Google

Wednesday, October 21, 2009

United Nations : Expulsion, Suspension, Withdrawal

สหประชาชาติ : การขับออก, การสั่งพัก, การถอนตัว

วิธีการที่สมาชิกภาพหรือสิทธิของสมาชิกภาพในองค์การระหว่างประเทศแห่งใดแห่งหนึ่งสิ้นสุดลงหรือถูกสั่งพักไว้เป็นการชั่วคราว การขับออกและการสั่งพักนั้นเป็นทางบังคับอย่างหนึ่งที่สามารถนำมาใช้กับสมาชิกที่ดื้อรั้นขององค์การระหว่างประเทศแห่งใดแห่งหนึ่ง ส่วนสิทธิที่จะถอนตัวนั้นเป็นการยืนยันว่าสมาชิกทั้งปวงมีอำนาจอธิปไตย ภายใต้สันนิบาตชาติมีกติกากำหนดไว้ว่า (1) สมาชิกแต่ละชาติสามารถถอนตัวออกจากองค์การนี้ได้ภายหลังจากที่ได้แจ้งล่วงหน้าเป็นเวลา 2 ปี แต่ทั้งนี้สมาชิกชาตินั้นจะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีต่อสันนิบาตชาติทุกอย่างแล้ว(ข้อ 1) (2) สมาชิกชาติใดละเมิดกติกาของสันนิบาตชาติสมาชิกชาตินั้นสามารถถูกขับไล่ออกโดยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ของคณะมนตรี(ข้อ 16) และ (3) สมาชิกที่ปฏิเสธที่จะยอมรับการแก้ไขเพิ่มเติมกติกา สมาชิกนั้นจะต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพ(ข้อ 26) ส่วนในกฎบัตรสหประชาชาติก็ได้กำหนดไว้ดังนี้ คือ (1) สิทธิและเอกสิทธิ์การเป็นสมาชิกภาพอาจจะถูกสั่งพักโดยสมัชชาใหญ่โดยการเสนอแนะของคณะมนตรีความมั่นคงเมื่อได้มีการดำเนินการป้องกันหรือดำเนินการบังคับต่อรัฐสมาชิกนั้น ๆ (ข้อ 5) (2) สมาชิกใดที่ละเมิดหลักการในกฎบัตรเนือง ๆ สมาชิกนั้นอาจจะถูกขับโดยสมัชชาใหญ่ โดยการเสนอแนะของคณะมนตรีความมั่นคง(ข้อ 6) และ (3) สมาชิกใดที่ค้างชำระเงินบำรุงสหประชาชาติตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปอาจจะหมดสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงในสมัชชาใหญ่ได้ ถึงแม้ว่ากฎบัตรสหประชาชาติจะมิได้มีข้อกำหนดในเรื่องการถอนตัวแต่ผู้ร่างกฎบัตรที่ซานฟรานซิสโกได้ให้ความเห็นชอบในคำประกาศที่ยอมรับสิทธิ์ในการถอนตัวนี้

ความสำคัญ สมาชิก 3 ชาติ กล่าวคือ เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ได้ถอนตัวออกจากสันนิบาตชาติหลังการที่ได้กระทำการรุกรานชาติอื่น ส่วนสมาชิกชาติเล็ก ๆ บางชาติถอนตัวด้วยเหตุผลทางการเงิน แต่สหภาพโซเวียตถูกขับออกเพราะโจมตีฟินแลนด์เมื่อปี ค.ศ.1939 ส่วนในสหประชาชาตินั้น มีสมาชิกเพียงชาติเดียวเท่านั้นที่เคยถอนตัวจากการเป็นสมาชิก คือ อินโดนีเซีย แต่ก็ได้กลับมาเป็นสมาชิกในอีกหนึ่งปีต่อมาเมื่อ ค.ศ.1966 ความพยายามที่จะนำข้อ 19 ของกฎบัตรมาบังคับใช้เพื่อให้สมาชิกที่ไม่ยอมชำระเงินบำรุงให้แก่สหประชาชาติหมดสิทธิ์ที่จะลงคะแนนเสียงในสมัชชาใหญ่เมื่อปี ค.ศ.1964 ถึงกับทำให้สมัชชาใหญ่เป็นอัมพาตไปชั่วขณะในสมัยประชุมของสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 19 เมื่อถึงปี ค.ศ.1987 ปรากฏว่าไม่มีการไปกระตุ้นให้นำข้อกำหนดของกฎบัตรว่าด้วยการสั่งพักสิทธิหรือการสั่งขับสมาชิกที่มีอยู่ 3 มาตรา มาบังคับใช้แต่อย่างใด สมาชิกภาพในสหประชาติ(ซึ่งมีจำนวนสมาชิกมากกว่าในสันนิบาตชาติมาก) ยังคงมีเกียรติภูมิเป็นที่ปรารถนาอยู่ ดังนั้นชาติที่เป็นสมาชิกอยู่แล้วจึงไม่ต้องการถูกขับออกไปและในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการลาออกโดยความสมัครใจด้วย

No comments:

Post a Comment