมั่นคงแก่รัฐต่าง ๆ ในทวีปแอฟริกา องค์การเอกภาพแอฟริกามีสมาชิกกว่า 50 ชาติ กล่าวคือ รัฐที่มีเอกราชทุกรัฐในทวีปแอฟริกา ยกเว้นเพียงรัฐเดียว คือ แอฟริกาใต้ นอกจากนี้แล้วก็ยังมีขบวนการปลดปล่อยต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับองค์การเอกภาพแอฟริกาดังนี้ (1) ขบวนการ แอฟริกัน แนชั่นแนล คองเกรส(เอเอ็นซี, ที่แอฟริกาใต้) (2) ขบวนการ เดอะแพน แอฟริกัน คองเกรส(ที่แอฟริกาใต้) (3) ขบวนการโพลิซาลิโอ (ที่ซาฮาราของสเปน) และ (4) ขบวนการสวาโป-องค์การประชาชนแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ (ที่นามิเบีย) การจัดองค์กรขององค์การเอกภาพแอฟริกาประกอบด้วย (1) สมัชชาประมุขรัฐที่จัดประชุมในทุกปี และ (2) สำนักเลขาธิการมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงแอดดิสอาบาบา ประเทศเอธิโอเปีย

ความสำคัญ วัตถุประสงค์อย่างกว้าง ๆ ขององค์การเอกภาพแอฟริกาได้รับการยอมรับจากรัฐสมาชิกร่วมกัน แต่องค์การเอกภาพแอฟริกาก็ยังคงเป็นสมาคมของรัฐอธิปไตยที่มารวมตัวกันอย่างหลวม ๆ ไม่แน่นแฟ้นนัก โดยมีการประกาศแถลงการณ์ร่วมออกมาแต่ก็ไม่ค่อยจะมีการกระทำที่สอดประสานเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากนัก ความสามัคคีปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในแอฟริกาที่องค์การเอกภาพแอฟริกาต้องการให้มีนั้น มีอันอ่อนกำลังลงทั้งนี้เนื่องจาก (1) การแข่งขันทางการเมืองภายใน (2) ความแตกต่างทางอุดมการณ์ (3) ความสัมพันธ์กับมหาอำนาจที่แตกต่างกัน (4) ความต้องการรักษาอำนาจส่วนตัวและอำนาจอธิปไตยของรัฐที่มีมากเกินควร ข้อกำหนดที่เกี่ยวกับความมั่นคงในกฎบัตรขององค์การเอกภาพแอฟริกาไม่ได้มีการนำไปปฏิบัติหรือขยายผลออกไป ความพยายามขององค์การฯ ที่จะจัดตั้งกองกำลังร่วมเพื่อต่อสู้กับระบอบเหยียดผิวของแอฟริกาใต้ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนโครงการความร่วมมือให้ความช่วยเหลือรัฐสมาชิกในการพัฒนาเศรษฐกิจก็ประสบปัญหาจากการขาดแคลนเงินทุน นอกจากนี้แล้วองค์การฯ ก็ทำงานไม่มีประสิทธิผลในการแก้ปัญหาทุโภชนาการและทุพภิกขภัยที่ระบาดอยู่ทั่วไป อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากอัตราการเกิดขึ้นสูงมากและเกิดภาวะแห้งแล้งติดต่อกันหลายครั้ง กระนั้นก็ดีก็ได้มีการจัดตั้งฐานเพื่อการร่วมมือกันให้กว้างขวางยิ่งขึ้น กับมีการจัดตั้งธนาคารพัฒนาแอฟริกา และมีการประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อจัดตั้งตลาดร่วมในทวีปแอฟริกา ในสหประชาชาติองค์การเอกภาพแอฟริกาทำหน้าที่เป็นกลุ่มแกนนำการประชุมที่มีประสิทธิผล เพื่อนำเรื่องต่าง ๆ ที่มีความสนใจร่วมกันเข้ามาสู่สมัชชาใหญ่ กลุ่มประเทศแอฟริกานี้มีบทบาทสำคัญ (1) ในกระบวนการปลดปล่อยอาณานิคม (2) ในความพยายามที่จะสร้างระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่ขึ้นมา (3) ในการสร้างยุทธศาสตร์การพัฒนาระหว่างประเทศ และ (4) ในสร้างแรงกดดันทางศีลธรรมและทางการเมืองโลกต่อประเทศแอฟริกาใต้(ในช่วงที่ยังดำเนินนโยบายเหยียดผิว)

Regional Political Group : Organization of American States (OAS)

กลุ่มทางการเมืองในระดับภูมิภาค : องค์การนานารัฐอเมริกา (โอเอเอส)

