Google

Wednesday, October 21, 2009

United Nations : Veto

สหประชาชาติ : การยับยั้ง

การห้ามหรือการขัดขวาง มิให้ทำการตัดสินใจ สถาบันระหว่างประเทศส่วนใหญ่จะทำงานอยู่ภายใต้หลักการความเป็นเอกฉันท์ ซึ่งตามหลักการนี้สมาชิกแต่ละชาติมีอำนาจที่จะยับยั้งการตัดสินใจขององค์กรหรือสถาบันนั้น ๆ อย่างไรก็ดีในสหประชาชาติ อำนาจในการยับยั้งนี้สามารถใช้ได้เฉพาะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง 5 ชาติ คือ จีน ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และ สหภาพโซเวียต ในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาที่มีความสำคัญมาก ๆ ซึ่งแตกต่างจากอีกปัญหาหนึ่ง คือ ปัญหาเรื่องวิธีการดำเนินงานที่ใช้การยับยั้งไม่ได้นั้น การตัดสินใจจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้คะแนนเสียงเห็นชอบด้วยจากชาติสมาชิก 9 ใน 15 ของคณะมนตรีความมั่นคงและในการนี้สมาชิกถาวร 5 ชาติของคณะมนตรีความมั่นคงจะต้องไม่ยับยั้งด้วยการลงคะแนนเสียงคัดค้าน แต่การงดออกเสียงโดยสมาชิกถาวร 5 ชาตินั้นไม่ถือว่าเป็นการยับยั้ง กฎบัตรสหประชาชาติกำหนดว่า คู่กรณีพิพาทจักต้องงดออกเสียงเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงพิจารณาวิธีการแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติวิธี แต่เนื่องจากว่าการแก้ไขเพิ่มเติมกฎบัตรจะต้องให้สมาชิกถาวรทั้ง 5 ชาติให้สัตยาบันเสียก่อน ดังนั้นเมื่อสมาชิกถาวร 5 ชาติ ๆใดชาติหนึ่งไม่ยอมให้สัตยาบันก็จะมีผลเช่นเดียวกับการยับยั้งนั้นเอง

ความสำคัญ อำนาจการยับยั้งที่คณะผู้ร่างกฎบัตรสหประชาชาติมอบให้แก่มหาอำนาจทั้ง 5 ชาตินี้ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญต่อบทบาทที่สำคัญยิ่งของสหประชาชาติ ในเรื่องของสันติภาพและความมั่นคงนี้คณะผู้ร่างกฎบัตรได้ให้เหตุผลว่า จะต้องให้ใช้วิธีการความเป็นเอกฉันท์ มิฉะนั้นแล้วสหประชาชาติก็อาจจะถูกกลุ่มหนึ่งใช้เป็นเครื่องมือต่อต้านอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งก็จะส่งผลให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 แทนที่จะเป็นปฏิบัติการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาคม เมื่อเกิดสงครามเย็นขึ้นมาก็ได้ส่งผลให้เกิดการแตกแยกระหว่างมหาอำนาจ โดยทางฝ่ายสหภาพโซเวียตได้ออกเสียงยับยั้งมากกว่าร้อยครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นการยับยั้งการสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติของรัฐต่าง ๆ ที่หนุนหลังโดยฝ่ายตะวันตก ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะยืนหยัดเมื่อ ค.ศ.1945 ว่าให้คงอำนาจยับยั้งนี้ไว้ แต่ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้อำนาจนี้จวบจนกระทั่งช่วงทศวรรษปี 1970 การยับยั้งมีการใช้ในจำนวนที่ลดน้อยลงเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เนื่องจากมหาอำนาจมีความตระหนักว่า เมื่อมีการใช้การยับยั้งในคณะมนตรีความมั่นคงก็จะทำให้เรื่องนั้น ๆ ถูกโอนไปให้สมัชชาใหญ่ได้พิจารณา ซึ่งในสมัชชาใหญ่จะไม่มีการใช้อำนาจยับยั้งนี้ เมื่อไม่กี่ปีมานี้สหรัฐอเมริกาได้ใช้อำนาจยับยั้งนี้บ่อยกว่าสมาชิกถาวรชาติอื่น ๆ ได้มีการเสนอหลายครั้งเพื่อให้ยกเลิกการยับยั้งหรือให้มีบ้างแต่ให้น้อยลงมาบ้างในการตกลงใจของคณะมนตรีความมั่นคง แต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจ

No comments:

Post a Comment