Google

Wednesday, October 21, 2009

Regional Political Group : Commonwealth of Nations

กลุ่มทางการเมืองในระดับภูมิภาค : เครือจักรภพแห่งประชาชาติ

สมาคมโดยความสมัครใจของหมู่รัฐเอกราชที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษ สมาชิกของเครือจักรภพแห่งนี้ประกอบด้วย 45 ประเทศในยุโรป แอฟริกา เอเชีย ประเทศต่างๆในซีกโลกตะวันตก และในแถบโอเชียนิก(ย่านแปซิฟิกและออสเตรเลีย) สมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธ ได้รับการรับรองว่าทรงเป็น “สัญลักษณ์ของสมาคมอิสระของประชาชาติสมาชิกที่มีเอกราช และด้วยเหตุนี้จึงทรงเป็นพระประมุขแห่งเครือจักรภพ” แต่สมาชิกบางประเทศ เช่น อินเดีย ปากีสถาน ไซปรัส และกานา ได้หันมาปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐจึงมิได้ให้การยอมรับองค์อธิปัตย์อังกฤษเป็นประมุขรัฐของตนๆอีกต่อไป สาระสำคัญของระบบเครือจักรภพนี้ ก็คือ การให้ความร่วมมืออย่างเสรีโดยวิธีการปรึกษาหารือในหมู่ชาติสมาชิก โดยไม่มีข้อผูกพันทางสนธิสัญญาหรือมีสถาบันถาวรเป็นทางการใดๆ มีแต่สำนักเลขาธิการของเครือจักรภพเท่านั้นเอง ที่ประเทศสมาชิกผูกพันอยู่กับเครือจักรภพอย่างเหนียวแน่นเป็นเวลาหลายปี ก็เพราะมีแรงกระตุ้นมาจากการได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า การได้เป็นสมาชิกกลุ่มประเทศปอนด์สเตอร์ลิง การได้รับความช่วยเหลือทางด้านเงินทุนและเทคนิคจากสมาชิกที่เจริญแล้วที่ให้แก่รัฐที่กำลังพัฒนา การให้ความช่วยเหลือทางด้านการทหารแก่ชาติที่ความมั่นคงถูกคุกคาม ตลอดจนการมีสถาบันและภาษาร่วมกัน การปรึกษาหารือกันนั้นสามารถดำเนินการได้ในหลายระดับ อาจจัดให้มีการประชุมในระดับนายกรัฐมนตรีของกลุ่มประเทศเครือจักรภพเมื่อมีความจำเป็นเกิดขึ้น

ความสำคัญ เครือจักรภพอังกฤษนี้เป็นระบบการเมืองที่มีเอกลักษณ์เป็นพิเศษ คือ สมาชิกของเครือจักรภพร่วมมือและให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยอิสระโดยที่มิได้มีข้อตกลงหรือมีภาระที่ได้มอบหมายไว้เป็นการเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 รัฐต่างๆในเครือจักรภพได้เข้าร่วมกับอังกฤษ ในการประกาศสงครามและได้ส่งกองกำลังอาสาสมัครจำนวนมากไปช่วยรบกับศัตรูร่วม รัฐต่างๆที่ได้เอกราชจากจักรวรรดิอังกฤษแล้วต่างมีอิสระที่จะเข้าร่วมหรือจะปฏิเสธการเป็นสมาชิกก็ได้ และสมาชิกทั้งหลายก็ยังมีอิสระที่จะลาออกจากการเป็นสมาชิกเครือจักรพเมื่อใดก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น พม่า และหมู่เกาะมัลดีฟเมื่อได้เอกราชแล้วก็ได้เลือกที่จะไม่เข้าร่วมกับเครือจักรภพนี้ ส่วนไอร์แลนด์และแอฟริกาใต้ได้ถอนตัวออกจากเครือจักรภพเมื่อปี ค.ศ. 1939 และ1961 ตามลำดับ มีเรื่องต่างๆเกิดขึ้นในเครือจักรภพทำให้ความผูกพันระหว่างหมู่สมาชิกคลายตัวเรื่อยๆ นอกจากนี้แล้วการที่อังกฤษเข้าเป็นสมาชิกในประชาคมยุโรปก็ทำให้ระบบการค้าแบบให้สิทธิพิเศษอ่อนแอลง อนาคตของเครือจักรภพจะอยู่หรือไปก็ขึ้นอยู่กับว่าสมาชิกของเครือจักรภพสามารถประสานข้อแตกต่างทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างมีประสิทธิผลได้อย่างไรบ้าง ทั้งนี้ก็เพื่อให้เครือจักรภพแห่งนี้สามารถเป็นช่องทางสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาร่วมกันได้อยู่ต่อไป

No comments:

Post a Comment