องค์การในระดับภูมิภาคที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาจากการประชุมนานาชาติครั้งที่ 3 ของรัฐต่าง ๆ ในทวีปอเมริกา ณ กรุงโบโกต้า ประเทศโคลัมเบีย เมื่อปี ค.ศ.1948 ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดนโยบายทางการเมือง การป้องกัน เศรษฐกิจ และสังคม ให้แก่ระบบระหว่างรัฐอเมริกา เมื่อแรกจัดตั้งมีรัฐต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาจำนวน 21 รัฐ ได้ยอมรับกฎบัตรขององค์การรัฐในทวีปอเมริกานี้ แต่ต่อมารัฐบาลของ ดร.คัสโตร แห่งคิวบาได้ถูกขับออกจากองค์การนี้เมื่อปี ค.ศ.1962 ปัจจุบันองค์การฯมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 21 ชาติ โดยเป็นชาติที่อยู่ในคาบสมุทรคาริบเบียนก็มี ในอเมริกากลางก็มี และในอเมริกาใต้ก็มี รวมทั้งสหรัฐอเมริกาก็เป็นสมาชิกอยู่ชาติหนึ่งด้วยเหมือนกัน องค์การต่าง ๆ ขององค์การโอเอเอสประกอบด้วย (1) สมัชชาใหญ่ทำหน้าที่เป็นองค์กรสูงสุดของโอเอเอส โดยจะประชุมในทุก 5 ปี เพื่อพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐต่าง ๆ ในทวีปอเมริกา (2) กองประชุมที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่พิจารณาเรื่องความมั่นคงและปัญหาที่เกี่ยวข้องเมื่อสมาชิกส่วนใหญ่ร้องขอให้มีการประชุม (3) คณะมนตรีทำหน้าที่เป็นองค์กรประสานงานให้แก่โอเอเอส โดยประชุมกันที่สำนักงานใหญ่กรุงวอชิงตันดี.ซี. (4) สหภาพแพนอเมริกัน ทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการของโอเอเอส โดยมีหน้าที่ประสานกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจในหมู่รัฐในทวีปอเมริกา รวมทั้งให้การสนับสนุนด้านสวัสดิการแก่หมู่ชาติสมาชิก (5) องค์การชำนัญพิเศษต่าง ๆ ทำหน้าที่ดำเนินโครงการความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านสุขอนามัย การเกษตร การศึกษา และสวัสดิการเด็ก เป็นต้น และ (6) กองการประชุมพิเศษซึ่งจะมีการเรียกให้จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนความพยายามร่วมกันแก้ปัญหาทางเทคนิคต่าง ๆ นอกจากนี้แล้วก็ยังมีองค์กรพิเศษอื่น ๆ เช่น ธนาคารพัฒนาระหว่างนานารัฐอเมริกา และคณะกรรมมาธิการสันติภาพระหว่างนานารัฐอเมริกา ซึ่งต่างทำหน้าที่อิสระในการให้การสนับสนุนวัตถุประสงค์ของโอเอเอสโดยทั่วไป กิจกรรมสำคัญ ๆ ที่โอเอเอสดำเนินการ จะเกี่ยวกับเรื่องต่อไปนี้ (1) การระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี (2) การปฏิบัติการร่วมกันต่อต้านการรุกราน และ (3) ความร่วมมือกันทางด้านเศรษฐกิจและสังคมระหว่างรัฐสมาชิก

ความสำคัญ องค์การนานารัฐอเมริกาได้ทุ่มเทความพยายามส่วนใหญ่นับแต่ปี ค.ศ.1948 เป็นต้นมาเพื่อต่อต้านภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ในซีกโลกทางด้านนี้ สถานการณ์ร้ายแรงในภูมิภาคนี้มีดังนี้คือ (1) การเรืองอำนาจของรัฐบาล ดร.คัสโตรในคิวบา (2) วิกฤตการณ์ระหว่างประเทศหลายครั้งเกี่ยวกับมหาอำนาจ (3) การใช้กองกำลังสันติภาพของโอเอเอสเข้าแทรกแซงในสาธารณรัฐโดมินิกันเมื่อปี ค.ศ.1965 “เพื่อป้องกันมิให้เกิดคิวบาแห่งที่สอง” (4) สงครามกองโจรก่อการปฏิวัติในหลายรัฐ (5) สหรัฐอเมริกาเข้าแทรกแซงในนิคารากัวเพื่อล้มล้างระบบการปกครองซานตินิสตาของคารากัว และ (6) สหรัฐอเมริกาเข้าแทรกแซงในสงครามกลางเมืองในเอลซัลวาดอร์ ความขัดแย้งในเรื่องขอบเขตตามกฎหมายระหว่างสหประชาชาติกับโอเอเอส ในการเข้าไปแก้ไขข้อพิพาทในละตินอเมริกายุติลงได้โดยโอเอเอสเป็นฝ่ายชนะ โดยที่ให้สหประชาชาติจำกัดบทบาทตัวเองแต่เฉพาะในเรื่องการอภิปรายเท่านั้น ส่วนสหรัฐอเมริกามีบทบาทสำคัญในโอเอเอส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความมั่นคงที่รัฐบาลต่าง ๆ ส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาในการจัดหาทรัพยากรเพื่อใช้ต่อต้านภัยคุกคามจากการรุกรานและในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งโครงการพัฒนาในละตินอเมริกาจะทำได้ก็ต้องอิงอาศัยการสนับสนุนทางด้านการเงินจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น สิ่งที่ท้าทายสำคัญที่โอเอเอสเผชิญอยู่ก็คือ ปัญหาเกี่ยวกับการรุกรานโดยอ้อมและการบ่อนทำลายทางการเมืองในประเทศต่าง ๆ ในซีกโลกทางด้านนี้ โดยที่ไม่มีการปฏิวัติทางการเมืองและสังคมที่เอื้ออำนวยให้เกิดความก้าวหน้าได้อย่างแท้จริงแต่อย่างใด นอกจากนี้แล้วประเทศต่าง ๆ ในแถบละตินอเมริกาก็ยังเผชิญวิกฤติการณ์มีหนี้สินของโลก ซึ่งมีหลายประเทศเป็นหนี้หนักมากถึงกับจะต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากการล้มละลายทางเศรษฐกิจไปเลยก็มี

Regional Political Group : Organization of Central American States (ODECA)

กลุ่มทางการเมืองในระดับภูมิภาค : องค์การรัฐในอเมริกากลาง(โอดีอีซีเอ)

องค์การในระดับภูมิภาคที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ระหว่างรัฐต่างๆในอเมริกากลาง องค์การรัฐในอเมริกากลางได้รับการจัดตั้งขึ้นมาภายใต้ข้อกำหนดของกฎบัตรซานซัลวาดอร์ปี ค.ศ.1951 มีสมาชิกประกอบด้วยคอสตาริกา เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส และนิการากัว ส่วนปานามาได้รับเชิญให้เข้าร่วมด้วย ร่างกฎบัตรใหม่ของโอดีอีซีเอได้มีการเจรจากันเมื่อปี ค.ศ.1962 องค์กรต่าง ๆ ของโอดีอีซีเอมีดังนี้ (1) กองประชุมประธานาธิปดีของสาธารณรัฐต่าง ๆ ในอเมริกากลาง ทำหน้าที่เป็นองค์กรสูงสุด (2) กองการประชุมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่จัดประชุมกันทุก 2 ปี และทำหน้าที่เป็นองค์กรวินิจฉัยสั่งการหลัก โดยจะต้องมีเสียงเป็นเอกฉันท์ในกรณีที่เป็นการตัดสินใจที่สำคัญ ๆ ทั้งปวง และ (3) องค์การอเมริกากลาง มีเลขาธิการเป็นหัวหน้าทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการของโอดีอีซีเอ สมาชิกของโอดีอีซีเอได้ทำการจัดตั้งตลาดร่วมอเมริกากลาง(ซีเอซีเอ็ม) ขึ้นมาเพื่อส่งเสริมบูรณาการทางเศรษฐกิจ

