Google

Wednesday, October 21, 2009

United Nations : Dispute Settlement Procedures

สหประชาชาติ : วิธีดำเนินการแก้ไขข้อพิพาท

เทคนิคและเครื่องมือที่องค์กรต่าง ๆ ของสหประชาชาตินำมาใช้ในความพยายามที่จะให้บรรลุถึงซึ่งการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธี กฎบัตรสหประชาชาติ (ข้อ 33) กำหนดไว้ว่า คู่กรณีพิพาทพึง “แก้ไขข้อพิพาทในเบื้องแรกด้วยการเจรจา การสืบสวน การไกล่เกลี่ย การประนอม การอนุญาโตตุลาการ การระงับข้อพิพาทโดยทางศาล การใช้หน่วยงานหรือองค์กรในระดับภูมิภาค หรือด้วยการใช้สันติวิธีอื่น ๆ ” หากแนวทางแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติแบบดั้งเดิมเหล่านี้เกิดความล้มเหลวหรือไม่มีความเหมาะสม ก็อาจนำข้อพิพาทเสนอต่อคณะมนตรีความมั่นคงหรือสมัชชาใหญ่ โดยรัฐที่เป็นสมาชิกหรือที่มิได้เป็นสมาชิกที่ได้ตกลงยอมรับพันธกรณีตามกฎบัตรที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขข้อพิพาท เลขาธิการสหประชาชาติ(ภายใต้กฎบัตร ข้อ 99) อาจจะนำสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งที่จะเป็นการคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงแจ้งให้คณะมนตรีความมั่นคงได้ทราบ ปฏิบัติการในเบื้องต้นของสหประชาชาติอาจจะกระทำในรูปแบบของการเรียกร้องมิให้ขยายสถานการณ์ให้ลุกลามออกไป หรือหากเป็นกรณีที่เกิดการสู้รบกันแล้วก็อาจจะออกคำสั่งให้มีการหยุดยิง คู่กรณีพิพาทจะมีโอกาสเสนอกรณีพิพาทนี้ต่อคณะมนตรีความมั่นคงหรือสมัชชาใหญ่ ซึ่งการอภิปรายกันในองค์กรทั้งสองแห่งนี้อาจจะมีประโยชน์ใช้เป็นลู่ทางร่วมกันในการแก้ไขข้อพิพาทได้ นอกจากนี้แล้ว “การทูตเงียบ” (กล่าวคือ การผสมผสานกันของการเจรจาอย่างเปิดเผยและการเจรจาเป็นการลับ)ที่ดำเนินการในสำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ช่วยให้ผ่าทางตันหรือภาวะชะงักงันได้อีกเหมือนกัน เมื่อเทคนิควิธีทางด้านการไกล่เกลี่ยและการประนอมที่ใช้ในสหประชาชาติที่นครนิวยอร์กประสบความล้มเหลว ก็อาจจะมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการสืบสวนและการประนอม หรือผู้แทนหรือผู้ไกล่เกลี่ยของสหประชาชาติให้เดินทางไปยังที่ที่เกิดข้อพิพาทนั้นเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงและพยายามระงับข้อพิพาทตรงจุดที่เกิดเหตุนั้นเอง หากเกิดการเผชิญหน้าระหว่ามหาอำนาจเป็นการส่อแสดงว่าจะทำให้ข้อพิพาทขยายตัวออกไป ก็อาจจะมีการใช้ “การทูตเชิงป้องกัน” ในรูปแบบของการส่งกองกำลังรักษาความสงบของสหประชาชาติเข้าไปประจำอยู่ในที่นั้นเพื่อมิให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ในขั้นสุดท้ายเมื่อมีทางเป็นไปได้ที่จะทำให้คู่กรณียอมรับได้ ก็จะนำแนวทางกฎหมายมาแก้ไขข้อพิพาท คือ การอนุญาโตตุลาการ หรือการตัดสินกรณีพิพาทโดยทางศาล

