Google

Wednesday, October 21, 2009

Political Community: Regionalism

ประชาคมทางการเมือง : ภูมิภาคนิยม

แนวความคิดที่ว่าประชาชาติที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เดียวกันหรือมีผลประโยชน์ร่วมกันก็สามารถมาร่วมกันทำการจัดตั้งองค์การที่มีสมาชิกจำกัดอยู่เฉพาะในภูมิภาคเพื่อแก้ไขปัญหาทางทหาร ทางการเมือง และทางการปฏิบัติหน้าที่ ภูมิภาคนิยมเป็นแนวทางมัชฌิมาปฏิปทาที่จะใช้แก้ปัญหาที่อยู่ระหว่างแนวทางสุดโต่งสองข้างคือคตินิยมพึ่งตนเองกับคตินิยมสากล ในกฎบัตรสหประชาชาติได้สนับสนุนให้มีภูมิภาคนิยมนี้เพื่อช่วยเสริมให้องค์การโลกสามารถบรรลุวัตถุประสงค์และทำกิจกรรมต่างๆได้ แต่ก็ได้กำหนดไว้ว่า การกระทำขององค์การในระดับภูมิภาคทั้งหลายทั้งปวงจะต้องให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และหลักการของสหประชาชาติ องค์การระดับภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ (1) องค์การในระบบพันธมิตรทางทหาร เช่น องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ(นาโต) และองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (2) องค์การทางเศรษฐกิจ เช่น ประชาคมยุโรป สมาคมการค้าเสรียุโรป(เอฟตา) เบเนลักซ์ สมาคมบูรณาการละตินอเมริกา(แอลเอไอเอ) ตลาดร่วมอเมริกากลาง สภาความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจร่วมกัน(โคมีคอน) และ (3) องค์การทางการเมือง เช่น องค์การนานารัฐอเมริกา(โอเอเอส) สภายุโรป สันนิบาตอาหรับ และองค์การเอกภาพแอฟริกา(โอเอยู)

ความสำคัญ การที่องค์การที่มีสมาชิกจำกัดอยู่เฉพาะในภูมิภาคมีความเจริญเติบโตขึ้นมามากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี้ ก็สืบเนื่องมาจากได้มีการเน้นย้ำให้มีการสร้างบูรณาการในระดับภูมิภาคขึ้นมาเพื่อใช้เป็นแนวทางให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ทางผลประโยชน์แห่งชาติ บทบาทของพันธมิตรในระดับภูมิภาคได้กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากในช่วงเวลานี้ ว่าเป็นการนำเอาระบบดุลอำนาจต่างๆมาใช้แทนระบบความมั่นคงร่วมกันแห่งสหประชาชาติ นักสังเกตการณ์มีทัศนะแตกต่างกันในประเด็นที่ว่า การรวมกลุ่มทางทหารก่อให้เกิดภัยคุกคามของสงครามหรือว่าก่อให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลต่อการธำรงสันติภาพหรือความมั่นคงกันแน่ ในกรณีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธีก็ได้มีการโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกิดขึ้นระหว่างพวกที่ให้การสนับสนุนการแก้ไขข้อพิพาทในระดับภูมิภาค กับอีกพวกหนึ่งที่สนับสนุนให้นำเรื่องที่เกิดพิพาทกันนั้นส่งไปให้สหประชาชาติพิจารณา ยกตัวอย่างเช่น ข้อขัดแย้งทางกฎหมายที่เกิดขึ้นระหว่างองค์การนานารัฐอเมริกากับสหประชาชาติในระหว่างที่เกิดวิกฤติการณ์คิวบา วิกฤติการณ์โดมินิกัน วิกฤติการณ์นิคารากัว วิกฤติการณ์เอลซัลวาดอร์ และวิกฤติการณ์กัวเตมาลา องค์การที่ทำหน้าที่ในระดับภูมิภาคได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมาก ดังนั้นก็จึงทำให้ภูมิภาคนิยมนี้มีความเจริญเติบโตขึ้นมามาก แต่การกีดกันทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างกลุ่มที่แข่งขันกันก็อาจจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มที่จะให้มีการค้าเสรีมากยิ่งขึ้นได้ ในทางจิตวิทยานั้นบุคคลมีแนวโน้มที่จะให้การสนับสนุนการรวมกลุ่มในแบบที่มีสมาชิกจำกัดเฉพาะในภูมิภาคนี้ยิ่งกว่าจะให้การสนับสนุนแก่องค์การระดับโลกที่อยู่ไกลตัว ภูมิภาคนิยมนี้อาจจะเป็นแนวทาง”ค่อยเป็นค่อยไป”ที่สามารถนำมาใช้สร้างประชาคมระหว่างประเทศและสหพันธ์ทางการเมืองที่มีขอบเขตรับผิดชอบเหนือประชารัฐได้

No comments:

Post a Comment