ความสำคัญ องค์การรัฐต่าง ๆ ในอเมริกากลางมีบทบาทสำคัญในการสร้างเอกภาพในภูมิภาคนี้ ได้เกิดหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ จากข้อตกลงของโอดีอีซีเอ ดังนี้ (1) ธนาคารอเมริกากลางเพื่อบูรณาการทางเศรษฐกิจ(ซีเอบีอีไอ) (2) คณะมนตรีมหาวิทยาลัยระดับสูงของอเมริกากลาง(ซีเอสยูซีเอ) และ (3) สำนักเลขาธิการถาวรของสนธิสัญญาทั่ว ๆ ไปว่าด้วยบูรณาการอเมริกากลาง(เอสไออีซีเอ) วิวัฒนาการความมีเอกภาพทางการเมืองในทวีปอเมริกากลางจะเป็นไปได้ขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับความสำเร็จของรัฐต่าง ๆ ในอเมริกากลางในอันที่จะจัดการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการก่อการร้ายของกองโจรและการดำเนินการปฏิรูปทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นหลัก

United Nation : Admission

สหประชาชาติ : การยอมรับเป็นสมาชิก

กระบวนการยอมรับรัฐหนึ่งรัฐใดเข้าเป็นสมาชิกในองค์การระหว่างประเทศแห่งใดแห่งหนึ่ง ในสหประชาชาตินั้นการยอมรับสมาชิกใหม่จะต้องเป็นการเสนอแนะของคณะมนตรีความมั่นคงจากนั้นจะต้องได้คะแนนเสียงสนับสนุนสองในสามในสมัชชาใหญ่ ชาติที่เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงทุกชาติอาจเข้าขัดขวางการสมัครเข้าเป็นสมาชิกได้ทั้งนี้เนื่องจากว่าสามารถยับยั้งได้เมื่อมีปัญหาในเรื่องสมาชิกภาพนี้เข้ามา กฎบัตรสหประชาชาติกำหนดไว้ว่ารัฐที่ประสงค์จะได้รับการยอมรับให้เข้าเป็นสมาชิกจะต้อง (1) รักสันติภาพ (2) ยอมรับพันธกรณีที่ปรากฏอยู่ในกฎบัตร และ (3) องค์การสหประชาชาติใช้ดุลพินิจแล้วเห็นว่าเป็นชาติที่สามารถและมีเจตจำนงที่จะดำเนินตามข้อผูกพันเหล่านี้ได้ สหภาพสาธารณะระหว่างประเทศ เป็นต้นว่า องค์กรชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติต่าง ๆ กำหนดให้ใช้คะแนนเสียงสองในสามเมื่อจะรับสมาชิกใหม่ ส่วนกลุ่มในระดับภูมิภาค ยกตัวอย่างเช่น ประชาคมยุโรป จะใช้เกณฑ์เสียงเป็นเอกฉันท์เมื่อจะรับสมาชิกใหม่


ความสำคัญ การรับสมาชิกใหม่เข้ามาอยู่ในองค์การระหว่างประเทศองค์การใดองค์การหนึ่ง อาจจะส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ วัตถุประสงค์ และหน้าที่ในการวินิจฉัยสั่งการขององค์การนั้น ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อได้มีการรับสมาชิกใหม่เข้าสหประชาชาติในระหว่างทศวรรษปี 1960 ถึงทศวรรษปี 1970 นั้น ก็ได้ส่งผลให้สมัชชาใหญ่มีการขยายบทบาทมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้แล้วก็ยังได้มีการแก้ไขกฎบัตรให้เพิ่มสมาชิกในคณะมนตรีความมั่นคงและในคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม(อีซีโอเอสโอซี) เพื่อให้มีลักษณะเป็นตัวแทนที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น กับให้เพิ่มการเน้นย้ำตามแนวทางของกลุ่มประเทศโลกที่ 3 เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของ(1)การพัฒนาเศรษฐกิจ (2)สิทธิมนุษยชนและ(3)การลดกำลังรบ ปัญหาเกี่ยวกับการรับสมาชิกของสหประชาชาติที่สำคัญ ก็คือ การรับรัฐที่แยกออกเป็นสองส่วน คือ เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ตลอดจนการรับไต้หวัน เป้าหมายที่จะให้เกิดความสากลมาก ๆ (คือให้ได้ทุกรัฐเป็นสมาชิก) ไม่น่าจะเป็นจริงขึ้นมาได้ในสหประชาชาติ จนกว่ามหาอำนาจจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการเมืองสำคัญ ๆ ระหว่างกันได้ นอกจากนี้แล้วสวิตเซอร์แลนด์ก็ได้เลือกที่จะไม่เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ เพราะข้อผูกพันในฐานะเป็นสมาชิกนั้นจะเป็นการละเมิดความเป็นกลางที่ตนยึดถือเป็นประเพณีมาตลอด ส่วนในกรณีของรัฐอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น ซามัวตะวันตก ก็ได้เลือกที่จะไม่สมัครเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติด้วยเหตุผลทางการเงิน ในอดีตปัญหาสำคัญ ๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับสมาชิกภาพของสหประชาชาติที่สำคัญ ๆ แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยดี ก็คือ การรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศจีน ตลอดจนการรับเยอรมนีทั้งฟากตะวันออกและฟากตะวันตก กับการรับเวียดนามเข้าเป็นสมาชิก

