Google

Wednesday, October 21, 2009

United Nations : Egalitarianism, Elitism, Majoritarianism

สหประชาชาติ : หลักความเท่าเทียมกัน, หลักอภิชน และหลักฝ่ายข้างมาก

แนวความคิดเกี่ยวกับลักษณะขั้นพื้นฐานและกระบวนการตกลงใจขององค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ หลักการความเท่าเทียมกันประกอบเป็นแนวความคิดว่ารัฐต่าง ๆ ตามประเพณีนิยมมีความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยเหตุที่รัฐแต่ละรัฐมีอำนาจสูงสุด(อำนาจอธิปไตย) ดังนั้นทุกรัฐจึงมีความเท่าเทียมกันในทางกฎหมาย ส่วนหลักอภิชนนั้นเป็นการให้การรับรองว่าการเมืองระหว่างมหาอำนาจทำให้บางรัฐตามข้อเท็จจริง “มีความเท่าเทียมมากกว่า” รัฐอื่น ๆ สำหรับหลักฝ่ายข้างมากนั้น เป็นการนำระบบวินิจฉัยสั่งการมาใช้โดยสอดคล้องกับการปฏิบัติของสถาบันประชาธิปไตยต่างๆภายในรัฐ

ความสำคัญ หลักการสำคัญ 3 อย่าง คือ หลักความเท่าเทียมกัน หลักอภิชน และหลักฝ่ายข้างมากนี้ ได้นำมาใช้ในองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ในโลกยุคปัจจุบันนี้ ยกตัวอย่างเช่น หลักการแรก คือ หลักการความเท่าเทียมกัน ได้นำมาใช้ในสมัชชาในสหประชาชาติ เหมือนอย่างที่เคยใช้ในสมัชชาสันนิบาตชาติ โดยมีผู้แทนเท่ากันและมีคะแนนเสียงเท่ากัน การประชุมใหญ่ขององค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น การประชุมขององค์กรชำนัญพิเศษต่าง ๆ ตลอดจนการประชุมขององค์กรกำหนดนโยบายขั้นพื้นฐานขององค์การในระดับภูมิภาคส่วนใหญ่ ยังอาศัยหลักการความเท่าเทียมกันในเรื่องจำนวนผู้แทนและในการลงคะแนนเสียง ส่วนหลักการอภิชนซึ่งยังอาศัยหลักปฏิบัติในอดีตของความร่วมมือแห่งยุโรปและคณะมนตรีสันนิบาต ก็ได้นำมาใช้กับหลักสมาชิกภาพถาวรและหลักอำนาจยับยั้งที่มหาอำนาจทั้ง 5 ชาติใช้อยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ นอกจากนั้นแล้ว หลักอภิชนนี้ก็ยังมีการนำไปใช้ในระบบการลงคะแนนเสียงตามน้ำหนัก ยกตัวอย่างเช่น การลงคะแนนเสียงในธนาคารโลก(ไอบีอาร์ดี) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) (ทั้งสององค์การนี้คะแนนเสียงของสมาชิกจะถูกกำหนดจากจำนวนเงินอุดหนุน) ส่วนในรัฐสภายุโรปมีการจัดสรรที่นั่งของสมาชิกมากน้อยไม่เท่ากัน ที่ได้ที่นั่งสูงสุดคือ ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ และอิตาลี ส่วนที่ได้สมาชิกจำนวนที่ต่ำสุด คือ ลักเซมเบิร์ก สำหรับหลักการฝ่ายข้างมากนั้น ก็ได้มีการยอมรับอย่างกว้างขวางในหมู่องค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ยกตัวอย่างเช่น องค์กรหลัก ๆ ทุกองค์กรของสหประชาชาติ อาจจะใช้หลักการฝ่ายข้างมากนี้ในการลงคะแนนเสียงเกี่ยวกับการตกลงใจต่าง ๆ

No comments:

Post a Comment