Google

Wednesday, October 21, 2009

Human Rights

สิทธิมนุษยชน

การปกป้องปัจเจกบุคคลจากการแทรกแซงหรือจากการบั่นทอนตามอำเภอใจในชีวิตเสรีภาพและการคุ้มครองความเท่าเทียมกันทางกฎหมายโดยรัฐบาลโดยปัจเจกบุคคลหรือโดยกลุ่มบุคคล การประกันในเรื่องสิทธิมนุษยชนภายในประเทศซึ่งมีปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆของแต่ละชาตินั้นจะได้รับการสนับสนุนโดยให้ความคุ้มครองในระดับนานาชาติผ่านทางปฏิบัติการขององค์การระหว่างประเทศ นอกจากนี้แล้วก็ยังมีหลายชาติที่ถือว่าการให้ความคุ้มครองสิทธิทางเศรษฐกิจและทางสังคมแก่ปัจเจกบุคคล เป็นต้นว่า สิทธิในการมีงานทำ สิทธิในการได้รับความคุ้มครองทางการแพทย์ สิทธิในการพักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น ต่างมีความสำคัญพอๆกับสิทธิในแนวความคิดแบบเดิมๆคือสิทธิทางการเมืองเลยทีเดียว นอกจากนี้แล้วก็ยังมีองค์การในระดับภูมิภาคอีกหลายองค์การก็ได้ให้หลักประกันในด้านสิทธิมนุษยชนนี้ด้วย

ความสำคัญ กิจกรรมระหว่างประเทศในด้านการให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนนี้ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1946 เป็นต้นมาได้ดำเนินการอยู่ภายใต้กรอบของสหประชาชาติโดยผ่านทางสมัชชาใหญ่และคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนคณะกรรมการและคณะกรรมาธิการของสององค์การชำนัญพิเศษนี้ กิจกรรมต่างๆที่ดำเนินการมีดังนี้ (1) มีการประกาศหลักการต่างๆเพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานโดยความสมัครใจของรัฐสมาชิก อย่างเช่น หลักการที่อยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เป็นต้น (2) มีการยอมรับอนุสัญญาพหุภาคีต่างๆที่กำหนดให้รัฐต่างๆที่ได้ให้การสัตยาบันแล้วต้องประกันในสิทธิมนุษยชนนี้ อย่างเช่นที่ปรากฏอยู่ในข้อตกลงสหประชาชาติว่าด้วยการกำหนดให้การทำลายล้างเผ่าพันธุ์และการค้าทาสเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และกำหนดให้ทำการปกป้องสิทธิทางการเมืองของสตรี เป็นต้น (3) มีการจัดหาข้อมูลและความช่วยเหลือแก่รัฐบาลของชาติต่างๆ เช่น มีการตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือ”เยียร์บุ๊ก ออน ฮิวแมน ไร้ท์” ประจำปี เป็นต้น และ (4) มีการดำเนินการตอบโต้ต่อผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยผ่านทางการประณามของสมัชชาใหญ่ และถ้าเป็นอย่างกรณีของประเทศแอฟริกาใต้ก็ได้ใช้วิธีห้ามส่งอาวุธไปให้ และวิธีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เป็นต้น สำหรับวิธีที่มีการโต้เถียงกันมากในสหประชาชาติ ก็คือกรณีระหว่างรัฐพวกหนึ่งที่ให้คำนิยามสิทธิมนุษยชนในแง่พลเมืองและแง่การเมืองแบบเดิมๆ กับอีกพวกหนึ่งที่เน้นย้ำในเรื่องสิทธิทางเศรษฐกิจและทางสังคม ส่วนในระดับภูมิภาคนั้นก็มีระบบสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งดำเนินการโดยคณะมนตรียุโรปและได้ลงนามกันเมื่อปี ค.ศ. 1950 ต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1975 ก็ได้มีข้อตกลงเฮลซิงกิโดยดำเนินการของกองการประชุมว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป และในปีเดียวกันนี้ก็ได้มีอนุสัญญานานารัฐอเมริกา ว่าด้วยการให้สิทธิทางพลเมืองแก่สตรี