United Nations : Amendment Process

สหประชาชาติ : กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติม

วิธีดำเนินการเสนอและให้สัตยาบันการเปลี่ยนแปลงธรรมนูญขององค์การระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ ในกติกาสันนิบาตชาติมีข้อกำหนดอยู่ในข้อที่ 26 ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมกติกาจะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อได้รับการให้สัตยาบันจากสมาชิกคณะมนตรีทุกชาติ กับจะต้องได้คะแนนเสียงข้างมากสนับสนุนในสมัชชาใหญ่ด้วย และว่าสมาชิกใดปฏิเสธที่จะยอมรับการแก้ไขเพิ่มเติมกติกาดังกล่าว สมาชิกนั้นก็จะสิ้นสุดการเป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติ ส่วนในกฎบัตรสหประชาชาติก็ได้กำหนดไว้ว่า สมัชชาใหญ่อาจจะเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎบัตรนี้ได้โดยได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนสองในสามของสมาชิกสมัชชาใหญ่(ข้อ 108) หรือว่าอาจจะเรียกให้มีการประชุมใหญ่โดยคะแนนเสียงสองในสามในสมัชชาใหญ่และโดยสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคง 9 ชาติ ๆใดชาติหนึ่งซึ่งเรียกร้องให้มีขึ้นเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎบัตร(ข้อ 109) อย่างไรก็ดี การแก้ไขเพิ่มเติมกฎบัตรนี้แม้ว่าจะเสนอมาแล้วแต่ก็จะต้องได้รับการให้สัตยาบันโดยผ่านทางกระบวนการรัฐธรรมนูญของแต่ละชาติของสมาชิกสองในสามของสหประชาชาติ รวมทั้งสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงก่อนที่การแก้ไขเพิ่มเติมนั้นจะมีผลบังคับใช้ได้

ความสำคัญ ถึงแม้ว่าสันนิบาตชาติได้ยอมรับการแก้ไขเพิ่มเติมกติกาหลายครั้งแต่ก็มีผลกระทบไม่มากนักต่อประสิทธิผลของสันนิบาตชาติ ส่วนในสหประชาชาติการแก้ไขเพิ่มเติมกฎบัตรได้รับการให้สัตยาบัน 2 ครั้งเมื่อปี ค.ศ.1965 โดยครั้งแรกเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขยายสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงจาก 11 ชาติ เป็น 15 ชาติ และเปลี่ยนแปลงคะแนนเสียงข้างมากจาก 7 เสียงเป็น 9 เสียง ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 เป็นการขยายสมาชิกของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจากเดิม 18 ชาติ เป็น 27 ชาติ ต่อมาเมื่อปี ค.ศ.1973 คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมได้ขยายสมาชิกออกไปเป็น 54 ชาติ ระบบธรรมนูญของสหประชาชาติมีลักษณะเหมือนกับระบบธรรมนูญส่วนใหญ่ คือ ถูกเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางโดยการตีความและขนบธรรมเนียมประเพณียิ่งกว่าจะถูกเปลี่ยนแปลงโดยหลักปฏิบัติการแก้ไขเพิ่มเติมอย่างเป็นทางการ แต่ด้วยเหตุที่ว่ามหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่งอาจจะขัดขวางการแก้ไขเพิ่มเติมนี้ได้ ดังนั้นการจะใช้กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมนี้อย่างเต็มที่ในอนาคตจึงไม่น่าจะเป็นไปได้เหมือนอย่างในอดีต

United Nations : Caucusing Group

สหประชาชาติ : กลุ่มแกนนำประชุม

ผู้แทนของหมู่รัฐสมาชิกที่สนใจในเรื่องเดียวกันได้มาประชุมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อกำหนดแนวทางของกลุ่มเกี่ยวกับประเด็นที่สำคัญและที่เป็นส่วนแนวทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นในสมัชชาใหญ่ กลุ่มแกนนำต่าง ๆ ที่ปัจจุบันมีความเข็มแข็งในสมัชชาใหญ่ ได้แก่ กลุ่มแอฟริกา (มีสมาชิก 50 ชาติ) กลุ่มเอเชีย (มีสมาชิก 41 ชาติ) กลุ่มอาหรับ (มีสมาชิก 21 ชาติ) กลุ่มยุโรปตะวันออก (มีสมาชิก 8 ชาติ) กลุ่มประชาคมยุโรป (มีสมาชิก 14 ชาติ) กลุ่มนอร์ดิก (มีสมาชิก 5 ชาติ) กลุ่มยุโรปตะวันตกและรัฐอื่น ๆ (มีสมาชิก 22 ชาติ) กลุ่มละตินอเมริกา (มีสมาชิก 33 ชาติ) กลุ่มชาติไม่ฝักไฝ่ฝ่ายใด (มีสมาชิก 101 ชาติ) และกลุ่มเจ็ดสิบเจ็ด (มีสมาชิก 128 ชาติ) จะมีเพียงไม่กี่รัฐที่ไม่ยอมจับกลุ่มกับแกนนำใด ๆ ได้แก่ จีน อิสราเอล แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา และ ยูโกสลาเวีย กลุ่มแกนนำมีข้อแตกต่างจากกลุ่มออกเสียงลงคะแนน กล่าวคือ สมาชิกของกลุ่มแกนนำไม่มีพันธะที่จะต้องออกเสียงลงคะแนนในสมัชชาใหญ่ตามที่ได้ตกลงใจในแกนนำนั้นและมีความผูกพันกันเหนียวแน่นน้อยกว่ากลุ่มออกเสียงลงคะแนน กลุ่มเจ็ดสิบเจ็ด(จี-77) ทำหน้าที่เป็นกลุ่มแกนนำที่ใหญ่ที่สุดในสหประชาชาติ และในการประชุมในระดับนานาชาติที่สำคัญ ๆ กลุ่มจี – 77 เริ่มมีบทบาทเข้มแข็งเป็นครั้งแรกในที่ประชุมของอังค์ถัด(การประชุมแห่งสหประชาขาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา)เมื่อปี ค.ศ.1964 และได้ขยายตัวจากเดิมที่มีสมาชิกอยู่ 77 ชาติ มามีสมาชิกจากกลุ่มประเทศในโลกที่ 3 ในปัจจุบันรวมกันถึง 128 ชาติ กลุ่มจี-77 นี้ประกอบด้วย ประชาชาติต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา ละตินอเมริกา คาริบเบียน โอเชียนเนีย(หมู่เกาะในแปซิฟิกและออสเตรเลีย) และตะวันออกกลาง ซึ่งต่างก็มีจุดยืนร่วมกันในการต่อต้านสิ่งที่พวกตนถือว่าเป็นนโยบายล่าอาณานิคมแบบใหม่ของกลุ่มประเทศโลกที่ 1 และกลุ่มประเทศโลกที่ 2 กับสนับสนุนให้มีการช่วยเหลือทางด้านการพัฒนา สนับสนุนสิทธิมนุษยชน และสนับสนุนการสร้างระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่(เอ็นไออีโอ)

