Google

Wednesday, October 21, 2009

UN Principal Organ : Economic and Social Council (ECOSOC)

องค์กรหลักของสหประชาชาติ : คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (อีโคซ็อก)

องค์กรหลักของสหประชาชาติองค์กรหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของสมัชชาใหญ่ในการวางแผนและให้คำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 54 คน ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากคะแนนเสียงสองในสามในสมัชชาใหญ่เพื่อให้ดำรงตำแหน่งวาระละ 3 ปี แต่ทั้งนี้สมาชิกจำนวน 18 คนจะมีการเลือกตั้งทุกปี ถึงแม้ว่าสมาชิกสหประชาชาติทุกชาติมีสิทธิ์เท่าเทียมกันในการเป็นสมาชิก แต่มหาอำนาจเท่านั้นที่ได้รับการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์นี้เองได้นำไปสู่การขยายสมาชิกของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมนี้ให้มีมากขึ้น ทั้งนี้โดยได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎบัตรเมื่อปี ค.ศ.1965 ให้เพิ่มสมาชิกจากเดิมเป็น 54 ชาติ ทั้งนี้จึงทำให้ชาติที่เกิดใหม่ในเอเชียและแอฟริกามีเสียงมากยิ่งขึ้น หน้าที่สำคัญ ๆ ของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม มีดังนี้ (1) ทำการวิจัยและอภิปรายปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วัฒนธรรม และเรื่องที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ (2) ทำการยกร่างอนุสัญญาที่หากได้รับการยอมรับจากสมัชชาใหญ่และได้รับการให้สัตยาบันจากรัฐสมาชิกแล้วจะมีผลเป็นกฎหมายระหว่างประเทศและมีผลผูกพันกับรัฐในด้านกฎหมายภายในด้วย (3) ทำการประสานกิจกรรมขององค์กรชำนัญพิเศษต่าง ๆ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการเฉพาะกิจอีก 8 คณะให้มาช่วยเหลือในการปฏิบัติงานของตน ดังนี้ (1) คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน (2) คณะกรรมาธิการการค้าสินค้าระหว่างประเทศ (3) คณะกรรมาธิการยาเสพย์ติด (4) คณะกรรมาธิการประชากร (5) คณะกรรมาธิการป้องกันความลำเอียงและปกป้องชนกลุ่มน้อย (6) คณะกรรมาธิการสถิติ (7) คณะกรรมาธิการสถานภาพสตรี (8) คณะกรรมาธิการขนส่งและคมนาคม กับได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอีก 5 คณะ คือ (1) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจเพื่อแอฟริกา (2) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจเพื่อเอเชียและแปซิฟิก (3) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจเพื่อยุโรป (4) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจเพื่อเอเชียตะวันตก (5) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจเพื่อละตินอเมริกา

ความสำคัญ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมมุ่งทำงาน 2 ด้าน ที่สมาชิกส่วนใหญ่ของสหประชาชาติเห็นว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวด คือ การพัฒนาเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชน ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมมีบทบาทสำคัญในการสร้างโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติพร้อมกับให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคและจัดหาเงินทุนพิเศษเพื่อเร่งเร้าให้มีการสร้างความทันสมัยในหมู่รัฐที่กำลังพัฒนา เมื่อปี ค.ศ.1966 คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเงินทุนเพื่อช่วยสนับด้านเงินทุนในการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลให้เกิดเป็นโครงการทศวรรษของความพยายามของประเทศกำลังพัฒนาเพื่อกองทุนสหประชาชาติพิเศษเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ(ข้อเสนอซันเฟด) ส่วนในทางสิทธิมนุษยชนนั้น ความสำเร็จของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญยิ่ง ก็คือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการยอมรับจากสมัชชาใหญ่เมื่อปี ค.ศ.1948 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอีกหลายฉบับเพื่อเป็นการขยายเสรีภาพส่วนบุคคล

No comments:

Post a Comment