Google

Wednesday, October 21, 2009

UN Specialized Agency : International Labor Organization (ILO)

ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ : องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ)

ทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติที่แต่เดิมจัดตั้งขึ้นมาเมื่อ ค.ศ.1919 โดยสนธิสัญญาแวร์ซายส์ เพื่อปรับปรุงสภาวะการทำงานในหมู่ประเทศสมาชิก องค์การแรงงานระหว่างประเทศปฏิบัติหน้าที่โดยให้คำแนะนำและอำนวยการแลกเปลี่ยนทางข่าวสารสารสนเทศ กำหนดมาตรฐาน และระดมมติโลกให้มาสนับสนุนมาตรฐานแรงงานที่สูงยิ่งขึ้น เรื่องหลัก ๆ ที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศให้ความสนใจ ก็คือ การมีงานทำอย่างเต็มที่ การย้ายถิ่นของแรงงาน การประกันสังคม สุขอนามัยของคนงาน มาตรฐานแรงงาน และการให้ความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาทางเศรษฐกิจ การจัดการภายในขององค์การแรงงานระหว่างประเทศประกอบด้วย การประชุมแรงงานระหว่างประเทศและองค์การฝ่ายปกครองเล็ก ๆ อีกองค์กรหนึ่ง ซึ่งมีชาติสมาชิกทั้งหมดเป็นสมาชิก ทั้งสององค์กรนี้ทำงานตามหลักการระบบไตรภาคีของผู้แทนระดับชาติ คือ จากนายจ้าง 1 คน จากผู้ใช้แรงงาน 1 คน และจากผู้แทนภาครัฐบาลอีก 2 คน นอกจากสององค์กรนี้แล้ว ก็ยังมีสำนักเลขาธิการที่ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งมาก ชื่อว่า สำนักงานแรงงาน การประชุมจะจัดทุกปีที่สำนักงานใหญ่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อกำหนดนโยบายทั่วไป และจะให้องค์กรปกครองทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารระหว่างที่มิได้มีการประชุม โดยทำหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติการของคณะกรรมการและคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศนี้

ความสำคัญ องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้ส่งเสริมความก้าวหน้าในกิจการงานแรงงานในประเทศสมาชิก เกือบจะกว่า 100 ประเทศ อนุสัญญาระหว่างประเทศต่าง ๆ มีส่วนช่วยในการปรับปรุงมาตรฐานแรงงานพร้อม ๆ กันในหลายรัฐ ซึ่งหากไม่มีอนุสัญญาเหล่านี้มาบังคับเสียแล้ว รัฐต่าง ๆ อาจจะไม่ยอมดำเนินการฝ่ายเดียว เนื่องจากจะทำให้ตนตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบ สมาชิกที่ไม่เคารพในกฎและหลักการขององค์การระหว่างประเทศอย่างซ้ำซาก ทางองค์การฯจะจัดให้อยู่ใน
“บัญชีดำ” จนกว่าจะได้ปรับปรุงมาตรฐานของตนให้ดีขึ้นแล้วเท่านั้น องค์การ ฯ ได้มุ่งความพยายามเพิ่มขึ้นที่จะช่วยเหลือรัฐที่กำลังพัฒนาปรับปรุงผลผลิตแรงงาน สภาวะการทำงานและความกินดีอยู่ดีโดยทั่วไปของผู้ใช้แรงงาน ผู้เชี่ยวชาญขององค์การฯ ได้ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่ประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา สหรัฐอเมริกาได้ถอนตัวออกจากองค์การ ฯ นี้เมื่อปี ค.ศ.1977 โดยอ้างว่าองค์การ ฯ มีการเมืองเข้ามาแทรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีการกระทำขององค์การ ฯ ต่ออิสราเอล แต่ต่อมาสหรัฐอเมริกาก็ได้เข้าเป็นสมาชิกอีกครั้งหนึ่งเมื่อปี ค.ศ.1980

No comments:

Post a Comment