ความสำคัญ กลุ่มแกนนำต่าง ๆ ได้พัฒนาขึ้นมาในช่วงแรกๆ ที่ภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกเริ่มต่อสู้กันเพื่อให้ได้ซึ่งส่วนแบ่งที่ยุติธรรมของที่นั่งในองค์กรหลัก ๆ ของสหประชาชาติ การเกิดขึ้นขององค์กรหลัก ๆ ของสหประชาชาติก็ดี การเกิดขึ้นของประชาชาติใหม่เป็นจำนวนมากก็ดี และการมีสมาชิกเพิ่มขึ้นมามากมายในสมัชชาใหญ่ก็ดีล้วนเป็นตัวไปกระตุ้นให้มีกระบวนการประชุมแกนนำนี้ก่อนที่จะมีการออกเสียงลงคะแนนครั้งสำคัญ ๆ กลุ่มที่มีความโดนเด่นกลุ่มแรกที่เกิดขึ้นก็คือ กลุ่มโซเวียต เป็นกลุ่มที่มีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมีเปอร์เซ็นต์สูงสุด คือกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ สำหรับกลุ่มเจ็ดสิบเจ็ดมีสมาชิกกระจายอยู่ทั่วโลก ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการออกเสียงลงคะแนนอยู่ในระดับสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นทางเศรษฐกิจ กลุ่มแกนนำต่าง ๆ ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการตกลงใจในสมัชชาใหญ่ คือ เปลี่ยนแปลงจากแบบที่ให้รัฐอธิปไตยแต่ละรัฐออกเสียงลงคะแนนอย่างอิสระในเรื่องต่าง ๆ ก็ให้มาเป็นแบบระบบรัฐสภาของภาคพื้นยุโรปชนิดที่มีระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรค กล่าวคือ ให้มีลักษณะการเข้ามาผสมผสานร่วมกัน และให้กลุ่มที่มีอิทธิพลต่าง ๆ สร้างความประนีประนอมในการบรรลุข้อตกลงในเรื่องต่าง ๆ กลุ่มแกนนำต่าง ๆ จะประชุมพบปะกันก่อนที่จะมีการประชุมนัดสำคัญ ๆ ของสมัชชาใหญ่หรือขององค์กรอื่น ๆ เพื่อสร้างจุดยืนร่วมกันในประเด็นต่าง ๆ ที่ถูกนำมาพิจารณา

United Nations : Collective Security

สหประชาชาติ : ความมั่นคงร่วมกัน

แนวความคิดที่กำหนดให้มีระบบความมั่นคงในระดับโลกโดยอิงอาศัยข้อตกลงของทุกรัฐหรือเกือบจะทุกรัฐให้มาปฏิบัติการร่วมกันต่อต้านชาติหนึ่งชาติใดที่จะมาทำลายสันติภาพอย่างผิดกฎหมาย ระบบความมั่นคงร่วมกันหากจะให้มีประสิทธิผลก็จะต้องมีข้อตกลงให้มีการปกป้องสถานภาพเดิมมิให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ให้มีหลักประกันที่แน่นอนจากรัฐที่เป็นสมาชิกว่า จะมีการปฏิบัติการร่วมกันต่อรัฐที่ละเมิดกฎหมายและให้รัฐที่มิได้ถูกคุกคามโดยตรงนั้นได้เข้ามาร่วมกันลงโทษรัฐผู้รุกรานนั้นด้วย ในทางทฤษฎีนั้นระบบความมั่นคงร่วมกันนี้ตั้งอยู่บนรากฐานของข้อสมมุติฐานที่ว่า จะไม่มีรัฐใดทำการท้าทายอำนาจของประชาคมโลก แต่ถ้ามีผู้รุกรานขืนทำการท้าทาย ทุกรัฐก็จะต้องเคารพในพันธกรณีของตนที่จะเข้าร่วมปฏิบัติการรักษาความสงบเรียบร้อย ระบบความมั่นคงร่วมกันนี้อย่าได้เข้าใจสับสนว่าเป็นระบบพันธมิตรหรือระบบดุลอำนาจ เพราะว่าระบบพันธมิตรหรือระบบดุลอำนาจเป็นระบบที่รัฐต่าง ๆ ในแต่ละฝ่ายจะคอยคานคอยดุลกันเอาไว้ ซึ่งสันติภาพจะดำรงอยู่ได้ก็โดยวิธีให้มีดุลยภาพทางอำนาจระหว่างกัน ในโลกสมัยใหม่นี้เคยมีความพยายามใช้ระบบความมั่นคงร่วมกันเพียง 2 ระบบเท่านั้น คือ ระบบของสันนิบาตชาติ และระบบสหประชาชาติ ในสหประชาชาติภารกิจในการรักษาสันติภาพโลกได้ถูกมอบหมายไว้แก่คณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงอาจร้องขอมวลสมาชิกให้มาร่วมใช้ทางบังคับภายใต้ข้อกำหนดในบทที่ 7 ของกฎบัตร นับตั้งแต่ที่ได้มีการยอมรับมติ “การร่วมมือกันเพื่อสันติภาพ” เมื่อปี ค.ศ.1950 แล้วนั้น สมัชชาใหญ่อาจสั่งการให้ดำเนินการใช้ปฏิบัติการต่อชาติผู้รุกรานได้เมื่อคณะมนตรีความมั่นคงประสบภาวะชะงักงัน มหาอำนาจ 5 ชาติ ๆใดชาติหนึ่ง(จีน ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต) อาจจะขัดขวางปฏิบัติการร่วมในคณะมนตรีความมั่นคงโดยการออกเสียงยับยั้งได้

