ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ : องค์การอาหารและเกษตร
ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ ที่ได้ดำเนินการจัดตั้งครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1943 โดยสมาชิกได้มีข้อตกลงในคำปรารภของธรรมนูญขององค์การว่าจะทำงานเพื่อมุ่งสู่ “การยกระดับทางโภชนาการและมาตรฐานการครองชีพ… เพื่อความมีประสิทธิผลในการผลิตและการแจกจ่ายอาหารทั้งปวง…เพื่อปรับปรุงสภาวะของประชากรในชนบทและเพื่อเกื้อกูลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก” เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เหล่านี้ จึงได้มีการดำเนินการดังนี้ (1) รวบรวมและกระจายข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องนี้ (2) เสนอแนะให้มีการปฏิบัติการทั้งในระดับชาติและในระดับนานาชาติเพื่อการปรับปรุงอาหาร การถนอมอาหาร การผลิตอาหาร การสร้างกระบวนการผลิตอาหาร การตลาด และการแจกจ่ายอาหาร และ (3) ให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคและจัดการหน่วยงานที่มีภารกิจทางด้านการเกษตรต่าง ๆ องค์การอาหารและการเกษตรมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงโรมประเทศอิตาลี
ความสำคัญ องค์การอาหารและการเกษตรสามารถสร้างความก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัดในการเพิ่มพูนการผลิตทางด้านอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่ของประเทศที่ด้อยพัฒนา แต่ก็มีหลายกรณีที่การเพิ่มของประชากรมีมากจนกระทั่งไปลดผลสำเร็จเหล่านี้ลง หรือมิฉะนั้นก็เหมือนกับว่าองค์การมิได้ประสบความสำเร็จใด ๆ เลย เมื่อวัดโดยใช้บรรทัดฐานจากการพิจารณาเป็นรายหัว แต่เรื่องที่น่าตลกก็คือ เมื่อองค์การอาหารและการเกษตรประสบความสำเร็จสามารถบรรเทาความอดอยากและปรับปรุงโภชนาการในหมู่ประชาชนได้แล้วนี้กลับเป็นการไปสร้างปัญหาในระยะยาวให้แก่องค์การฯ คือ ปัญหาที่จะต้องเลี้ยงดูประชากรโลกที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อได้มีการปฏิวัติเขียวหรือการปฏิวัติการกสิกรรมเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ได้เปลี่ยนแปลงประเทศที่เคยสั่งเข้าอาหารมาเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารได้ ทั้งนี้โดยได้มีการใช้เทคโนโลยี ปุ๋ย และเมล็ดพันธุ์พืชที่ได้ปรับปรุงแล้วมากยิ่งขึ้นนั่นเอง เมื่อปี ค.ศ.1974 การประชุมเรื่องอาหารโลกขององค์การเอฟเอโอที่กรุงโรมได้ให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุมและแก่ทบวงการชำนัญพิเศษอื่น ๆ ของสหประชาชาติ ดังนี้ (1) ให้เพิ่มพูนระบบการผลิตและระบบการแจกจ่ายอาหาร (2) ให้จัดตั้งระบบข่าวสารและระบบเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อเตือนให้ระวังในเรื่องความอดอยากที่จะบังเกิดขึ้น และ (3) สนับสนุนให้รัฐบาลทั้งปวงสร้างยุ้งฉางสำหรับเก็บธัญพืชขนาดใหญ่อันเป็นส่วนหนึ่งของการกักตุนอาหารในยามที่โลกประสบกับความหายนะ
No comments:
Post a Comment