Google

Wednesday, October 21, 2009

Regional Political Group : Organization of American States (OAS)

กลุ่มทางการเมืองในระดับภูมิภาค : องค์การนานารัฐอเมริกา (โอเอเอส)

องค์การในระดับภูมิภาคที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาจากการประชุมนานาชาติครั้งที่ 3 ของรัฐต่าง ๆ ในทวีปอเมริกา ณ กรุงโบโกต้า ประเทศโคลัมเบีย เมื่อปี ค.ศ.1948 ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดนโยบายทางการเมือง การป้องกัน เศรษฐกิจ และสังคม ให้แก่ระบบระหว่างรัฐอเมริกา เมื่อแรกจัดตั้งมีรัฐต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาจำนวน 21 รัฐ ได้ยอมรับกฎบัตรขององค์การรัฐในทวีปอเมริกานี้ แต่ต่อมารัฐบาลของ ดร.คัสโตร แห่งคิวบาได้ถูกขับออกจากองค์การนี้เมื่อปี ค.ศ.1962 ปัจจุบันองค์การฯมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 21 ชาติ โดยเป็นชาติที่อยู่ในคาบสมุทรคาริบเบียนก็มี ในอเมริกากลางก็มี และในอเมริกาใต้ก็มี รวมทั้งสหรัฐอเมริกาก็เป็นสมาชิกอยู่ชาติหนึ่งด้วยเหมือนกัน องค์การต่าง ๆ ขององค์การโอเอเอสประกอบด้วย (1) สมัชชาใหญ่ทำหน้าที่เป็นองค์กรสูงสุดของโอเอเอส โดยจะประชุมในทุก 5 ปี เพื่อพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐต่าง ๆ ในทวีปอเมริกา (2) กองประชุมที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่พิจารณาเรื่องความมั่นคงและปัญหาที่เกี่ยวข้องเมื่อสมาชิกส่วนใหญ่ร้องขอให้มีการประชุม (3) คณะมนตรีทำหน้าที่เป็นองค์กรประสานงานให้แก่โอเอเอส โดยประชุมกันที่สำนักงานใหญ่กรุงวอชิงตันดี.ซี. (4) สหภาพแพนอเมริกัน ทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการของโอเอเอส โดยมีหน้าที่ประสานกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจในหมู่รัฐในทวีปอเมริกา รวมทั้งให้การสนับสนุนด้านสวัสดิการแก่หมู่ชาติสมาชิก (5) องค์การชำนัญพิเศษต่าง ๆ ทำหน้าที่ดำเนินโครงการความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านสุขอนามัย การเกษตร การศึกษา และสวัสดิการเด็ก เป็นต้น และ (6) กองการประชุมพิเศษซึ่งจะมีการเรียกให้จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนความพยายามร่วมกันแก้ปัญหาทางเทคนิคต่าง ๆ นอกจากนี้แล้วก็ยังมีองค์กรพิเศษอื่น ๆ เช่น ธนาคารพัฒนาระหว่างนานารัฐอเมริกา และคณะกรรมมาธิการสันติภาพระหว่างนานารัฐอเมริกา ซึ่งต่างทำหน้าที่อิสระในการให้การสนับสนุนวัตถุประสงค์ของโอเอเอสโดยทั่วไป กิจกรรมสำคัญ ๆ ที่โอเอเอสดำเนินการ จะเกี่ยวกับเรื่องต่อไปนี้ (1) การระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี (2) การปฏิบัติการร่วมกันต่อต้านการรุกราน และ (3) ความร่วมมือกันทางด้านเศรษฐกิจและสังคมระหว่างรัฐสมาชิก

ความสำคัญ องค์การนานารัฐอเมริกาได้ทุ่มเทความพยายามส่วนใหญ่นับแต่ปี ค.ศ.1948 เป็นต้นมาเพื่อต่อต้านภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ในซีกโลกทางด้านนี้ สถานการณ์ร้ายแรงในภูมิภาคนี้มีดังนี้คือ (1) การเรืองอำนาจของรัฐบาล ดร.คัสโตรในคิวบา (2) วิกฤตการณ์ระหว่างประเทศหลายครั้งเกี่ยวกับมหาอำนาจ (3) การใช้กองกำลังสันติภาพของโอเอเอสเข้าแทรกแซงในสาธารณรัฐโดมินิกันเมื่อปี ค.ศ.1965 “เพื่อป้องกันมิให้เกิดคิวบาแห่งที่สอง” (4) สงครามกองโจรก่อการปฏิวัติในหลายรัฐ (5) สหรัฐอเมริกาเข้าแทรกแซงในนิคารากัวเพื่อล้มล้างระบบการปกครองซานตินิสตาของคารากัว และ (6) สหรัฐอเมริกาเข้าแทรกแซงในสงครามกลางเมืองในเอลซัลวาดอร์ ความขัดแย้งในเรื่องขอบเขตตามกฎหมายระหว่างสหประชาชาติกับโอเอเอส ในการเข้าไปแก้ไขข้อพิพาทในละตินอเมริกายุติลงได้โดยโอเอเอสเป็นฝ่ายชนะ โดยที่ให้สหประชาชาติจำกัดบทบาทตัวเองแต่เฉพาะในเรื่องการอภิปรายเท่านั้น ส่วนสหรัฐอเมริกามีบทบาทสำคัญในโอเอเอส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความมั่นคงที่รัฐบาลต่าง ๆ ส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาในการจัดหาทรัพยากรเพื่อใช้ต่อต้านภัยคุกคามจากการรุกรานและในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งโครงการพัฒนาในละตินอเมริกาจะทำได้ก็ต้องอิงอาศัยการสนับสนุนทางด้านการเงินจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น สิ่งที่ท้าทายสำคัญที่โอเอเอสเผชิญอยู่ก็คือ ปัญหาเกี่ยวกับการรุกรานโดยอ้อมและการบ่อนทำลายทางการเมืองในประเทศต่าง ๆ ในซีกโลกทางด้านนี้ โดยที่ไม่มีการปฏิวัติทางการเมืองและสังคมที่เอื้ออำนวยให้เกิดความก้าวหน้าได้อย่างแท้จริงแต่อย่างใด นอกจากนี้แล้วประเทศต่าง ๆ ในแถบละตินอเมริกาก็ยังเผชิญวิกฤติการณ์มีหนี้สินของโลก ซึ่งมีหลายประเทศเป็นหนี้หนักมากถึงกับจะต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากการล้มละลายทางเศรษฐกิจไปเลยก็มี

No comments:

Post a Comment