Human Rights: European Convention

สิทธิมนุษยชน : อนุสัญญายุโรป

อนุสัญญาที่มีผลบังคับใช้นับแต่ปี ค.ศ. 1953 เป็นต้นมา โดยได้กำหนดให้มีการจัดตั้งกลไกระหว่างประเทศเพื่อให้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในกรณีที่เกิดการโต้แย้งในหมู่รัฐที่เป็นผู้ลงนาม อนุสัญญายุโรปที่ได้พัฒนาขึ้นมาภายใต้การอุปถัมภ์ของคณะมนตรียุโรปนี้ได้รับการยอมรับจากรัฐต่างๆจำนวน 15 รัฐด้วยกัน (คือ ออสเตรีย เบลเยียม ไซปรัส เดนมาร์ก เยอรมนี อังกฤษ กรีซ ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และตุรกี) มีสมาชิกของคณะมนตรียุโรปเพียง 3 รัฐเท่านั้นที่ไม่ยอมเข้าเป็นภาคี คือ ฝรั่งเศส มอลตา และสวิตเซอร์แลนด์ ในหมู่รัฐที่ให้การสัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้มีอยู่ 10 รัฐได้ตกลงเพิ่มเติมด้วยว่า บุคคลหรือคณะบุคคลใดก็ตามหากยังไม่พอใจในคำตัดสินของศาลภายในประเทศตนก็สามารถจะอุทธรณ์เรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนนี้ไปยังศาลระหว่างประเทศได้ และได้มีการพิจารณาคำอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นครั้งแรกโดยคณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 15 ชาติที่ได้รับการคัดเลือกมาจากรัฐที่เป็นสมาชิก ถ้าหากว่าคำอุทธรณ์สามารถยอมรับได้ คณะกรรมาธิการนี้ก็จะรายงานการสอบสวนของตนพร้อมกับให้คำเสนอแนะหลักปฏิบัติแก่คณะกรรมาธิการรัฐมนตรีของคณะมนตรียุโรป เมื่อคณะกรรมการรัฐมนตรีไม่สามารถดำเนินการยุติกรณีพิพาทโดยสันธิวิธีได้ก็อาจจะตัดสินคดีโดยใช้คะแนนเสียงสองในสามในขั้นสุดท้ายก็ได้ ฝ่ายที่แพ้คดีก็อาจจะอุทธรณ์ถึงศาลยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หากว่าผู้แพ้คดีนั้นเป็นพลเมืองของรัฐหนึ่งรัฐใดที่ได้ให้การสัตยาบันในพิธีสารเพิ่มเติมที่กำหนดให้ยอมรับคำตัดสินของศาลยุโรปดังกล่าวนี้ สมาชิกของคณะมนตรียุโรปทั้ง 20 ชาติจะมีผู้แทนของตนไปประจำอยู่ที่ศาลยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนี้ ไม่ว่าสมาชิกนั้นๆจะยอมรับพิธีสารที่ว่านั้นหรือไม่ก็ตาม ส่วนในการบังคับใช้คำตัดสินของศาลยุโรปนี้ก็ให้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของรัฐที่ได้รับผลกระทบนั้นๆทั้งนี้ก็เพราะอนุสัญญามิได้กำหนดเรื่องทางบังคับเอาไว้

