Google

Wednesday, October 21, 2009

Human Rights

สิทธิมนุษยชน

การปกป้องปัจเจกบุคคลจากการแทรกแซงหรือจากการบั่นทอนตามอำเภอใจในชีวิตเสรีภาพและการคุ้มครองความเท่าเทียมกันทางกฎหมายโดยรัฐบาลโดยปัจเจกบุคคลหรือโดยกลุ่มบุคคล การประกันในเรื่องสิทธิมนุษยชนภายในประเทศซึ่งมีปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆของแต่ละชาตินั้นจะได้รับการสนับสนุนโดยให้ความคุ้มครองในระดับนานาชาติผ่านทางปฏิบัติการขององค์การระหว่างประเทศ นอกจากนี้แล้วก็ยังมีหลายชาติที่ถือว่าการให้ความคุ้มครองสิทธิทางเศรษฐกิจและทางสังคมแก่ปัจเจกบุคคล เป็นต้นว่า สิทธิในการมีงานทำ สิทธิในการได้รับความคุ้มครองทางการแพทย์ สิทธิในการพักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น ต่างมีความสำคัญพอๆกับสิทธิในแนวความคิดแบบเดิมๆคือสิทธิทางการเมืองเลยทีเดียว นอกจากนี้แล้วก็ยังมีองค์การในระดับภูมิภาคอีกหลายองค์การก็ได้ให้หลักประกันในด้านสิทธิมนุษยชนนี้ด้วย

ความสำคัญ กิจกรรมระหว่างประเทศในด้านการให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนนี้ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1946 เป็นต้นมาได้ดำเนินการอยู่ภายใต้กรอบของสหประชาชาติโดยผ่านทางสมัชชาใหญ่และคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนคณะกรรมการและคณะกรรมาธิการของสององค์การชำนัญพิเศษนี้ กิจกรรมต่างๆที่ดำเนินการมีดังนี้ (1) มีการประกาศหลักการต่างๆเพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานโดยความสมัครใจของรัฐสมาชิก อย่างเช่น หลักการที่อยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เป็นต้น (2) มีการยอมรับอนุสัญญาพหุภาคีต่างๆที่กำหนดให้รัฐต่างๆที่ได้ให้การสัตยาบันแล้วต้องประกันในสิทธิมนุษยชนนี้ อย่างเช่นที่ปรากฏอยู่ในข้อตกลงสหประชาชาติว่าด้วยการกำหนดให้การทำลายล้างเผ่าพันธุ์และการค้าทาสเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และกำหนดให้ทำการปกป้องสิทธิทางการเมืองของสตรี เป็นต้น (3) มีการจัดหาข้อมูลและความช่วยเหลือแก่รัฐบาลของชาติต่างๆ เช่น มีการตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือ”เยียร์บุ๊ก ออน ฮิวแมน ไร้ท์” ประจำปี เป็นต้น และ (4) มีการดำเนินการตอบโต้ต่อผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยผ่านทางการประณามของสมัชชาใหญ่ และถ้าเป็นอย่างกรณีของประเทศแอฟริกาใต้ก็ได้ใช้วิธีห้ามส่งอาวุธไปให้ และวิธีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เป็นต้น สำหรับวิธีที่มีการโต้เถียงกันมากในสหประชาชาติ ก็คือกรณีระหว่างรัฐพวกหนึ่งที่ให้คำนิยามสิทธิมนุษยชนในแง่พลเมืองและแง่การเมืองแบบเดิมๆ กับอีกพวกหนึ่งที่เน้นย้ำในเรื่องสิทธิทางเศรษฐกิจและทางสังคม ส่วนในระดับภูมิภาคนั้นก็มีระบบสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งดำเนินการโดยคณะมนตรียุโรปและได้ลงนามกันเมื่อปี ค.ศ. 1950 ต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1975 ก็ได้มีข้อตกลงเฮลซิงกิโดยดำเนินการของกองการประชุมว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป และในปีเดียวกันนี้ก็ได้มีอนุสัญญานานารัฐอเมริกา ว่าด้วยการให้สิทธิทางพลเมืองแก่สตรี

No comments:

Post a Comment