Google

Wednesday, October 21, 2009

Regional Economic Group : European Free Trade Association (EFTA)

กลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค : สมาคมการค้าเสรียุโรป(เอฟตา)

องค์การในระดับภูมิภาคที่จัดตั้งขึ้นมาโดยอนุสัญญาสตอกโฮล์มปี ค.ศ. 1959 เป็นอนุสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อขจัดพิกัดอัตราศุลกากรและอุปสรรคทางการค้าอื่นๆในหมู่สมาชิก และเพื่อสร้างความกลมกลืนในองค์ประกอบต้นทุนการผลิตภายใน นอกเหนือจากที่ได้กำหนดตารางในการขจัดพิกัดอัตราศุลกากรทางด้านอุตสาหกรรมไว้ในปี ค.ศ. 1970 แล้ว สมาชิกแรกเริ่มของเอฟตา (ออสเตรีย เดนมาร์ก อังกฤษ นอร์เวย์ โปรตุเกส สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์) ได้ตกลงกันที่จะทดลองลดอุปสรรคทางการค้าด้านเกษตรกรรมและการประมงลงเมื่อปี ค.ศ. 1961 เอฟตามีฟินแลนด์เข้ามาร่วมด้วยโดยเป็นสมาชิกสมทบผ่านทางสนธิสัญญาฟินิฟตา ซึ่งกำหนดให้ขยายพื้นที่การค้าเสรีไปถึงฟินแลนด์ ให้มีคณะมนตรีพิเศษทำหน้าที่ขจัดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกของฟินแลนด์ และให้ฟินแลนด์สามารถทำการค้าเป็นพิเศษกับสหภาพโซเวียตได้ ในปี ค.ศ. 1970 ไอซ์แลนด์ได้เป็นสมาชิกประเภทมีอำนาจเต็ม เอฟตามีโครงสร้างทางการจัดการที่ง่ายๆโดยมีคณะมนตรีรัฐมนตรีเป็นประมุข ทำหน้าที่แก้ไขกรณีพิพาท พิจารณาข้อร้องเรียน ให้คำแนะนำแก่รัฐบาลที่เป็นสมาชิก และทำหน้าที่เป็นหน่วยงานในการเจรจาตกลงใจที่สำคัญๆ นอกจากนี้แล้วก็ยังมีคณะกรรมาธิการสามัญประจำ 6 นายทำหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาทางนโยบายแก่คณะมนตรีรัฐมนตรี กับมีสำนักเลขาธิการตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และมีผู้แทนของประเทศสมาชิกเอฟตาประจำอยู่ที่สมัชชาที่ปรึกษาคณะมนตรีแห่งยุโรป โดยจะประชุมกันอย่างไม่เป็นทางการที่เมืองสตราบูกในระหว่างการประชุมประจำปี บทบาทของเอฟตาอ่อนแอลงมากแต่ไม่ถึงกับหมดไปทีเดียวเมื่อสมาชิก 3 ชาติ คือ อังกฤษ และเดนมาร์กเมื่อปี ค.ศ. 1973 และโปรตุเกสเมื่อปี ค.ศ. 1980 ได้ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การคู่แข่ง คือ ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป(อีอีซี) พื้นที่การค้าเสรีที่ครอบคลุมพื้นที่ของสมาชิกอีอีซีและเอฟตาทั้งหมดได้ดำเนินการจัดตั้งโดยข้อตกลงสหภาพศุลกากรปี ค.ศ. 1977

ความสำคัญ เอฟตาซึ่งได้รับสมญานามมาตั้งแต่ต้นว่าเป็นกลุ่ม”เจ็ดรอบนอก”ได้พยายามที่จะมีสถานะมีอำนาจต่อรองกับกลุ่ม”เจ็ดรอบใน”ของตลาดร่วม พิกัดอัตราศุลกากรและอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงของการค้าสินค้าทางอุตสาหกรรมในระหว่างมวลสมาชิกได้ถูกขจัดออกไปทั้งหมด แต่ก็มีความคืบหน้าน้อยในด้านการลดพิกัดอัตราศุลกากรเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ปลาและการเกษตร อนาคตของเอฟตาส่วนใหญ่ก็จะขึ้นอยู่กับความสำเร็จหรือความล้มเหลวของประชาคมเศรษฐกิจยุโรป(อีอีซี) ที่มีอิทธิพลมากกว่า และก็ยังขึ้นอยู่กับว่าประชาชาติในกลุ่มเอฟตาสามารถแข่งขันกับสมาชิกของอีอีซีได้อย่างมีประสิทธิผลหรือไม่

No comments:

Post a Comment