ความสำคัญ อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนี้ได้กำหนดให้มีกลไกระหว่างประเทศที่มีอำนาจหน้าที่กว้างไกลในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของระบบรัฐในปัจจุบัน แต่ในแง่ปฏิบัตินั้นอนุสัญญาฉบับบนี้มิได้ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองเสรีภาพส่วนบุคคลอย่างเข้มแข็งแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้ว่าในจำนวนคำอุทธรณ์หลายพันรายการที่ยื่นถึงคณะกรรมาธิการนั้นมีเพียงไม่กี่รายการที่พบว่าสามารถยอมรับได้ และศาลยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็ได้ทำการตัดสินคดีต่างๆเพียงไม่กี่คดี คดีตัวอย่างในปี ค.ศ. 1979 คือ คดีที่ศาลยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนตัดสินด้วยคะแนนเสียงสองในสามว่า คำตัดสินของศาลอังกฤษที่ห้ามหนังสือพิมพ์ซันเดย์ไทมส์ที่ตีพิมพ์ในกรุงลอนดอนทำการตีพิมพ์บทความบทหนึ่งโดยอ้างว่าจะเป็นการละเมิดต่อผู้ผลิตยาทาลิโดไมล์นั้น เป็นการละเมิดอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แรงกระทบที่สำคัญยิ่งของอนุสัญญาฉบับนี้ ก็คือเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้องค์การระหว่างประเทศได้ทำงานในด้านให้ความคุ้มครองแก่ปัจเจกบุคคลที่เรียกร้องความคุ้มครองเกินกว่าที่รัฐบาลของรัฐตนจะสามารถจัดหาให้ได้ ระบบคุ้มครองสิทธิมนุษยชนนี้ถือได้ว่าเป็นแม่แบบให้แก่กลุ่มต่างๆในระดับภูมิภาคกลุ่มอื่นๆได้ และก็อาจจะเอื้ออำนวยให้มีการจัดตั้งระบบแบบนี้ในระดับโลกภายใต้การอุปถัมภ์ของสหประชาชาติได้อีกด้วย

Human Rights : Universal Declaration

สิทธิมนุษยชน : ปฏิญญาสากล

คำประกาศที่กำหนด”มาตรฐานที่จะบรรลุร่วมกันสำหรับประชาชนทุกคนและชาติทุกชาติ”ในการเคารพต่อสิทธิทางพลเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางวัฒนธรรม ปฏิญญาสากลนี้ซึ่งเตรียมการโดยคณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม ได้รับการรับรองจากสมัชชาใหญ่เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1948 ซึ่งก็ได้กำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1954 เป็นต้นมาสมัชชาใหญ่ได้ดำเนินการร่างข้อตกลง 2 ฉบับ คือ ฉบับหนึ่งว่าด้วยสิทธิทางพลเมืองและทางการเมือง กับอีกฉบับหนึ่งว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ข้อตกลงทั้งสองฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สิทธิเหล่านี้ที่ได้รับการประกาศในปฏิญญาสากลแล้วได้รับการปฏิบัติตามอย่างมีประสิทธิผลโดยชาติทั้งหลายที่ได้ให้การสัตยาบัน นอกจากนั้นแล้วชาติต่างๆที่ได้ยอมรับข้อตกลงฉบับแรกในสองฉบับบนี้แล้วก็อาจจะให้การสัตยาบันในพิธีสารแทนข้อตกลงว่าด้วยสิทธิทางพลเมืองและทางการเมือง ซึ่งก็จะทำให้บุคคลมีอำนาจที่จะร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อองค์การระหว่างประเทศได้

ความสำคัญ ถึงแม้ว่าเกือบจะทุกอย่างที่กำหนดไว้ในปฏิญญาสากลจะมิได้รับการยอมรับว่าเป็นกฎหมายระหว่างประเทศโดยผ่านกระบวนการให้การสัตยาบันสนธิสัญญา แต่ทว่าสิทธิเหล่านี้ก็ยังมีรัฐต่างๆปฏิบัติตาม โดยในหมู่ประเทศที่เกิดใหม่ได้รับการชี้นำจากหลักการของปฏิญญาสากลนี้ต่างก็ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญของตนๆในทุกรัฐ ปฏิญญาสากลนี้สามารถใช้เป็นมาตรฐานสำหรับวัดว่าชาตินั้นๆได้ให้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานระหว่างประเทศหรือไม่ ส่วนในอีกหลายๆกรณี อย่างเช่นกรณีประเทศโรดีเซียและประเทศแอฟริกาใต้ ปฏิญญาสากลนี้ก็สามารถใช้เป็นพื้นฐานสำหรับประณามระบบรัฐธรรมนูญของชาติเหล่านั้นได้ ว่ายินยอมให้มีการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มทางเชื้อชาติ กลุ่มทางศาสนา กลุ่มทางสังคม หรือกลุ่มทางการเมืองหรือไม่ ส่วนในสหประชาชาตินั้นปฏิญญาสากลนี้ได้เป็นตัวกำหนดบรรทัดฐานระหว่างประเทศที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในองค์การหลักและองค์การย่อยทั้งหลายทั้งปวงของสหประชาชาติ