ความสำคัญ คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องผ่านการทดสอบตัวเองให้ได้เมื่อยามที่ต้องเผชิญกับการรุกรานที่เปิดเผยหรือที่ลับ ๆ อันจะเป็นการละเมิดบรรทัดฐานของประชาคม การดำเนินการรักษาสันติภาพเป็นครั้งแรกของโลกที่ดำเนินการโดยสันนิบาตชาตินั้น ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่สามารถเผชิญการท้าทายเหล่านี้ได้ เมื่อเป็นการกระทำโดยมหาอำนาจ(คือ จีน ญี่ปุ่น อิตาลี เยอรมนี และสหภาพโซเวียต) จึงส่งผลให้ระบบความมั่นคงของสันนิบาตชาติพังทลายลง สำหรับสหประชาชาตินั้นเมื่อปี ค.ศ.1950 ก็ได้ใช้ปฏิบัติการความมั่นคงร่วมกันเป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งเป็นปฏิบัติการโดยทางบังคับทางทหารที่เรียกร้องมวลสมาชิกให้ความช่วยเหลือกองกำลังสหประชาชาติที่ปฏิบัติการต่อเกาหลีเหนือ เมื่อปี ค.ศ.1956 สหประชาชาติได้เผชิญกับความมั่นคงร่วมกัน 2 กรณีพร้อมๆกัน คือ (1) กรณีที่สหภาพโซเวียตใช้กำลังทหารเข้าไปปราบปรามการปฏิวัติในฮังการี และ (2) กรณีที่ฝรั่งเศส อังกฤษ และอิสราเอลโจมตีอียิปต์ ถึงแม้ว่าสหประชาชาติจะมิได้ใช้ทางบังคับกับทั้งสองกรณีดังกล่าว แต่ก็ได้ทำการประณามในแง่ศีลธรรมต่อสหภาพโซเวียต กับทั้งยังได้ช่วยกดดันให้คู่สงครามในตะวันออกกลางยุติการสู้รบ การแตกแยกระหว่างมหาอำนาจในคณะมนตรีความมั่นคง และการเกรงกลัวว่าจะเกิดสงครามนิวเคลียร์เป็น 2 ปัจจัยหลักที่ไปช่วยลดประสิทธิผลของระบบความมั่นคงร่วมกันของสหประชาชาติ และก็เพราะความล้มเหลวของระบบความมั่นคงร่วมกันนี่เองที่ทำให้เกิดสงครามกว่า 40 ครั้งในช่วงทศวรรษปี 1980

United Nations : Dispute Settlement Procedures

สหประชาชาติ : วิธีดำเนินการแก้ไขข้อพิพาท

เทคนิคและเครื่องมือที่องค์กรต่าง ๆ ของสหประชาชาตินำมาใช้ในความพยายามที่จะให้บรรลุถึงซึ่งการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธี กฎบัตรสหประชาชาติ (ข้อ 33) กำหนดไว้ว่า คู่กรณีพิพาทพึง “แก้ไขข้อพิพาทในเบื้องแรกด้วยการเจรจา การสืบสวน การไกล่เกลี่ย การประนอม การอนุญาโตตุลาการ การระงับข้อพิพาทโดยทางศาล การใช้หน่วยงานหรือองค์กรในระดับภูมิภาค หรือด้วยการใช้สันติวิธีอื่น ๆ ” หากแนวทางแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติแบบดั้งเดิมเหล่านี้เกิดความล้มเหลวหรือไม่มีความเหมาะสม ก็อาจนำข้อพิพาทเสนอต่อคณะมนตรีความมั่นคงหรือสมัชชาใหญ่ โดยรัฐที่เป็นสมาชิกหรือที่มิได้เป็นสมาชิกที่ได้ตกลงยอมรับพันธกรณีตามกฎบัตรที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขข้อพิพาท เลขาธิการสหประชาชาติ(ภายใต้กฎบัตร ข้อ 99) อาจจะนำสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งที่จะเป็นการคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงแจ้งให้คณะมนตรีความมั่นคงได้ทราบ ปฏิบัติการในเบื้องต้นของสหประชาชาติอาจจะกระทำในรูปแบบของการเรียกร้องมิให้ขยายสถานการณ์ให้ลุกลามออกไป หรือหากเป็นกรณีที่เกิดการสู้รบกันแล้วก็อาจจะออกคำสั่งให้มีการหยุดยิง คู่กรณีพิพาทจะมีโอกาสเสนอกรณีพิพาทนี้ต่อคณะมนตรีความมั่นคงหรือสมัชชาใหญ่ ซึ่งการอภิปรายกันในองค์กรทั้งสองแห่งนี้อาจจะมีประโยชน์ใช้เป็นลู่ทางร่วมกันในการแก้ไขข้อพิพาทได้ นอกจากนี้แล้ว “การทูตเงียบ” (กล่าวคือ การผสมผสานกันของการเจรจาอย่างเปิดเผยและการเจรจาเป็นการลับ)ที่ดำเนินการในสำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ช่วยให้ผ่าทางตันหรือภาวะชะงักงันได้อีกเหมือนกัน เมื่อเทคนิควิธีทางด้านการไกล่เกลี่ยและการประนอมที่ใช้ในสหประชาชาติที่นครนิวยอร์กประสบความล้มเหลว ก็อาจจะมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการสืบสวนและการประนอม หรือผู้แทนหรือผู้ไกล่เกลี่ยของสหประชาชาติให้เดินทางไปยังที่ที่เกิดข้อพิพาทนั้นเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงและพยายามระงับข้อพิพาทตรงจุดที่เกิดเหตุนั้นเอง หากเกิดการเผชิญหน้าระหว่ามหาอำนาจเป็นการส่อแสดงว่าจะทำให้ข้อพิพาทขยายตัวออกไป ก็อาจจะมีการใช้ “การทูตเชิงป้องกัน” ในรูปแบบของการส่งกองกำลังรักษาความสงบของสหประชาชาติเข้าไปประจำอยู่ในที่นั้นเพื่อมิให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ในขั้นสุดท้ายเมื่อมีทางเป็นไปได้ที่จะทำให้คู่กรณียอมรับได้ ก็จะนำแนวทางกฎหมายมาแก้ไขข้อพิพาท คือ การอนุญาโตตุลาการ หรือการตัดสินกรณีพิพาทโดยทางศาล

