Google

Wednesday, October 21, 2009

Human Rights: European Convention

สิทธิมนุษยชน : อนุสัญญายุโรป

อนุสัญญาที่มีผลบังคับใช้นับแต่ปี ค.ศ. 1953 เป็นต้นมา โดยได้กำหนดให้มีการจัดตั้งกลไกระหว่างประเทศเพื่อให้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในกรณีที่เกิดการโต้แย้งในหมู่รัฐที่เป็นผู้ลงนาม อนุสัญญายุโรปที่ได้พัฒนาขึ้นมาภายใต้การอุปถัมภ์ของคณะมนตรียุโรปนี้ได้รับการยอมรับจากรัฐต่างๆจำนวน 15 รัฐด้วยกัน (คือ ออสเตรีย เบลเยียม ไซปรัส เดนมาร์ก เยอรมนี อังกฤษ กรีซ ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และตุรกี) มีสมาชิกของคณะมนตรียุโรปเพียง 3 รัฐเท่านั้นที่ไม่ยอมเข้าเป็นภาคี คือ ฝรั่งเศส มอลตา และสวิตเซอร์แลนด์ ในหมู่รัฐที่ให้การสัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้มีอยู่ 10 รัฐได้ตกลงเพิ่มเติมด้วยว่า บุคคลหรือคณะบุคคลใดก็ตามหากยังไม่พอใจในคำตัดสินของศาลภายในประเทศตนก็สามารถจะอุทธรณ์เรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนนี้ไปยังศาลระหว่างประเทศได้ และได้มีการพิจารณาคำอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นครั้งแรกโดยคณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 15 ชาติที่ได้รับการคัดเลือกมาจากรัฐที่เป็นสมาชิก ถ้าหากว่าคำอุทธรณ์สามารถยอมรับได้ คณะกรรมาธิการนี้ก็จะรายงานการสอบสวนของตนพร้อมกับให้คำเสนอแนะหลักปฏิบัติแก่คณะกรรมาธิการรัฐมนตรีของคณะมนตรียุโรป เมื่อคณะกรรมการรัฐมนตรีไม่สามารถดำเนินการยุติกรณีพิพาทโดยสันธิวิธีได้ก็อาจจะตัดสินคดีโดยใช้คะแนนเสียงสองในสามในขั้นสุดท้ายก็ได้ ฝ่ายที่แพ้คดีก็อาจจะอุทธรณ์ถึงศาลยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หากว่าผู้แพ้คดีนั้นเป็นพลเมืองของรัฐหนึ่งรัฐใดที่ได้ให้การสัตยาบันในพิธีสารเพิ่มเติมที่กำหนดให้ยอมรับคำตัดสินของศาลยุโรปดังกล่าวนี้ สมาชิกของคณะมนตรียุโรปทั้ง 20 ชาติจะมีผู้แทนของตนไปประจำอยู่ที่ศาลยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนี้ ไม่ว่าสมาชิกนั้นๆจะยอมรับพิธีสารที่ว่านั้นหรือไม่ก็ตาม ส่วนในการบังคับใช้คำตัดสินของศาลยุโรปนี้ก็ให้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของรัฐที่ได้รับผลกระทบนั้นๆทั้งนี้ก็เพราะอนุสัญญามิได้กำหนดเรื่องทางบังคับเอาไว้

ความสำคัญ อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนี้ได้กำหนดให้มีกลไกระหว่างประเทศที่มีอำนาจหน้าที่กว้างไกลในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของระบบรัฐในปัจจุบัน แต่ในแง่ปฏิบัตินั้นอนุสัญญาฉบับบนี้มิได้ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองเสรีภาพส่วนบุคคลอย่างเข้มแข็งแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้ว่าในจำนวนคำอุทธรณ์หลายพันรายการที่ยื่นถึงคณะกรรมาธิการนั้นมีเพียงไม่กี่รายการที่พบว่าสามารถยอมรับได้ และศาลยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็ได้ทำการตัดสินคดีต่างๆเพียงไม่กี่คดี คดีตัวอย่างในปี ค.ศ. 1979 คือ คดีที่ศาลยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนตัดสินด้วยคะแนนเสียงสองในสามว่า คำตัดสินของศาลอังกฤษที่ห้ามหนังสือพิมพ์ซันเดย์ไทมส์ที่ตีพิมพ์ในกรุงลอนดอนทำการตีพิมพ์บทความบทหนึ่งโดยอ้างว่าจะเป็นการละเมิดต่อผู้ผลิตยาทาลิโดไมล์นั้น เป็นการละเมิดอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แรงกระทบที่สำคัญยิ่งของอนุสัญญาฉบับนี้ ก็คือเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้องค์การระหว่างประเทศได้ทำงานในด้านให้ความคุ้มครองแก่ปัจเจกบุคคลที่เรียกร้องความคุ้มครองเกินกว่าที่รัฐบาลของรัฐตนจะสามารถจัดหาให้ได้ ระบบคุ้มครองสิทธิมนุษยชนนี้ถือได้ว่าเป็นแม่แบบให้แก่กลุ่มต่างๆในระดับภูมิภาคกลุ่มอื่นๆได้ และก็อาจจะเอื้ออำนวยให้มีการจัดตั้งระบบแบบนี้ในระดับโลกภายใต้การอุปถัมภ์ของสหประชาชาติได้อีกด้วย

No comments:

Post a Comment