League of Nations

สันนิบาตชาติ

องค์การระหว่างประเทศในระดับโลกที่ได้จัดตั้งขึ้นมาโดยผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสันติภาพและความมั่นคง ตลอดจนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างมวลสมาชิก กฎบัตรของสันนิบาตชาติซึ่งประกอบด้วยข้อความ 26 ข้อที่รวมอยู่ในสนธิสัญญาแวร์ซายส์ใช้เป็นธรรมนูญของสันนิบาตชาติ ถึงแม้ว่าประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันแห่งสหรัฐอเมริกาจะเป็นผู้นำในการพัฒนาสันนิบาตชาติและเป็นประธานคณะกรรมาธิการเขียนกติกานี้ขึ้นมา แต่สหรัฐอเมริกาก็มิได้เป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติ เนื่องจากวุฒิสภาของสหรัฐฯไม่ยอมให้ความเห็นชอบในสนธิสัญญาฉบับนี้ รัฐที่เป็นกลางต่างๆได้รับเชิญให้เป็นสมาชิกแรกเริ่มของสันนิบาตชาติด้วย ส่วนรัฐข้างฝ่ายศัตรูที่แพ้สงครามก็ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมได้ในเวลาต่อมา ซึ่งก็ส่งผลให้เป็นองค์การใกล้จะเป็นสากล เพียงแต่ว่าไม่มีสหรัฐอเมริกาเป็นสมาชิกเท่านั้นเอง แม้ว่าในขั้นสุดท้ายนั้นมีประเทศที่เป็นสมาชิกทั้งหมดรวม 63 ชาติ แต่ตลอดเวลามีสมาชิกเข้าร่วมจำนวนสูงที่สุดเพียง 58 ชาติเท่านั้นเอง ในสันนิบาตชาติมีคณะมนตรีและสมัชชาซึ่งก็เทียบได้กับคณะมนตรีความมั่นคงและสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติในปัจจุบันนี่เอง ทั้งสององค์กรนี้ถือได้ว่าเป็นองค์กรหลักและแต่ละองค์กรจะตัดสินใจใดๆได้ต้องมีเสียงเป็นเอกฉันท์ มีองค์กรย่อยให้ความช่วยเหลือแก่สององค์กรหลักในการดำเนินการรับผิดชอบในด้านต่างๆ เป็นต้นว่า ดินแดนในอาณัติ การลดกำลังรบ และการสวัสดิการด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น นอกจากนี้แล้วก็ยังมีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(พีซีไอเจ)ซึ่งก็คือองค์กรก่อนหน้าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศของสหประชาชาติในปัจจุบัน และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ)ล้วนเป็นองค์กรอิสระจากสันนิบาตชาติแต่ทำงานประสานกิจกรรมอยู่กับสันนิบาตชาติ ส่วนหัวใจของระบบรักษาสันติภาพของสันนิบาตชาติ ก็คือการเรียกร้องให้สมาชิกยอมรับที่จะแก้ไขข้อพิพาทระหว่างกันโดยทางการเมืองและทางกฎหมาย โดยมีทางบังคับที่ประชาคมสันนิบาตชาติจะนำมาใช้ต่อรัฐใดๆก็ตามที่ทำสงครามอันเป็นการละเมิดกติกาของสันนิบาตชาติ