ความสำคัญ ตลอดระยะเวลาที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาแล้วนี้ สหประชาชาติได้ใช้อิทธิพลของตนเพื่อโนมน้าวให้มีการใช้แนวทางสันติและแนวทางผ่อนปรนกับข้อพิพาท และสถานการณ์ต่าง ๆ ถึงแม้ว่าข้อเรียกร้องและคำสั่งหยุดยิงของสหประชาชาติภายใต้วิธีการแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติวิธีนี้จะเป็นแต่เพียงข้อเสนอแนะซึ่งคู่กรณีพิพาทไม่อาจถูกบังคับให้เชื่อฟังได้ก็ตาม แต่การเป็นปฏิปักษ์ขัดแย้งกันหลายต่อหลายครั้งสามารถยับยั้งไว้ได้ โดยการเข้าแทรกแซงของสหประชาชาติอย่างทันเวลาพอดี เกียรติภูมิของสหประชาชาติในฐานะเป็นองค์การระดับโลกที่มีความสามารถที่จะรวมมติโลกเข้ามาทำการกดดันคู่กรณีพิพาทให้ยอมรับวิธีดำเนินการแก้ไขข้อพิพาทโดยสันตินี้น่าจะมีประโยชน์มากไปกว่านี้หากสหประชาชาติจะเข้าไปมีบทบาทเป็นตำรวจโลก เป็นตุลาการ และเป็นลูกขุนเสียเอง การเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจสามารถหลีกเลี่ยงได้โดยให้สหประชาชาติเข้าไปอยู่แทนที่จะปล่อยให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง อย่างเช่นกรณีในเลบานอนเมื่อปี ค.ศ.1958 และกรณีในคองโกเมื่อปี ค.ศ.1960 การต่อสู้อย่างรุนแรงระหว่างประชาชนเพื่อแย่งชิงดินแดนระหว่างกัน ได้ลดความรุนแรงลงได้ในกรณีแคว้นแคชเมียร์ ปาเลสไตน์ และไซปรัส ส่วนการต่อสู้ที่ล่อแหลมต่อการขยายตัวเป็นสงครามระดับอนุทวีปที่สำคัญระหว่างอินเดียกับปากีสถานก็ยุติลงได้โดยความพยายามของสหประชาชาติเมื่อปี ค.ศ.1948 และต่อมาอีกครั้งหนึ่งเมื่อปี ค.ศ.1965 ข้อพิพาท 2 ครั้ง คือ ข้อพิพาทระหว่างอาหรับกับอิสราเอลกรณีหนึ่ง กับข้อพิพาทระหว่างอินเดียกับปากีสถานอีกกรณีหนึ่งนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งเผชิญหน้าที่ลำบากแสนเข็น สหประชาชาติก็ยังสามารถช่วยให้ยุติเด็ดขาดลงได้เหมือนเมื่อครั้งปี ค.ศ.1948 ว่าโดยหลักการแล้วเทคนิควิธีที่มีประสิทธิผลมากที่สุดที่สหประชาชาติใช้ ก็คือ เทคนิควิธีสนับสนุนให้คู่กรณีหันหน้าเจรจากันโดยตรงแบบทวิภาคี กองกำลังสหประชาชาติได้ถูกใช้ให้ทำหน้าที่เป็นกองกำลังรักษาสันติภาพถึง 14 ครั้ง ในช่วงเวลาระหว่างปี ค.ศ.1945 ถึงปี ค.ศ.1987 ในทศวรรษปี 1980 ความพยายามของสหประชาชาติที่จะช่วยตัวประกันชาวสหรัฐฯที่ถูกจับตัวในอิหร่าน ตลอดจนความพยายามที่จะผลักดันให้สหภาพโซเวียตถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน ล้วนแต่เป็นเหตุการณ์ที่ท้าทายความสามารถในการแก้ไขข้อพิพาทครั้งสำคัญยิ่งของสหประชาชาติ

United Nations : Domestic Jurisdiction Clause

สหประชาชาติ : ข้อกำหนดว่าด้วยเขตอำนาจภายใน

ข้อกำหนดในกฎบัตร (ข้อ 2) ที่กำหนดไว้เกี่ยวกับขอบเขตการทำงานของสหประชาชาติ ซึ่งระบุว่า “ไม่มีความข้อใดที่มีอยู่ในกฎบัตรฉบับปัจจุบันจะให้อำนาจแก่สหประชาชาติเข้าแทรกแซงในกิจการที่โดยสาระสำคัญแล้วอยู่ในเขตอำนาจภายในของรัฐใดรัฐหนึ่ง” แต่การปฏิบัติการร่วมกันเพื่อธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ มิได้รวมอยู่ในข้อกำหนดว่าด้วยเขตอำนาจภายในนี้ แต่ก็มิได้มีการให้คำจำกัดความว่าอะไรคือปัญหา “ระหว่างประเทศ” (ที่เป็นเรื่องที่สหประชาชาติสามารถเข้าไปแทรกแซงได้) และอะไรคือปัญหา “ในระดับชาติ” หรือ “ในระดับภายใน”

ความสำคัญ ข้อกำหนดว่าด้วยเขตอำนาจภายในนี้เป็นการประกาศหลักการทางการเมือง ยิ่งกว่าที่จะเป็นข้อจำกัดอำนาจของสหประชาชาติทางกฎหมาย อย่างไรก็ดีข้อกำหนดนี้เป็นหมวดหนึ่งในกฎบัตรที่มักจะมีการอ้างถึงอยู่บ่อยมาก เมื่อเกิดกรณีโต้เถียงกันขึ้นมา สมาชิกที่โต้แย้งปฏิบัติการของสหประชาชาติก็จะทำการปกป้องตนเอง ด้วยการอ้างว่าเรื่องที่สหประชาชาติเข้าไปพิจารณานั้นเป็นการเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของรัฐที่มีอำนาจอธิปไตย แต่ในที่สุดแล้วปัญหาเรื่องข้อกำหนดว่าด้วยเขตอำนาจภายในนี้จะทำการตัดสินโดยองค์กรต่าง ๆ ของสหประชาชาติโดยผ่านวิธีการออกเสียงลงคะแนนกัน ในการพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับลัทธิล่าอาณานิคม(กรณีนามิเบีย เป็นต้น) และที่เกี่ยวกับการปฏิเสธสิทธิมนุษยชน (กรณีการแยกผิวในแอฟริกาใต้ เป็นต้น) สมัชชาใหญ่ได้ปฏิเสธข้ออ้างที่ว่าเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้โดยสาระสำคัญแล้วอยู่ในเขตอำนายภายในของรัฐ

