Google

Wednesday, October 21, 2009

United Nations : International Police Force

สหประชาชาติ : กองกำลังระหว่างประเทศ

ตัวแทนที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อปฏิบัติการบังคับเกี่ยวกับความมั่นคงร่วมกันตามที่กำหนดอยู่ในแผนของกฎบัตรสหประชาชาติ เพื่อธำรงสันติภาพและความมั่นคงของโลก ข้อ 43 ของกฎบัตรบัญญัติไว้ว่ารัฐสมาชิกทั้งหลายมีพันธกรณีตามข้อตกลงก่อนหน้านี้ที่จะจัดหากองกำลังทหารและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้แก่คณะมนตรีความมั่นคงตามที่ได้ร้องขอ ข้อตกลงเหล่านี้ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของแผนรักษาสันติภาพดั้งเดิมนั้นไม่สามารถมีผลเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้ เมื่อคณะกรรมาธิการเสนาธิการทหารของคณะมนตรีความมั่นคง เมื่อปี 1946 ไม่สามารถให้มหาอำนาจตกลงกันในเรื่องของขนาดและลักษณะที่พวกตนจะให้การอุดหนุน อย่างไรก็ดีกองกำลังระหว่างประเทศนี้ได้มีการจัดตั้งในกาลต่อมาถึง 14 กองกำลัง ภายใต้การอุปถัมภ์ของสหประชาชาติเพื่อให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในด้านต่าง ๆ กล่าวคือ ไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี ด้วยการใช้ยุทธวิธีทางการทูตและการทหารเพื่อฟื้นฟูสันติภาพในสถานการณ์ที่เป็นสงครามจำกัด และเพื่อเข้าไปอยู่แทนที่สุญญากาศทางการเมืองที่อาจเป็นการคุกคามสันติภาพในอนาคตได้

ความสำคัญ ความล้มเหลวของคณะมนตรีความมั่นคงที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับรัฐสมาชิกได้นี้ มีความหมายส่อแสดงว่า คณะมนตรีความมั่นคงอาจจะทำได้ก็แต่เพียงให้คำแนะนำมวลสมาชิกดำเนินการให้มีการปฏิบัติการทางทหารร่วมกันได้เท่านั้น ดังมีตัวอย่าง คือ ที่ได้แนะนำในกรณีความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีเมื่อปี ค.ศ.1950 แต่สมัชชาใหญ่ซึ่งได้อาศัยมติร่วมกันเพื่อสันติภาพปี ค.ศ.1950 มีอำนาจที่จะสั่งการให้สมาชิกทั้งหลายมาร่วมปฏิบัติการรักษาความสงบเรียบร้อยร่วมกันได้เมื่อคณะมนตรีความมั่นคงเป็นอัมพาตไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากสมาชิกถาวรใช้สิทธิยับยั้ง บทบาทในการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธีอย่างใหม่ของกองกำลังรักษาความสงบขนาดเล็กของสหประชาติโดยให้เป็นองค์กรควบคุมสันติภาพได้ถูกพัฒนาขึ้นมา ในกองกำลังฉุกเฉินของสหประชาชาติ (ยูเอ็นอีเอฟ) ในกองกำลังสังเกตการณ์หย่าศึกแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นดีโอเอฟ) เพื่อปฏิบัติการในตะวันออกกลาง ในกองกำลังปฏิบัติการสหประชาชาติในคองโก(โอเอ็นยูซี) ในคณะผู้สังเกตการณ์ทางทหารสหประชาชาติในอินเดียและปากีสถาน(ยูเอ็นเอ็มโอจีไอพี) ในกองกำลังชั่วคราวสหประชาชาติในเลบานอน(ยูเอ็นไอเอฟไอแอล) และในกองกำลังสหประชาชาติในไซปรัส(ยูเอ็นเอฟไอซีวายพี) กองกำลังรักษาสันติภาพระหว่างประเทศดังกล่าวปฏิบัติการอยู่ภายใต้การอำนวยการของสำนักเลขาธิการสหประชาชาติ แต่ก็ยังคงรับผิดชอบต่อองค์กรแม่ของตน คือ คณะมนตรีความมั่นคง หรือสมัชชาใหญ่ ถึงแม้ว่ากองกำลังเหล่านี้อาจจะไม่ได้ทำการรบโดยตรง แต่ก็มีสิทธิที่จะต่อสู้เพื่อป้องกันตัวเองได้ จากหลักฐานแสดงให้เห็นว่า กองกำลังควบคุมสันติภาพเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูและธำรงสันติภาพระหว่างมหาอำนาจขนาดเล็ก ๆ ที่ทำการรบกันในสงครามจำกัด ถึงแม้ว่ากองกำลังสหประชาชาติเหล่านี้โดยปกติแล้วจะประกอบด้วยทหารจากกลุ่มประเทศโลกที่ 3 แต่อันตรายจากการควบคุมสันติภาพที่เกิดกับมหาอำนาจก็เคยมีปรากฏให้เห็นเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อปี ค.ศ.1984 ได้เกิดความสูญเสียอย่างหนักแก่สหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส ในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน

No comments:

Post a Comment