ความสำคัญ กติกาสันนิบาตชาติไม่เหมือนกับกฎบัตรสหประชาชาติ คือ กฎบัตรสหประชาชาติถือว่าสงครามเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่กติกาสันนิบาตชาติพยายามจะทำให้สงครามเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในเกือบจะทุกสถานการณ์ และพยายามจะงดเว้นการกระทำการใดๆอย่างฉับพลัน ถึงแม้ว่าในบันทึกของสันนิบาตชาติจะบ่งบอกว่าสันนิบาตชาติจะทำงานด้วยดีในการแก้ไขข้อพิพาทและสถานการณ์ที่มีอันตรายในช่วงสิบปีแรก แต่สันนิบาตชาติก็มิได้กระทำการอย่างเด็ดขาดเมื่อต้องเผชิญกับการท้าทายกับการรุกรานโดยตรงของญี่ปุ่นต่อจีนในวิกฤติการณ์แมนจูเรียเมื่อปี ค.ศ. 1931 ต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1935 หลังจากที่อิตาลีโจมตีเอธิโอเปียแล้วนั้นสันนิบาตชาติเป็นครั้งแรกและเป็นครั้งเดียวได้ใช้ทางบังคับต่อผู้รุกรานแต่ก็ไม่สามารถยับยั้งการรุกรานครั้งนี้ได้ เมื่ออิตาลีประสบความสำเร็จเช่นนี้แล้วก็เป็นการกระตุ้นให้เกิดการรุกรานยิ่งขึ้น โดยเยอรมนีภายใต้การปกครองของนาซี รวมทั้งญี่ปุ่นและสหภาพโซเวียตเมื่อทศวรรษปี 1930 โดยที่มิได้มีการปฏิบัติการร่วมกันต่อต้านการกระทำของรัฐต่างๆเหล่านี้แต่อย่างใด สันนิบาตชาติถึงแม้จะประสบกับความล้มเหลวในการธำรงสันติภาพแต่ก็ได้ช่วยแก้ไขข้อพิพาทได้หลายครั้ง ได้ช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางเทคนิคในหมู่สมาชิก และให้ความช่วยเหลือปรับปรุงสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมของบางประเทศ จากประสบการณ์ของสันนิบาตชาตินี้ได้ช่วยให้มีการพัฒนาแนวความคิดและระเบียบปฏิบัติใหม่ๆที่มีประโยชน์ในสหประชาชาติ ในปี ค.ศ. 1946 สันนิบาตชาติได้ประชุมกันครั้งสุดท้ายที่นครเจนีวาและได้ลงคะแนนเสียงยุบตัวเองกับได้โอนทรัพย์สินของตนให้แก่สหประชาชาติ อาคารต่างๆของสันนิบาติชาติในนครเจนีวาทุกวันนี้ ก็คือสำนักงานใหญ่สหประชาชาติภาคพื้นยุโรป และอาคารเหล่านี้ก็ได้ถูกใช้เป็นการพิเศษเพื่อการเจรจาลดกำลังรบ

League of Nations : Covenant

สันนิบาตชาติ : กติกา

สนธิสัญญาพหุภาคี(ส่วนที่ 1 ของสนธิสัญญาแวร์ซายส์) ที่ได้จัดตั้งสันนิบาตชาติขึ้นมานั้น กติกาสันนิบาตชาตินี้มีลักษณะเหมือนกับรัฐธรรมนูญของชาติต่างๆ คือ มีบทบัญญัติให้มีการจัดตั้งองค์กรหลักๆและระบบวินิจฉัยสั่งการ ตลอดจนมีการประกาศหลักการต่างๆที่จะนำไปใช้นำทางการปฏิบัติของประเทศที่เป็นสมาชิก