United Nations : Dumbarton Oaks Conference

สหประชาชาติ : การประชุมที่ดัมบาร์ตันโอ๊กส์

การสนทนาหยั่งเชิงเกี่ยวกับลักษณะและหน้าที่ขององค์การสหประชาชาติที่จะจัดตั้งขึ้นมา การประชุมที่ดัมบาร์ตันโอ๊กส์มีขึ้นระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม ปี ค.ศ.1944 ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มีผู้แทนของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสหภาพโซเวียต เข้าร่วมเจรจาในขั้นตอนเริ่มแรกที่สำคัญยิ่งนี้ ในขณะที่จีนได้เข้าร่วมกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในช่วงที่ 2 ได้มีการแลกเปลี่ยนทัศนะกัน มีการประนีประนอมระหว่างกัน และมีการเจรจากันในเรื่องที่จะยกร่างข้อเสนอให้จัดตั้งองค์การในระดับโลกใหม่คือสหประชาชาตินี้เอง

ความสำคัญ ข้อตกลงระหว่างมหาอำนาจเกี่ยวกับลักษณะขององค์การโลกที่จะจัดตั้งขึ้นมาสามารถตกลงกันได้ในเกือบจะทุกประเด็น ประเด็นที่ตกลงกันไม่ได้(เช่น การใช้อำนาจยับยั้ง สมาชิกภาพ และวิธีการแก้ไขข้อพิพาท) ก็ให้นำเสนอฝ่ายการเมืองในระดับสูง คือ ผู้ยิ่งใหญ่ 3 คนเป็นผู้ตกลงใจ กล่าวคือ นายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิลล์แห่งอังกฤษ ประธานาธิปดี แฟรงกลิน ดี รูสเวลต์ แห่งสหรัฐอเมริกา และนายกรัฐมนตรี โยเซป สตาลิน แห่งสหภาพโซเวียต ในที่ประชุมยัลตาปี ค.ศ.1945 ร่างข้อเสนอที่มีการแก้ไขของเดิมและเพิ่มของใหม่เข้าไปก็ได้กลายเป็นกฎบัตรสหประชาชาติหลังจากการประชุมซานฟรานซิสโก ระหว่างเดือนเมษายน ถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ.1945

United Nations : Egalitarianism, Elitism, Majoritarianism

สหประชาชาติ : หลักความเท่าเทียมกัน, หลักอภิชน และหลักฝ่ายข้างมาก

แนวความคิดเกี่ยวกับลักษณะขั้นพื้นฐานและกระบวนการตกลงใจขององค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ หลักการความเท่าเทียมกันประกอบเป็นแนวความคิดว่ารัฐต่าง ๆ ตามประเพณีนิยมมีความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยเหตุที่รัฐแต่ละรัฐมีอำนาจสูงสุด(อำนาจอธิปไตย) ดังนั้นทุกรัฐจึงมีความเท่าเทียมกันในทางกฎหมาย ส่วนหลักอภิชนนั้นเป็นการให้การรับรองว่าการเมืองระหว่างมหาอำนาจทำให้บางรัฐตามข้อเท็จจริง “มีความเท่าเทียมมากกว่า” รัฐอื่น ๆ สำหรับหลักฝ่ายข้างมากนั้น เป็นการนำระบบวินิจฉัยสั่งการมาใช้โดยสอดคล้องกับการปฏิบัติของสถาบันประชาธิปไตยต่างๆภายในรัฐ

ความสำคัญ หลักการสำคัญ 3 อย่าง คือ หลักความเท่าเทียมกัน หลักอภิชน และหลักฝ่ายข้างมากนี้ ได้นำมาใช้ในองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ในโลกยุคปัจจุบันนี้ ยกตัวอย่างเช่น หลักการแรก คือ หลักการความเท่าเทียมกัน ได้นำมาใช้ในสมัชชาในสหประชาชาติ เหมือนอย่างที่เคยใช้ในสมัชชาสันนิบาตชาติ โดยมีผู้แทนเท่ากันและมีคะแนนเสียงเท่ากัน การประชุมใหญ่ขององค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น การประชุมขององค์กรชำนัญพิเศษต่าง ๆ ตลอดจนการประชุมขององค์กรกำหนดนโยบายขั้นพื้นฐานขององค์การในระดับภูมิภาคส่วนใหญ่ ยังอาศัยหลักการความเท่าเทียมกันในเรื่องจำนวนผู้แทนและในการลงคะแนนเสียง ส่วนหลักการอภิชนซึ่งยังอาศัยหลักปฏิบัติในอดีตของความร่วมมือแห่งยุโรปและคณะมนตรีสันนิบาต ก็ได้นำมาใช้กับหลักสมาชิกภาพถาวรและหลักอำนาจยับยั้งที่มหาอำนาจทั้ง 5 ชาติใช้อยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ นอกจากนั้นแล้ว หลักอภิชนนี้ก็ยังมีการนำไปใช้ในระบบการลงคะแนนเสียงตามน้ำหนัก ยกตัวอย่างเช่น การลงคะแนนเสียงในธนาคารโลก(ไอบีอาร์ดี) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) (ทั้งสององค์การนี้คะแนนเสียงของสมาชิกจะถูกกำหนดจากจำนวนเงินอุดหนุน) ส่วนในรัฐสภายุโรปมีการจัดสรรที่นั่งของสมาชิกมากน้อยไม่เท่ากัน ที่ได้ที่นั่งสูงสุดคือ ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ และอิตาลี ส่วนที่ได้สมาชิกจำนวนที่ต่ำสุด คือ ลักเซมเบิร์ก สำหรับหลักการฝ่ายข้างมากนั้น ก็ได้มีการยอมรับอย่างกว้างขวางในหมู่องค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ยกตัวอย่างเช่น องค์กรหลัก ๆ ทุกองค์กรของสหประชาชาติ อาจจะใช้หลักการฝ่ายข้างมากนี้ในการลงคะแนนเสียงเกี่ยวกับการตกลงใจต่าง ๆ