Google

Wednesday, October 21, 2009

United Nations : Secretary General

สหประชาชาติ : เลขาธิการ

เจ้าหน้าที่ผู้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของสำนักงานเลขาธิการ ซึ่งบางทีเรียกตำแหน่งนี้ว่า ผู้อำนวยการ(ไดเร็กเตอร์) เลขาธิการมีความรับผิดชอบดังนี้ (1) เตรียมระเบียบวาระการประชุมขององค์กรสำคัญ ๆ (2) รวบรวมงบประมาณและเงินทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ (3) ริเริ่มพัฒนาโครงการใหม่ ๆ (4) กำกับดูแลการปฏิบัติงานประจำวัน (5) ทำหน้าที่เป็นคนกลางทางการทูตระหว่างผู้แทนของชาติสมาชิก และ (6) จัดหาภาวะผู้นำทางการเมืองแก่สหประชาชาติ เลขาธิการสหประชาชาติจะได้รับการคัดเลือกโดยสมัชชาใหญ่ให้ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี โดยการเสนอแนะของคณะมนตรีความมั่นคง นอกจากจะมีภาระหน้าที่ดังกล่าวข้างต้นแล้ว เลขาธิการสหประชาชาติก็ยังมีอำนาจหน้าที่ภายใต้กฎบัตรที่จะเสนอแนะเรื่องที่เกี่ยวกับสันติภาพและความมั่นคงต่อคณะมนตรีความมั่นคง กับทั้งต้องเข้าประชุมในที่ประชุมของสมัชชาใหญ่และคณะมนตรีทั้งสามคณะ (คณะมนตรีความมั่นคง, คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม และคณะมนตรีภาวะทรัสตี) เพื่อให้คำแนะนำเมื่อได้รับการร้องขอ ในช่วงเวลา 50 ปีกว่าของการทำงานของสหประชาชาตินั้น มีเลขาธิการจำนวน 7 คน คือ นายทรึกเว ฮาล์ฟตาล ลี(นอร์เวย์), นายดัก ฮัมมาร์โชลด์(สวีเดน), อูถั่น(พม่า), นายเคิร์ท วัลด์ไฮม์(ออสเตรีย), นายฮาเวียร์ เปเรซ เดอ เกวยาร์(เปรู), นายบูทรอส บูทรอส-กาลี(อียิปต์) และ นายโคฟี อันนัน(กานา)

ความสำคัญ สำนักเลขาธิการได้ผ่านวิวัฒนาการมานานกว่าหนึ่งศตวรรษจนกระทั่งได้พัฒนาถึงระดับสูงสุดในยุคของสหประชาชาตินี่เอง อำนาจของเลขาธิการจะมีมากน้อยขนาดไหนมิได้ขึ้นอยู่กับลักษณะขององค์การและกรอบธรรมนูญขององค์การแต่เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับความสามารถของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งในสำนักงานนั้น ๆ ตลอดจนแนวความคิดในเรื่องบทบาทที่ต้องการจะให้ทำ ปัญหาและเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น อู่ถั่น และนายเคิร์ท วัลด์ไฮม์ มีความเห็นว่าสำนักเลขาธิการมีหน้าที่หลักคือหน้าที่ทางการบริหาร ส่วนนายทรึกเว ฮาล์ฟตาล ลี และนายดัก ฮัมมาร์โชลด์ เห็นว่าสำนักเลขาธิการนี้ควรใช้เป็นเครื่องมือในการจัดหาภาวะผู้นำในแบบของผู้บริการแก่สหประชาชาติเพิ่มเข้ามาอีกอย่างหนึ่งด้วย เลขาธิการเมื่อต้องยึดจุดยืนอย่างหนึ่งอย่างใดในยามเกิดสถานการณ์วิกฤติที่แยกมหาอำนาจออกเป็นสองฝ่ายเช่นนี้ ก็อาจจะทำให้ค่ายหนึ่งเห็นว่าเป็นศัตรูของเขา แต่ในขณะเดียวกันก็ได้รับการสนับสนุนจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ ยกตัวอย่างเช่น ความขัดแย้งในเกาหลีและวิกฤติการณ์ในคองโก ได้พบว่าเลขาธิการให้การสนับสนุนวัตถุประสงค์ของฝ่ายตะวันตก เนื่องจากเห็นว่าทั้งสองกรณีดังกล่าวเป็นการละเมิดหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ สหภาพโซเวียตไม่เห็นด้วยกับบทบาททางการเมืองของเลขาธิการ ถึงกับได้เสนอให้ดำเนินการจัดตั้ง “ทรอยกา” คือ สภาเปรสิเดียม ประกอบด้วยเลขาธิการ 3 คน แทนที่จะมีเลขาธิการคนเดียวอย่างในปัจจุบัน ให้เลขาธิการแต่ละคนมีอำนาจที่จะคัดค้านการตัดสินใจของสำนักเลขาธิการจนทำให้สำนักเลขาธิการปฏิบัติการใด ๆ มิได้ แต่ข้อเสนอนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกชาติเล็ก ๆ ของสหประชาชาติ จึงส่งผลให้ข้อเสนอทรอยกานี้ประสบความล้มเหลว อย่างไรก็ดีทางสหภาพโซเวียตก็ยังคงให้การยืนยันว่าเลขาธิการจะต้องมีความรอบคอบเมื่อใช้อำนาจของสำนักงานเลขาธิการ

No comments:

Post a Comment