ความสำคัญ กติกาสันนิบาตชาติเป็นตัวกำหนดวิธีปฏิบัติต่างๆที่จะทำให้วัตถุประสงค์ 2 ข้อของสันนิบาตชาติสามารถบรรลุถึงได้ คือ (1) เพื่อรักษาสันติภาพและความมั่นคง และ (2) เพื่อสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ กติกาสันนิบาตชาติเป็นเอกสารมีข้อความสั้นๆเพียง 26 ข้อ ใช้ภาษาแบบกว้างๆเพื่อให้มีความยืดหยุ่นสามารถปรับใช้กับสภาวะของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ การล่มสลายของสันนิบาตชาติที่บังเกิดขึ้นมานั้น มิใช่ผลมาจากความอ่อนแอทางธรรมนูญภายใน แต่เกิดขึ้นมาจากรัฐสมาชิกหลักๆไม่ยอมให้การสนับสนุนหลักการของกติกาสันนิบาตชาติ และจากการที่สหรัฐอเมริกาปฏิเสธการเข้าร่วมในสันนิบาตชาติ

League of Nations : Mandates System

สันนิบาตชาติ :ระบบอาณัติ

ข้อตกลงที่กำหนดให้ดินแดนอาณานิคมของมหาอำนาจกลางที่แพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กล่าวคือ เยอรมนีและตุรกีไปอยู่ในความดูแลและปกครองของชาติพันธมิตร มหาอำนาจที่ดูแลดินแดนในอาณัติแต่ละชาติให้รับผิดชอบต่อสันนิบาตชาติในการบริหารดินแดนในอาณัติของสันนิบาตชาติ ดินแดนในอาณัติเหล่านี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามระดับของการพัฒนาดังนี้ คือ ดินแดนในอาณัติชั้น ก. (คือ ดินแดนอาหรับที่เคยอยู่ในเครือจักรภพของตุรกี) จัดเป็นดินแดนที่พร้อมจะได้เอกราชและปกครองตนเองได้หลังจากที่ได้อยู่ในความปกครองในช่วงเวลาสั้นๆ ดินแดนในอาณัติชั้น ข.( คือ ดินแดนแอฟริกาตะวันออกและตะวันตกของเยอรมนี) เป็นดินแดนที่ยังมิได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้เอกราชเร็ววันแต่ทว่าจะถูกปกครองเป็นอาณานิคมอยู่ต่อไปก่อนแต่ก็จะให้หลักประกันในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานบางอย่าง ดินแดนในอาณัติขั้น ค.( คือ แอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้และหมู่เกาะแปซิฟิกของเยอรมนี) ดินแดนชั้นนี้จะถูกปกครองโดยให้เป็น”ส่วนภายในของดินแดนของ(มหาอำนาจที่ทำหน้าที่ดูแลดินแดนอาณัติ)” โดยที่มิได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้เอกราช กับได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการดินแดนอาณัติถาวรคณะหนึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญภาคเอกชนจำนวน 10 คน โดยให้อยู่ภายใต้การกำกับของกติกาสันนิบาตชาติเพื่อให้ทำหน้าที่กำกับดูแลการบริหารดินแดนอาณัติและเสนอรายงานผลการทำงานของตนต่อคณะมนตรีสันนิบาตชาติ

ความสำคัญ ระบบอาณัติที่ได้รับการยอมรับในที่ประชุมสันติภาพที่พระราชวังแวร์ซายส์ให้เป็นทางเลือกแทนการผนวกดินแดนโดยรัฐที่เป็นผู้ชนะนี้ เป็นแบบอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ประชาคมระหว่างประเทศมีความรับผิดชอบต่อสวัสดิภาพของคนที่อยู่ในบังคับของรัฐอื่น ดังจะเห็นได้ว่ารัฐที่เป็นดินแดนในอาณัติหลายรัฐ กล่าวคือ อิรัก ซีเรีย และเลบานอน ได้รับเอกราช ส่วนรัฐในดินแดนในรัฐอาณัติอื่นๆทั้งหมดยกเว้นแต่เพียงแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้เท่านั้นได้ถูกนำไปเข้าอยู่กับระบบภาวะทรัสตีของสหประชาชาติเมื่อปี ค.ศ. 1946 ดินแดนในภาวะทรัสตีเหล่านี้ทุกรัฐต่างก็ได้เป็นรัฐเอกราชทั้งหมดเว้นเสียแต่ดินแดนภาวะทรัสตีของหมู่เกาะแปซิฟิก(ดินแดนภาวะทรัสตีที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา) สำหรับแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้นั้นมีสถานะทางกฎหมายที่ยังไม่มีความแน่นอนอยู่ คือ เมื่อปี ค.ศ. 1966 สมัชชาใหญ่ได้ยอมรับมติให้ขยายขอบเขตรับผิดชอบของสมัชชาใหญ่ไปถึงแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้(นามิเบีย) แต่ทางฝ่ายสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ได้ปฏิเสธข้ออ้างระหว่างประเทศนี้ ต่อมาจึงได้ทำการสู้รบกับกระบวนการเรียกร้องเอกราชขององค์การประชาชนแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้(สวาโป)

