Google

Wednesday, October 21, 2009

United Nations : Collective Security

สหประชาชาติ : ความมั่นคงร่วมกัน

แนวความคิดที่กำหนดให้มีระบบความมั่นคงในระดับโลกโดยอิงอาศัยข้อตกลงของทุกรัฐหรือเกือบจะทุกรัฐให้มาปฏิบัติการร่วมกันต่อต้านชาติหนึ่งชาติใดที่จะมาทำลายสันติภาพอย่างผิดกฎหมาย ระบบความมั่นคงร่วมกันหากจะให้มีประสิทธิผลก็จะต้องมีข้อตกลงให้มีการปกป้องสถานภาพเดิมมิให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ให้มีหลักประกันที่แน่นอนจากรัฐที่เป็นสมาชิกว่า จะมีการปฏิบัติการร่วมกันต่อรัฐที่ละเมิดกฎหมายและให้รัฐที่มิได้ถูกคุกคามโดยตรงนั้นได้เข้ามาร่วมกันลงโทษรัฐผู้รุกรานนั้นด้วย ในทางทฤษฎีนั้นระบบความมั่นคงร่วมกันนี้ตั้งอยู่บนรากฐานของข้อสมมุติฐานที่ว่า จะไม่มีรัฐใดทำการท้าทายอำนาจของประชาคมโลก แต่ถ้ามีผู้รุกรานขืนทำการท้าทาย ทุกรัฐก็จะต้องเคารพในพันธกรณีของตนที่จะเข้าร่วมปฏิบัติการรักษาความสงบเรียบร้อย ระบบความมั่นคงร่วมกันนี้อย่าได้เข้าใจสับสนว่าเป็นระบบพันธมิตรหรือระบบดุลอำนาจ เพราะว่าระบบพันธมิตรหรือระบบดุลอำนาจเป็นระบบที่รัฐต่าง ๆ ในแต่ละฝ่ายจะคอยคานคอยดุลกันเอาไว้ ซึ่งสันติภาพจะดำรงอยู่ได้ก็โดยวิธีให้มีดุลยภาพทางอำนาจระหว่างกัน ในโลกสมัยใหม่นี้เคยมีความพยายามใช้ระบบความมั่นคงร่วมกันเพียง 2 ระบบเท่านั้น คือ ระบบของสันนิบาตชาติ และระบบสหประชาชาติ ในสหประชาชาติภารกิจในการรักษาสันติภาพโลกได้ถูกมอบหมายไว้แก่คณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงอาจร้องขอมวลสมาชิกให้มาร่วมใช้ทางบังคับภายใต้ข้อกำหนดในบทที่ 7 ของกฎบัตร นับตั้งแต่ที่ได้มีการยอมรับมติ “การร่วมมือกันเพื่อสันติภาพ” เมื่อปี ค.ศ.1950 แล้วนั้น สมัชชาใหญ่อาจสั่งการให้ดำเนินการใช้ปฏิบัติการต่อชาติผู้รุกรานได้เมื่อคณะมนตรีความมั่นคงประสบภาวะชะงักงัน มหาอำนาจ 5 ชาติ ๆใดชาติหนึ่ง(จีน ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต) อาจจะขัดขวางปฏิบัติการร่วมในคณะมนตรีความมั่นคงโดยการออกเสียงยับยั้งได้

ความสำคัญ คณะมนตรีความมั่นคงจะต้องผ่านการทดสอบตัวเองให้ได้เมื่อยามที่ต้องเผชิญกับการรุกรานที่เปิดเผยหรือที่ลับ ๆ อันจะเป็นการละเมิดบรรทัดฐานของประชาคม การดำเนินการรักษาสันติภาพเป็นครั้งแรกของโลกที่ดำเนินการโดยสันนิบาตชาตินั้น ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่สามารถเผชิญการท้าทายเหล่านี้ได้ เมื่อเป็นการกระทำโดยมหาอำนาจ(คือ จีน ญี่ปุ่น อิตาลี เยอรมนี และสหภาพโซเวียต) จึงส่งผลให้ระบบความมั่นคงของสันนิบาตชาติพังทลายลง สำหรับสหประชาชาตินั้นเมื่อปี ค.ศ.1950 ก็ได้ใช้ปฏิบัติการความมั่นคงร่วมกันเป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งเป็นปฏิบัติการโดยทางบังคับทางทหารที่เรียกร้องมวลสมาชิกให้ความช่วยเหลือกองกำลังสหประชาชาติที่ปฏิบัติการต่อเกาหลีเหนือ เมื่อปี ค.ศ.1956 สหประชาชาติได้เผชิญกับความมั่นคงร่วมกัน 2 กรณีพร้อมๆกัน คือ (1) กรณีที่สหภาพโซเวียตใช้กำลังทหารเข้าไปปราบปรามการปฏิวัติในฮังการี และ (2) กรณีที่ฝรั่งเศส อังกฤษ และอิสราเอลโจมตีอียิปต์ ถึงแม้ว่าสหประชาชาติจะมิได้ใช้ทางบังคับกับทั้งสองกรณีดังกล่าว แต่ก็ได้ทำการประณามในแง่ศีลธรรมต่อสหภาพโซเวียต กับทั้งยังได้ช่วยกดดันให้คู่สงครามในตะวันออกกลางยุติการสู้รบ การแตกแยกระหว่างมหาอำนาจในคณะมนตรีความมั่นคง และการเกรงกลัวว่าจะเกิดสงครามนิวเคลียร์เป็น 2 ปัจจัยหลักที่ไปช่วยลดประสิทธิผลของระบบความมั่นคงร่วมกันของสหประชาชาติ และก็เพราะความล้มเหลวของระบบความมั่นคงร่วมกันนี่เองที่ทำให้เกิดสงครามกว่า 40 ครั้งในช่วงทศวรรษปี 1980

No comments:

Post a Comment