Google

Wednesday, October 21, 2009

United Nations : Trust Territory

สหประชาชาติ : ดินแดนภาวะทรัสตี

ดินแดนที่เคยอยู่ในอาณัติของสันนิบาตชาติ หรือดินแดนที่ยังมิได้ปกครองตนเอง ที่ถูกนำมาให้อยู่ภายใต้ระบบภาวะทรัสตีของสหประชาชาติ ดินแดนในอาณัติทุกแห่งที่ยังมิได้เอกราชได้กลายมาเป็นดินแดนภาวะทรัสตีเมื่อปี ค.ศ.1946 ยกเว้นที่ถูกนำมาเข้าอยู่ในภาวะทรัสตีเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งแห่งที่เป็นผลมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ โซมาลีแลนด์ของอิตาลี ดินแดนภาวะทรัสตีแต่ละแห่งจะมีข้อตกลงรองรับ คือ มีการร่างข้อตกลงพิเศษโดยรัฐที่เข้าปกครองโดยความเห็นชอบจากสมัชชาใหญ่ การควบคุมดูแลการบริหารดินแดนภาวะทรัสตีต่าง ๆ จะดำเนินการโดยคณะมนตรีภาวะทรัสตี โดยอาศัยรายงานประจำปี การร้องเรียนของประชาชนที่อยู่ในดินแดนภาวะทรัสตีและการส่งคณะกรรมาธิการไปเยี่ยมเยียนดินแดนภาวะทรัสตี

ความสำคัญ เมื่อถึงปี ค.ศ.1982 ดินแดนภาวะทรัสตีจำนวนสิบในสิบเอ็ดแห่งได้รับเอกราชก็มี ไปรวมเข้ากับประเทศเพื่อนบ้านโดยอิงอาศัยหลักการออกเสียงประชามติที่ควบคุมโดยสหประชาชาติก็มี ดินแดนเหล่านี้ได้แก่ (1) โตโกแลนด์ของอังกฤษ (รวมเข้ากับประเทศกานา ค.ศ.1957) (2) โตโกแลนด์ของฝรั่งเศส (เป็นประเทศโตโก ค.ศ.1960) (3) แคเมอรูนของอังกฤษ(ส่วนหนึ่งไปรวมกับแคเมอรูน กับอีกส่วนหนึ่งรวมกับไนจีเรีย ค.ศ.1961) (4) ทันกันยิกา (เป็นประเทศทันซาเนีย ค.ศ.1961) (5) รูอันดา-อุรุนดี(เป็นประเทศบุรุนดีและสวันดา ค.ศ.1962) (6) ซามัวตะวันตก(เป็นประเทศซามัว ค.ศ.1962) (7) นาอูรู(เป็นประเทศนาอูรู ค.ศ.1968) และ (8) นิวกินี(เป็นประเทศปาปัวนิวกินี ค.ศ.1975) ส่วนดินแดนภาวะทรัสตีที่เหลือ และรัฐที่ทำหน้าที่บริหาร คือ ดินแดนภาวะทรัสตีแห่งหมู่เกาะแปซิฟิก โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้บริหาร หมู่เกาะแปซิฟิกเป็นดินแดนภาวะทรัสตีทางยุทธศาสตร์ที่บริหารภายใต้การควบคุมของคณะมนตรีความมั่นคงเนื่องจากหมู่เกาะเหล่านี้เคยถูกญี่ปุ่นยึดครองในสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีความสำคัญต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา จึงถูกนำให้ไปอยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบของคณะมนตรีความมั่นคงที่สมาชิกถาวรสามารถใช้สิทธิ์ยับยั้งได้ สมัชชาใหญ่ได้เคยมีมติและปฏิญญาต่าง ๆ ออกมาหลายชนิดเพื่อจะใช้บีบบังคับแอฟริกาใต้ให้นำดินแดนในอาณัติของตนคือแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้มาอยู่ภายใต้ระบบภาวะทรัสตี หรือไม่ก็ให้เอกราชเป็นรัฐใหม่ชื่อ นามิเบีย ไปเสียเลย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ปฏิญญาสมัชชาใหม่ ค.ศ. 1960 ว่าด้วย “การให้เอกราชแก่ประเทศและประชาชนที่เป็นอาณานิคม” (มักเรียกว่าคำประกาศต่อต้านอาณานิคม) มีข้อกำหนดไว้ว่า “ความไม่เพียงพอในการเตรียมการทางการเมืองทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางการศึกษาไม่พึงนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อชะลอการให้เอกราช” คำประกาศนี้ได้ถูกนำมาตีความและนำมาใช้อย่างกว้างขวางโดยคณะกรรมาธิการ 24 นาย ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามคำประกาศนี้ และได้กลายมาเป็นประเด็นสำคัญของขบวนการต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคมในสหประชาชาติด้วย

No comments:

Post a Comment