Political Community

ประชาคมทางการเมือง

หน่วยหรือกลุ่มทางสังคมใดๆที่ยึดถือค่านิยมร่วมกัน มีการใช้สถาบันร่วมกันเพื่อการวินิจฉัยสั่งการ และมีการยินยอมปฏิบัติตามคำวินิจฉัยสั่งการที่ได้กระทำลงไปแล้วนั้น ระดับของบูรณาการภายในประชาคมทางการเมืองแห่งหนึ่งแห่งใดจะมีมากหรือน้อยแค่ไหนก็ให้ดูที่จำนวนของปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ดำเนินอยู่นั้น กับให้ดูการวินิจฉัยสั่งการว่ามีการรวบอำนาจไว้กับส่วนกลางมากน้อยขนาดไหน และให้ดูว่าในเวลาเกิดความขัดแย้งกันระหว่างหมู่สมาชิกของประชาคมมีการใช้สันติวิธีแก้ไขมากน้อยขนาดไหน ประชาคมทางการเมืองอาจมีรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ คือ (1) องค์การในระดับภูมิภาคที่ส่งเสริมความร่วมมือที่จำกัดอยู่เฉพาะในหมู่สมาชิกในพื้นที่แห่งใดแห่งหนึ่งโดยเฉพาะ (2) ระบบสมาพันธ์ซึ่งมีองค์กรส่วนกลางมีอำนาจระดับข้ามชาติ หรือ (3) ประชาคมเดี่ยว ซึ่งเป็นผลมาจากการรวมตัวของหน่วยการเมืองที่แต่เดิมมีอธิปไตย

ความสำคัญ การสร้างประชาคมทางการเมืองต่างๆที่อยู่เหนือระดับประชารัฐ ได้กลายเป็นสิ่งดาษดื่นเป็นปกติวิสัยในระบบรัฐของยุคปัจจุบันไปแล้ว คติการหน้าที่(คติที่ว่าหน้าที่ของแต่ละส่วนที่ประกอบขึ้นเป็นส่วนรวมหรือส่วนทั้งหมด) ได้จัดหาพลังบูรณาการที่สำคัญให้แก่การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นใหม่นี้ ฝ่ายรัฐต่างๆก็มีเหตุผลในทางปฏิบัติว่าจะต้องเข้าร่วมในประชาคมทางการเมืองนี้เพื่อใช้แก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองร่วมกัน ทำให้มีกลุ่มในระดับภูมิภาคใหญ่ๆมากกว่า 30 กลุ่มได้รับการจัดตั้งขึ้นมานับแต่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง คณะกรรมาธิการยุโรปถือได้ว่าเป็นตัวอย่างขององค์การเหนือชาติที่สามารถทำการวินิจฉัยสั่งการให้มีผลบังคับใช้กับหมู่สมาชิกของตนได้ ส่วนประชาคมเดี่ยวต่างๆก็ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาโดยการรวมรัฐตั้งแต่สองรัฐขึ้นไปให้เข้ามาอยู่ด้วยกัน ดังเช่นกรณีของทันคันยิกาและซันซิบาร์(รวมตัวกันเป็นทันซาเนีย)