Google

Wednesday, October 21, 2009

United Nations : Amendment Process

สหประชาชาติ : กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติม

วิธีดำเนินการเสนอและให้สัตยาบันการเปลี่ยนแปลงธรรมนูญขององค์การระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ ในกติกาสันนิบาตชาติมีข้อกำหนดอยู่ในข้อที่ 26 ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมกติกาจะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อได้รับการให้สัตยาบันจากสมาชิกคณะมนตรีทุกชาติ กับจะต้องได้คะแนนเสียงข้างมากสนับสนุนในสมัชชาใหญ่ด้วย และว่าสมาชิกใดปฏิเสธที่จะยอมรับการแก้ไขเพิ่มเติมกติกาดังกล่าว สมาชิกนั้นก็จะสิ้นสุดการเป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติ ส่วนในกฎบัตรสหประชาชาติก็ได้กำหนดไว้ว่า สมัชชาใหญ่อาจจะเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎบัตรนี้ได้โดยได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนสองในสามของสมาชิกสมัชชาใหญ่(ข้อ 108) หรือว่าอาจจะเรียกให้มีการประชุมใหญ่โดยคะแนนเสียงสองในสามในสมัชชาใหญ่และโดยสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคง 9 ชาติ ๆใดชาติหนึ่งซึ่งเรียกร้องให้มีขึ้นเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎบัตร(ข้อ 109) อย่างไรก็ดี การแก้ไขเพิ่มเติมกฎบัตรนี้แม้ว่าจะเสนอมาแล้วแต่ก็จะต้องได้รับการให้สัตยาบันโดยผ่านทางกระบวนการรัฐธรรมนูญของแต่ละชาติของสมาชิกสองในสามของสหประชาชาติ รวมทั้งสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงก่อนที่การแก้ไขเพิ่มเติมนั้นจะมีผลบังคับใช้ได้

ความสำคัญ ถึงแม้ว่าสันนิบาตชาติได้ยอมรับการแก้ไขเพิ่มเติมกติกาหลายครั้งแต่ก็มีผลกระทบไม่มากนักต่อประสิทธิผลของสันนิบาตชาติ ส่วนในสหประชาชาติการแก้ไขเพิ่มเติมกฎบัตรได้รับการให้สัตยาบัน 2 ครั้งเมื่อปี ค.ศ.1965 โดยครั้งแรกเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขยายสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงจาก 11 ชาติ เป็น 15 ชาติ และเปลี่ยนแปลงคะแนนเสียงข้างมากจาก 7 เสียงเป็น 9 เสียง ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 เป็นการขยายสมาชิกของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจากเดิม 18 ชาติ เป็น 27 ชาติ ต่อมาเมื่อปี ค.ศ.1973 คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมได้ขยายสมาชิกออกไปเป็น 54 ชาติ ระบบธรรมนูญของสหประชาชาติมีลักษณะเหมือนกับระบบธรรมนูญส่วนใหญ่ คือ ถูกเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางโดยการตีความและขนบธรรมเนียมประเพณียิ่งกว่าจะถูกเปลี่ยนแปลงโดยหลักปฏิบัติการแก้ไขเพิ่มเติมอย่างเป็นทางการ แต่ด้วยเหตุที่ว่ามหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่งอาจจะขัดขวางการแก้ไขเพิ่มเติมนี้ได้ ดังนั้นการจะใช้กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมนี้อย่างเต็มที่ในอนาคตจึงไม่น่าจะเป็นไปได้เหมือนอย่างในอดีต

No comments:

Post a Comment