ความสำคัญ ตลอดระยะเวลาที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาแล้วนี้ สหประชาชาติได้ใช้อิทธิพลของตนเพื่อโนมน้าวให้มีการใช้แนวทางสันติและแนวทางผ่อนปรนกับข้อพิพาท และสถานการณ์ต่าง ๆ ถึงแม้ว่าข้อเรียกร้องและคำสั่งหยุดยิงของสหประชาชาติภายใต้วิธีการแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติวิธีนี้จะเป็นแต่เพียงข้อเสนอแนะซึ่งคู่กรณีพิพาทไม่อาจถูกบังคับให้เชื่อฟังได้ก็ตาม แต่การเป็นปฏิปักษ์ขัดแย้งกันหลายต่อหลายครั้งสามารถยับยั้งไว้ได้ โดยการเข้าแทรกแซงของสหประชาชาติอย่างทันเวลาพอดี เกียรติภูมิของสหประชาชาติในฐานะเป็นองค์การระดับโลกที่มีความสามารถที่จะรวมมติโลกเข้ามาทำการกดดันคู่กรณีพิพาทให้ยอมรับวิธีดำเนินการแก้ไขข้อพิพาทโดยสันตินี้น่าจะมีประโยชน์มากไปกว่านี้หากสหประชาชาติจะเข้าไปมีบทบาทเป็นตำรวจโลก เป็นตุลาการ และเป็นลูกขุนเสียเอง การเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจสามารถหลีกเลี่ยงได้โดยให้สหประชาชาติเข้าไปอยู่แทนที่จะปล่อยให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง อย่างเช่นกรณีในเลบานอนเมื่อปี ค.ศ.1958 และกรณีในคองโกเมื่อปี ค.ศ.1960 การต่อสู้อย่างรุนแรงระหว่างประชาชนเพื่อแย่งชิงดินแดนระหว่างกัน ได้ลดความรุนแรงลงได้ในกรณีแคว้นแคชเมียร์ ปาเลสไตน์ และไซปรัส ส่วนการต่อสู้ที่ล่อแหลมต่อการขยายตัวเป็นสงครามระดับอนุทวีปที่สำคัญระหว่างอินเดียกับปากีสถานก็ยุติลงได้โดยความพยายามของสหประชาชาติเมื่อปี ค.ศ.1948 และต่อมาอีกครั้งหนึ่งเมื่อปี ค.ศ.1965 ข้อพิพาท 2 ครั้ง คือ ข้อพิพาทระหว่างอาหรับกับอิสราเอลกรณีหนึ่ง กับข้อพิพาทระหว่างอินเดียกับปากีสถานอีกกรณีหนึ่งนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งเผชิญหน้าที่ลำบากแสนเข็น สหประชาชาติก็ยังสามารถช่วยให้ยุติเด็ดขาดลงได้เหมือนเมื่อครั้งปี ค.ศ.1948 ว่าโดยหลักการแล้วเทคนิควิธีที่มีประสิทธิผลมากที่สุดที่สหประชาชาติใช้ ก็คือ เทคนิควิธีสนับสนุนให้คู่กรณีหันหน้าเจรจากันโดยตรงแบบทวิภาคี กองกำลังสหประชาชาติได้ถูกใช้ให้ทำหน้าที่เป็นกองกำลังรักษาสันติภาพถึง 14 ครั้ง ในช่วงเวลาระหว่างปี ค.ศ.1945 ถึงปี ค.ศ.1987 ในทศวรรษปี 1980 ความพยายามของสหประชาชาติที่จะช่วยตัวประกันชาวสหรัฐฯที่ถูกจับตัวในอิหร่าน ตลอดจนความพยายามที่จะผลักดันให้สหภาพโซเวียตถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน ล้วนแต่เป็นเหตุการณ์ที่ท้าทายความสามารถในการแก้ไขข้อพิพาทครั้งสำคัญยิ่งของสหประชาชาติ

No comments:

Post a Comment